ผู้ใช้บัตรทอง ได้รับความเสียหายจากการรักษา ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือได้ จริงหรือ?

ผู้ใช้บัตรทอง ได้รับความเสียหายจากการรักษา ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือได้ จริงหรือ?

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ตรวจสอบกรณีที่มีการระบุว่า ผู้ใช้สิทธิบัตรทองหากได้รับความเสียหายจากการรักษา ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือได้ เป็นข้อมูลจริง

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand ระบุว่า กรณีที่มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผู้ใช้สิทธิบัตรทองหากได้รับความเสียหายจากการรักษา ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

ผู้มีสิทธิบัตรทอง (บัตร 30 บาท) หากใช้สิทธิบัตรทองแล้วได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่ใช่เป็นพยาธิสภาพของโรคหรือเหตุแทรกซ้อนของโรค มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายหรือทายาทหรือผู้อุปการะหรือหน่วยบริการที่ให้บริการ ต้องยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย 

 

โดยกำหนดประเภทความเสียหายและอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็น 3 กรณี คือ

  • ประเภทที่ 1 เสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร (240,000 – 400,000)
  • ประเภทที่ 2 พิการหรือสูญเสียอวัยวะ (100,000 – 240,000)
  • ประเภทที่ 3 บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง (ไม่เกิน 100,000 บาท)

ซึ่งอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวนั้นเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่ใช่เงินชดเชย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดความขัดแย้งระหว่างผู้รับบริการกับหน่วยบริการ โดยไม่พิสูจน์ถูกผิด
 

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการรับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nhso.go.th หรือโทรสายด่วน 1330 หรือเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. พิมพ์ @nhso สอบถามข้อมูล

 

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข