ส่อง 5 ความท้าทาย "อุตสาหกรรมยา" ดันไทยสู่ Medical Hub

ส่อง 5 ความท้าทาย "อุตสาหกรรมยา" ดันไทยสู่ Medical Hub

โควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่ดี ที่ได้เห็นว่า "อุตสาหกรรมยา" และ วัคซีน ของไทยมีการพัฒนา โดยภาครัฐมีการผลักดันเพื่อลดการนำเข้า สร้างความมั่นคงภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายที่ต้องก้าวข้ามสู่เป้า Medical Hub ที่ไทยได้วางไว้

อุตสาหกรรมยา ซึ่งอยู่ภายใต้ Medical Hub โดยรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเพื่อลดการนำเข้า ส่งเสริมการส่งออก และสร้างความมั่นคงภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม นอกจากความท้าทายอย่าง โรคอุบัติใหม่ , NCDs และ สังคมสูงอายุแล้ว การวิจัยพัฒนา เงินทุน เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงนักวิจัยและอุตสาหกรรม ยังถือเป็นความท้าทายสำคัญอีกด้วย

 

ลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมยา นับเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมวิจัย และต้นทุนในการพัฒนาสูง มีระยะเวลาพัฒนาราว 10-13 ปี ค่ามัธยฐานต้นทุนในการพัฒนาราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน ยังมีความเสี่ยงสูง วัดจากความสำเร็จอยู่ที่ 13.8% ประเทศที่สามารถผลิตยาต้นตำรับได้ส่วนใหญ่จึงอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

 

ขณะเดียวกัน โครงสร้างอุตสาหกรรมยาในไทย เรียกว่ามีครบวงจรตั้งแต่ขั้นต้น แต่ยาที่พัฒนาได้ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศเป็นหลัก การสนับสนุนการวิจัย การลงุทน และความเชื่อมโยงระหว่าง ระหว่างสถาบันวิชาการและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการทำ R&D ในอนาคต จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยพบว่าหลังจากโควิด-19 ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้เห็นการพัฒนาความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมยาแลวัคซีนของไทยเพิ่มมากขึ้น

 

“ดร.ลอยลม ประเสริฐศรี”  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “ความท้าทายของอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยหลังวิกฤติ COVID-19” ภายในงานสัมมนาทางวิชาการ “ความท้าทายของการยกระดับ S-Curve ในยุค Next Normal” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้ทำการวิจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมยาหลังวิกฤติโควิด-19 โดยมองว่า อุตสาหกรรมยาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ยุทธศาสตร์ยามีเป้าหมายการพัฒนา 5 กลุ่ม ได้แก่ ยาเคมี ยาชีววัตถุ วัคซีน วัตถุดิบทางยา และ สารสกัดสมุนไพร

 

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจและภาครัฐมีแนวนโยบายพัฒนา คือ ลดการนำเข้า ส่งเสริมการส่งออก และอนาคต ให้ไทยมีความมั่นคงด้านยาและระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยปัจจัยความท้าทาย คือ โรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-19 , กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs , สังคมสูงอายุ และ เทคโนโลยีการพัฒนา คิดค้น นวัตกรรมการรักษาโรคในอนาคต

 

ไทยผลิตยาส่วนใหญ่ใช้ในประเทศ

 

หากเปรียบเทียบอุตสาหกรรมยาทั่วโลกและไทย พบว่า บริษัทยาระดับโลก ผลิตยาต้นตำรับ เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในช่วงที่ผลิตยาต้นตำรับสำเร็จมีระบบคุ้มครองสิทธิบัตร ประเด็นที่สำคัญ คือ มีการลงทุนด้าน R&D มหาศาล

 

สำหรับในประเทศไทย แม้จะผลิตยาชื่อสามัญ แต่บริษัทที่ผลิตได้ ก็เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และมีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนสูง โดยผลิตเพื่อซัพพอร์ตตลาดในประเทศเป็นหลัก ส่งออกน้อย มูลค่าตลาดยาในไทยราว 2 แสนล้านบาท ผลิตเองราว 80,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกเพียง 2,000 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม โครงสร้าง อุตสาหกรรมยา ในไทย เรียกว่ามีครบวงจร ตั้งแต่ขั้น

  • Pre-clinical suppliers เลี้ยงสัตว์ทดลองใช้ในการทดลองยา 13 แห่ง แบ่งเป็น เอกชน 2 แห่ง และ มหาวิทยาลัยต่างๆ 11 แห่ง
  • Testing suppliers ศูนย์ทดสอบ กระจายตามหน่วยงานภาครัฐและสถาบันวิทยาศาสตร์ 
  • Clinical trial research service บริการวิจัยทางคลินิก กระจายตามโรงเรียนแพทย์
  • Raw material suppliers วัตถุดิบทางยา 12 แห่ง แต่สามารถซัพพอร์ตในประเทศได้เพียง 5% และนำเข้ากว่า 95%
  • โรงงานยาเคมี ส่วนใหญ่เป็นยาชื่อสามัญ และมีการรับจ้างผลิตให้แก่บริษัทยาข้ามชาติ
  • โรงงานยาชีววัตถุและวัคซีน 4 แห่ง ที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรม นอกนั้น เป็นโรงงานต้นแบบและผลิตเพื่อการวิจัย

 

ส่อง 5 ความท้าทาย \"อุตสาหกรรมยา\" ดันไทยสู่ Medical Hub

5 ความท้าทายอุตสาหกรรมยา

 

ดร.ลอยลม กล่าวต่อไปว่า ความท้าทายในอุตสาหกรรมยา ได้แก่ 1. การวิจัยและพัฒนา ยังมีช่องว่างในการพัฒนายกระดับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น และการพัฒนายาใหม่ที่ใช้สูตรทางเคมีเป็นองค์ประกอบมากขึ้น อาทิ สามารถหาสารเคมีใหม่ๆ เข้ามาผสมยาใหม่ เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ เป็นต้น

 

2. แหล่งเงินทุน ในอนาคตการแสวงหาแหล่งเงินทุนสำหรับการคิดค้นวิจัยพัฒนา เช่น การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ภาครัฐสามารถสนับสนุนงบประมาณได้ระดับหนึ่ง และในอนาคตต้องมองต่อไปว่าจะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่ง “บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด” เป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมยา หากมีการส่งเสริมจะเกิดการจ้างงานนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก และการระดมทุนในอนาคตจะทำอย่างไรหากจะลดการพึ่งพาภาครัฐ เป็นโจทย์สำคัญ

 

3. ความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันวิชาการและภาคอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้สามารถมีแนวทางในการสนับสนุนงานวิจัยตอบโจทย์อุตสาหกรรมมากขึ้น เชื่อมนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าสู่การทำงานร่วมกับเอกชน ซึ่งปัจจุบัน มีโปรแกรม iTab ในการจับมือกันระหว่างผู้ประกอบการภาคเอกชน และนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย เรามีศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ ที่กำลังให้ความสนใจยาชีววัตถุและวัคซีนค่อนข้างสูง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความร่วมมือ ส่งเสริมการวิจัยในอนาคต

 

4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการทำ R&D บทเรียนและประสบการณ์วิจัยวัคซีนโควิด-19 พบว่า เราได้ใช้ประโยชน์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เรามีโรงงานที่สามารถผลิตวัคซีนต้นแบบเอง ทดลองในสัตว์ทดลองในไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาตั้งแต่ต้น และไม่ได้หยุดแค่วัคซีนโควิด-19 เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถต่อยอดวัคซีนตัวอื่นได้เช่นกัน เป็นบทเรียนสำคัญ และต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต

 

และ 5. แรงกดดันด้านอุปสงค์และความมั่นคงด้านยาของประเทศ อุตสาหกรรมยามีมูลค่าตลาดค่อนข้างสูงราว 2 แสนล้านบาท แม้กลุ่มยาชื่อสามัญ ผลิตในประเทศส่วนใหญ่ แต่ยาต้นตำรับ ยาชีววัตถุ และวัคซีน นำเข้าส่วนใหญ่ ดังนั้น เราพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างสูง จึงต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรในอนาคตเชิงนโยบาย เพราะยังมีปัจจัยที่กดดันต่อความต้องการยาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs สังคมสูงอายุ และนโยบายเกี่ยวกับการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ต้องใช้ยามหาศาล

 

ศักยภาพอุตสาหกรรมยาไทย

 

ระดับการพัฒนาเทคโนโลยี ที่สะท้อนขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยาไทย แม้ด้านการแข่งขันจะวัดผลไม่ได้ชัดเจนเพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก แต่ระดับการพัฒนา R&D ที่สะท้อนความสามารถของไทย พบว่า เริ่มมีรายการยา วัคซีนที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมแห่งชาติเพิ่มขึ้น

 

ขณะเดียวกัน เริ่มมียาที่สามารถผลิตได้เอง โดยเริ่มพัฒนายาต้นน้ำมากขึ้น เช่น ยารักษาโรคมาลาเรีย ที่มีนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ โดยก้าวไปสู่ระดับการวิจัยทางคลินิกระดับที่ 1 ส่วนยาชีววัตถุและวัคซีน เช่น ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าไทยค่อนข้างเก่งที่ผลิตได้เองตั้งแต่ต้นน้ำและจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้

 

บริษัท ไบโอเนท - เอเชีย จำกัด ที่ผลิต “วัคซีนไอกรน” เป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถผลิตได้เอง ขณะที่ วัคซีนโควิด-19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อยู่ระยะ 3 ในการวิจัยทางคลินิก และมีอีกหลายตัวที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถต่อยอดไปยังวัคซีนตัวอื่นได้ในอนาคต