นวัตกรรม 'ยาฟองฟู่' ต่างจากยาเม็ดทั่วไป อุตสาหกรรมในไทยก็ผลิตได้
การรับรู้คุณภาพมาตรฐานผลิตยาในประเทศ ยังไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภค ทั้งที่อุตสาหกรรมนี้ในไทย ได้มาตรฐานสากลและส่งออก เช่น“โอลิค”ริษัทรับจ้างผลิตยา ล่าสุดส่งนวัตกรรม “ยาฟองฟู่”ที่ต่างจากยาเม็ดทั่วไป โดยเสริมประสิทธิภาพดูดซึมเร็วและดีขึ้น
“โอลิค” (OLIC) หนึ่งในผู้ให้บริการอุตสาหกรรมการผลิตยาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพแบบสัญญาจ้าง (Contract Manufacturing Organization, CMO) ครบวงจรที่ใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐานระดับสากล ไม่เพียงผลิตให้บริษัทภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการส่งออกไปหลายประเทศ
ผลิตยาในไทยส่งไปต่างประเทศ
มร.โยชิฮิโร ทาคาดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด (OLIC Thailand Limited) กล่าวว่า อุตสาหกรรมยาในไทยยังเติบโตน้อย ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาการนำเข้า รวมถึงต้นทุนการผลิตในการปรับปรุงโรงงานให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S ขณะที่ โอลิค วางตัวเองว่าจะเป็นมากกว่าผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งมาตรฐานการผลิต การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาให้บริการ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมแห่งสุขภาพที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และต้องการให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีสุขภาพดียิ่งขึ้น
ในฐานะผู้ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การปรับปรุงพัฒนาตำรับยา พัฒนาและตรวจสอบวิธีวิเคราะห์ ผลิตและบรรจุ รวมไปถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ จัดเก็บและส่งมอบยาให้แก่ลูกค้า ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นยาปราศจากเชื้อ ยาเม็ด ผง แคปซูล ยาน้ำ ครีม เจล ยาทาภายนอก สเปรย์ และแคปซูลเจลาตินแบบนิ่ม โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโอลิค มีลูกค้ามากกว่า 30 ราย และผลิตภัณฑ์มากกว่า 600 รายการที่จำหน่ายทั้งในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
นวัตกรรมยาฟองฟู่
ด้าน ภญ.ฐิติมา ทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายประสิทธิภาพและปฏิการตามกฏระเบียบ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โอลิค ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมการผลิตมาอย่างสม่ำเสมอ ล่าสุดของการผลิตยาทาง โอลิค ได้เพิ่มไลน์การผลิตใหม่ สำหรับการผลิตยาฟองฟู่ (effervescent) ซึ่งเป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่ออกแบบมาให้แตกตัวและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทันทีที่สัมผัสน้ำ ซึ่งข้อดีของยาฟองฟู่คือเหมาะกับตัวยาที่มีปัญหาในการผลิตในรูปแบบยาเม็ด (tablets) ทั้งยังช่วยให้ยาดูดซึมได้เร็วและดีขึ้น
“การผลิตยาเม็ดฟองฟู่มีตำรับที่ซับซ้อนและต้องมีการควบคุมคุณภาพมากกว่าการผลิตยาเม็ดธรรมดา โดยเฉพาะการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษในกระบวนการผลิต และ บรรจุอย่างพิถีพิถันเพื่อคงประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามตำรับยาเอาไว้”ภญ.ฐิติมากล่าว
นอกจากนี้ บริษัทได้นำบาร์โค้ดมาตรฐานสากล GS1 การกำหนดเลขซีเรียล และการรวบรวมกลุ่มข้อมูล (serialization and aggregation) ให้เป็นกลุ่มเดียวกันมาใช้เพื่อประโยชน์ในการติดตามความคืบหน้าและตรวจสอบแบบเรียลไทม์ (Track and Trace Technology) และการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกำกับดูแลในตลาดปลายทางของลูกค้า Track and Trace Technology โดยแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เดินทางตั้งแต่ต้นไปจนจบกระบวนการในห่วงโซ่อุปทานอย่างไร และช่วยเพิ่มความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พัฒนาตอบโจทย์ความยั่งยืน
ภญ.อังสนา วนเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า โอลิค ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเติบโตยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้มามีการปรับกระบวนการผลิตโดยได้นำพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมปรับเปลี่ยนระบบไฟส่องสว่าง ดำเนินการเปลี่ยนแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงงาน ซึ่งช่วยให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้กว่า 23.9% ในปี 2564
ต่อเนื่องถึงปี 2565 โอลิคลงทุนในระบบโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 0.99 เมกะวัตต์ (ระยะที่ 1) โดยได้ดำเนินการติดตั้งที่โรงงานโอลิค ซึ่งเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 1,254 เมกะวัตต์ต่อปี เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณ 650 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังเตรียมแผนการลงทุนเพิ่มเติมในระบบโซลาร์ฯ ขนาด 0.80 เมกะวัตต์ (ในระยะที่ 2)
“ระบบโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดต้นทุน แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้โอลิค สามารถเติบโตในธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และผลักดันให้เกิดการเข้าถึงยามากขึ้น รวมถึงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาให้เติบโตไปข้างหน้า ภายใต้แนวทางการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เราจะการยืนหยัดเคียงข้างลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และชุมชน”ภญ.อังสนากล่าว
อุตสากรรมผลิตยาไทยมาตรฐานสากล
ขณะที่ รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ในฐานะผู้จัดงาน "ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2023 (CPHI South East Asia 2023) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญคือการสร้างการรับรู้ถึงมาตรฐานการผลิตยาในประเทศไทย และความเข้าใจในโอกาสของอุตสาหกรรมการผลิตยา และอยากสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยว่า สายการผลิตยาในประเทศไทยมีมาตรฐานในระดับสากลที่รู้จักกันชื่อ จีเอ็มพี พีไอซีเอส และผลิตยาที่มีคุณภาพ พร้อมแข่งขันในการเป็นผู้ผลิตยาสู่ตลาดต่างประเทศ
90 % ไทยยังพึ่งพิงการนำเข้า
ความท้าทายคือ การนำเข้าสารออกฤทธิ์ในการผลิตยา และด้วยมาตฐานที่สูงมากมาพร้อมกับต้นทุนการผลิตยาที่สูงทำให้โอกาสของธุรกิจจำกัดในกลุ่มผู้ผลิตเพียงไม่ถึง 200 ราย การผลิตยาของประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคอาเซียนนั้นต้องพึ่งพิงการนำเข้ามากกว่า 90 % ที่สำคัญการรับรู้ถึงคุณภาพมาตรฐานในการผลิตยาในประเทศไทย ยังไม่เป็นที่รู้จักไปถึงกลุ่มผู้บริโภค จึงต้องช่วยกันส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการในประเทศ เชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตระดับสากล จะช่วยเพิ่มการใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น
“กระบวนการผลิตยา จะต้องจัดซื้อสารออกฤทธิ์ ส่วนผสมประเภทสารตั้งต้นจากต่างประเทศ โดยในงานซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2023 (CPHI South East Asia 2023) ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาได้ขับเคลื่อนร่วมกัน การสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ”รุ้งเพชรกล่าว
อนึ่ง งาน "ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2023 (CPHI South East Asia 2023)" งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยาครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นที่ ฮอลล์ 1-3 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2566 สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงาน ลงทะเบียนได้ที่ www.CPHI.com/sea