เปิด 5 จังหวัด ไข้เลือดออกระบาดสูงสุด - ปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิต
อัปเดต! สถานการณ์ไข้เลือดออกระบาด ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 7 มิ.ย. 66 พบป่วย 19,503 ราย เปิดรายชื่อ 5 จังหวัด ป่วยสูงสุด พร้อมปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปีนี้สถานการณ์ไข้เลือดออกมีการระบาดเพิ่มสูงขึ้นมากในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และประชาชนภูมิคุ้มกันลดลงเนื่องจากไม่ได้ติดเชื้อไข้เลือดออกมานานในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ไข้เลือดออกระบาดต่ำ ประกอบกับเป็นช่วงหน้าฝนที่แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคจำนวนมาก จึงต้องเฝ้าระวังและให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันตัวเอง
สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 มิถุนายน 2566 พบรายงานผู้ป่วยจำนวน 19,503 ราย เสียชีวิต 17 ราย และจำนวนผู้ป่วยปี 2566 มากกว่า ปี 2565 ณ ช่วงเวลาเดียวกันถึง 3.8 เท่า กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-24 ปี จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดใน 4 สัปดาห์ล่าสุด คือ จังหวัดตราด, น่าน , จันทบุรี , แม่ฮ่องสอน และสตูล ตามลำดับ รวมการระบาดใน 348 อำเภอ 71 จังหวัด ซึ่งประเมินความเสี่ยงพบมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกภาค ส่วนปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยที่เสียชีวิตคือไปรักษาที่โรงพยาบาลช้าเกินไป มีภาวะอ้วน ได้รับยากลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ หรือเอ็นเซด (NSAIDs) มาก่อน และมีโรคประจำตัว
ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ให้ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียนสำรวจและทำลายลูกน้ำยุงลาย และให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สำรวจสถานที่เสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก เพื่อหาทางป้องกันและเฝ้าระวัง
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และหากประชาชนมีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากมีไข้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้