'วันดื่มนมโลก' ดื่มได้ทุกวัย อย่าหยุดเพราะ 'ท้องอืด' มีวิธีแก้
คนไทยดื่มนมน้อย ต่ำกว่าอังกฤษ 4 เท่า เด็กวัยรุ่นยิ่งอายุมากยิ่งปริมาณลดลง เร่งสปีดตั้งเป้าหมายให้ได้ 25 ลิตร/คน/ปี มีรูปร่างสูงสมวัย แข็งแรง ภายในปี 70 พร้อมแนะวิธีคนที่ดื่มนมแล้วท้องอืด
Keypoints:
- องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันดื่มนมโลก” หรือ “World Milk Day” เพื่อให้ประเทศและองค์กรต่าง ๆ เห็นความสำคัญและจัดรณรงค์ดื่มนม
- ปริมาณการดื่มนมของคนไทยอยู่ที่ 21.5 ลิตร/คน/ปี ถือว่ายังน้อย ขณะที่เด็กไทยดื่มเฉลี่ยเพียงครึ่งแก้วต่อวันในช่วงอายุ 6-19 ปี
- ประโยชน์ของการดื่มนมและคำแนะนำสำหรับผู้ที่ดื่มนมแล้วท้องอืด ซึ่งมีวิธีการแก้ไข อย่าหยุดดื่มเพียงเพราะเข้าใจผิดว่าท้องอืดเพราะแพ้นม
การผลิต-บริโภคน้ำนมดิบ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วงปี 2560 - 2564 ผลผลิตน้ำ นมดิบในประเทศ ผู้ผลิตที่สำคัญ มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้น 1.50 % ต่อปี โดยผลผลิตน้ำนมดิบในปี 2564 มีปริมาณรวม 540.93 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 534.00 ล้านตัน ของปี 2563 คิดเป็น 1.30 %
ประเทศที่มี ผลผลิตน้ำนมดิบมากที่สุด คือ
- สหภาพยุโรป มีผลผลิตน้ำนมดิบรวม 158.50 ล้านตัน
- รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา 103.51 ล้านตัน
- และอินเดีย 96.00 ล้านตัน
ในช่วงปี 2560 - 2564 ความต้องการบริโภคน้ำนมในประเทศที่สำคัญของโลกมี แนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.43 % ต่อปี โดยในปี 2564 มีความต้องการบริโภค 193.38 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 190.58 ล้านตัน ของปี 2563 คิดเป็น 1.47 %
- อินเดียเป็น ประเทศที่บริโภคน้ำนมสูงที่สุด คือ 83.00 ล้านตัน
- รองลงมาได้แก่ สหภาพยุโรป 33.50 ล้านตัน
- และสหรัฐอเมริกา 21.00 ล้านตัน
คนไทยดื่มนมน้อย
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันดื่มนมโลก 2566 (World Milk Day 2023) “ทุกเพศทุกวัย ดื่มนมจืด 2 แก้วทุกวัน” ว่า ปัจจุบันคนไทยยังดื่มนมน้อยเพียง 21.5 ลิตร/คน/ปี โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่เฉลี่ย 19 ลิตร/คน/ปี
- ขณะที่ เด็กไทย 6-19 ปีดื่มนมน้อยเฉลี่ยเพียงครึ่งแก้วต่อวัน
- เด็ก 3-5 ปี ดื่มนม 1 แก้วต่อวัน
เมื่อเทียบกับนานาชาติ เช่น อินเดียดื่ม 60 ลิตร/คน/ปี
ญี่ปุ่น 32.8 ลิตร/คน/ปี
เกาหลีใต้ 29.5 ลิตร/คน/ปี
ออสเตรเลีย 93.6 ลิตร/คน/ปี
อังกฤษ 89.6 ลิตร/คน/ปี
สหรัฐอเมริกา 62 ลิตร/คน/ปี
และสหภาพยุโรป 53.28 ลิตร/คน/ปี
การขับเคลื่อนให้คนไทยมีความตระหนักในการดื่มนม เพื่อให้เด็กไทยเข้าถึงนมราคาถูก บรรลุตั้งเป้าหมายให้คนไทยดื่มนมได้ 25 ลิตร/คน/ปี มีรูปร่างสูงสมวัย แข็งแรง ภายในปี 2570
เด็กไทยเตี้ยมากขึ้น
สถานการณ์ภาวะโภชนาการปัจจุบันพบว่าเด็กไทยเตี้ยเพิ่มมากขึ้นจาก 9.5 %เป็น 10.4 %ส่วนสูงเฉลี่ยเด็กอายุ 12 ปี เพศชายสูงเพียง 148.4 เซนติเมตร เพศหญิง 149.3 เซนติเมตร ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 19 ปี เพศชาย 166.8 เซนติเมตร เพศหญิง 157.8 เซนติเมตร ยังห่างไกลค่าเป้าหมายปี 2570 ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 19 ปี เพศชาย 170 เซนติเมตร เพศหญิง 165 เซนติเมตร
ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมและความรอบรู้การดื่มนมของเด็กอายุ 6-19 ปี โดยกรมอนามัยร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทยและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต พบว่า
- ส่วนใหญ่ดื่มนมเพียง 1-3 วันต่อสัปดาห์ 40 %
- ส่วนไม่ดื่มนมเลย 12 %
- ดื่ม 4-6 วัน 15 %
- ดื่มนมทุกวัน 33 % ในจำนวนนี้ดื่มนม 1 แก้วหรือกล่องต่อวัน 55 % ดื่มนม 2 แก้วหรือกล่องต่อวัน 34%
คำแนะนำในการดื่มนม
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ดื่มนม
1.มีความรู้ว่านมช่วยให้สุขภาพ แข็งแรง สูงดีสมาร์ท 50%
2.จะดื่มนมหากมีนมติดบ้านตลอด 24%
ส่วนความรอบรู้ในการดื่มนมของเด็กอายุ 6-19 ปี พบว่า
- 80 % รู้ว่านมเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี มีแคลเซียมสูงและดูดซึมได้ดีที่สุด ช่วยเพิ่มมวลกระดูกและการขยายตัวของกระดูก
- 95% รู้ว่าการดื่มนมทำให้ท้องอืด ท้องเสียหลังไม่ได้ดื่มนมมานาน เนื่องจากร่างกายผลิจเอนไซม์ย่อยแล็คโตสน้อยลง แก้ไขโดยค่อยๆดื่มทีละน้อยและค่อยเพิ่มปริมาณดื่มหลังอาหาร
- 5 % ไม่ดื่มนม เพราะมีความเข้าใจผิดว่าการดื่มนมทำให้ท้องอืด ท้องเสียเพราะแพ้โปรตีนนม จึงแก้ไขโดยเลิกดื่มนม
กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย เครือข่ายนมดีทุกวัยดื่มได้ทุกวัน และ Modern trade ได้แก่ ซีพีออลล์ แม็คโคร โลตัส และบิ๊กซี จัดงานรณรงค์วันดื่มนมโลก 2566 (World Milk Day 2023) “ทุกเพศทุกวัย ดื่มนมจืด 2 แก้วทุกวัน”
โดยให้ทุกกลุ่มวัยดื่มนมจืด 2 แก้วร่วมกับกินอาหารประเภทอื่น ครบ 5 หมู่ ทั้ง 3 มื้อ ในปริมาณสัดส่วนที่เหมาะสม อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะวัยเรียนวัยรุ่น ควรส่งเสริมให้ออกกำลังกายสะสมวันละ 60 นาที รับแสงแดดทุกวันเพื่อให้ได้รับวิตามินดี ช่วยส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมจากนม และนอนให้เพียงพอวัยเรียน 9-11 ชั่วโมงต่อวัน วัยรุ่น 8-10 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้เด็กไทย เติบโต แข็งแรง สูงสมวัย