ผู้ป่วยระยะฟื้นฟู 4 กลุ่มโรคที่ต้องได้รับกายภาพบำบัดยังเข้าไม่ถึงบริการ
ผู้ป่วยระยะฟื้นฟู 4 กลุ่มโรค ได้รับบริการกายภาพบำบัดจากคลินิกกายภาพบำบัดในระบบบัตรทองเพียง 10 % ชี้ปัญหาเกิดจากระบบส่งต่อผู้ป่วย แนะ สปสช.เพิ่มรายชื่อคลินิกในโปรแกรม Disability Portal ให้แพทย์ได้ทราบและส่งต่อได้ง่ายขึ้น
กภ.สมใจ ลือวิเศษไพบูลย์ นายกสภากายภาพบำบัด กล่าวถึงภาพรวมโครงการคลินิกกายภาพบำบัดเข้าร่วมบริการ ปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยระบุว่า ในโครงการนี้คลินิกกายภาพบำบัดจะเข้าร่วมเป็นเครือข่าย หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เบื้องต้นจะดูแลผู้ป่วยระยะฟื้นฟู 4 กลุ่มโรคคือ
- หลอด เลือดสมอง (Stroke)
- ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury)
- ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury)
- ผู้ป่วยคอกระดูกสะโพกหัก (Fracture neck of femur) ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
เพื่อให้ได้รับ การรักษาทางกายภาพบำบัดจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งในปี 2564 มีคลินิกกายภาพบำบัดเข้าร่วมโครงการ จำนวน 24 แห่งและเพิ่มเป็น 58 แห่งในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบกับจำนวนคลินิกกายภาพบำบัดที่มีอยู่ทั่ว ประเทศ 835 แห่งแล้ว ยังถือว่ามีสัดส่วนน้อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เจ็บป่วยขนาดไหน....ควรเรียกรถพยาบาล
เคล็ดลับการอัปเดตโปรไฟล์ให้ปัง!เตรียมพร้อมสู่งานในตำแหน่งที่ใช่!
'โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ' ภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบรักษา
ผู้ป่วยฟื้นฟูไม่ได้รับบริการกายภาพบำบัดเกิดจากระบบส่งต่อ
กภ.สมใจ กล่าวต่อไปว่า นอกจากประเด็นเรื่องจำนวนคลินิกกายภาพบำบัดที่เข้าร่วมโครงการยังน้อยแล้ว เมื่อดูจากจำนวนการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการพบว่าคลินิกที่เข้าร่วมให้บริการในขณะนี้ มีเพียง 50% เท่านั้นที่ทำการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยไม่ได้ส่งต่อมาถึงคลินิกกายภาพบำบัด โดยเฉพาะใน กทม. มีคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ 9 แห่ง จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการส่งต่อผู้ป่วยมาที่คลินิกกายภาพบำบัดเลย
กภ.สมใจ กล่าวว่า ปัญหาในเรื่องนี้เนื่องจากจากระบบที่วางไว้นั้น คนไข้ต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลก่อน ซึ่งทางโรงพยาบาลจะต้องติดตั้งโปรแกรม Disability Portal เพื่อใช้ในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังคลินิกกายภาพบำบัด แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยโรคและต้องระบุว่าเป็นผู้ป่วยระยะฟื้นฟูจึงจะเกิดสิทธินี้
เมื่อจำหน่ายคนไข้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้รับผิดชอบในโรงพยาบาลจะต้องเลือกว่าจะส่งตัวผู้ป่วยไปรับบริการต่อที่คลินิกกายภาพบำบัดชื่ออะไรในโปรแกรม ดังนั้นถ้าไม่ได้เลือกในโปรแกรม คนไข้กลุ่มนี้ก็จะหลุดออกจากระบบการดูแลไปเลย
“โรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่มีความร่วมมือที่ดีก็จะช่วยกันเป็นทีม แพทย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะเลือกคลินิกที่จะส่งต่อผู้ป่วยในโปรแกรม ทำให้ยังพอเกิดการให้บริการขึ้นได้บ้าง”
เสนอสปสช. เพิ่มโปรแกรม Disability Portal
กภ.สมใจ กล่าวถึงแนวทางการปรับปรุงการทำงาน โดยเสนอให้มีการประชาสัมพันธ์ผู้ป่วยระยะฟื้นฟูใน 4 กลุ่มโรคนี้ว่ามีบริการนี้อยู่และตัวผู้ป่วยก็มีสิทธิจะได้รับบริการทางกายภาพบำบัดพร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้แพทย์ ผู้ปฏิบัติงานทราบด้วยเช่นกัน ปัจจุบันการสื่อสารถึงผู้ปฏิบัติยังไม่ทั่วถึง
ข้อเสนออีกประการคือ เสนอให้ สปสช. เพิ่มรายชื่อคลินิกกายภาพบำบัดเข้าไปอยู่ในโปรแกรม Disability Portal เลย เพื่อให้ทีมทางโรงพยาบาลทราบว่ามีคลินิกกายภาพบำบัดรองรับเวลาจำหน่ายคนไข้ออกและเลือกส่งต่อผู้ป่วยได้ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรคนี้ทราบสิทธิของตัวเองและสามารถแจ้งความจำนงกับแพทย์ได้ว่าต้องการบริการกายภาพบำบัดกับคลินิกกายภาพบำบัด” กภ.สมใจ กล่าว
กภ.สมใจ ยังกล่าวถึงความสำคัญในการรับบริการฟื้นฟูกับคลินิกกายภาพบำบัดว่า มีผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรคนี้ หากได้รับการฝึกทางกายภาพบำบัดต่อเนื่องอย่างน้อย 20 ครั้ง จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ป่วยเมื่อถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแล้ว จะถูกนัดให้กลับมาทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล
ผู้ป่วยส่วนมากมาตามนัดได้ 3-5 ครั้ง เพราะมีอุปสรรคในเรื่องการเคลื่อนไหวและการเดินทาง ผู้ป่วยที่ญาติพามาทำ กายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลได้ครบมีไม่ถึง 3% ดังนั้นการมีคลินิกกายภาพบำบัดมาร่วมให้บริการในเครือข่ายบริการปฐมภูมิ จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้น ได้รับการบริการที่มีมาตรฐาน ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาช่วยเหลือ ตัวเองได้ ไม่กลายเป็นคนพิการหรือนอนติดเตียง
กภ.สมใจ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสภากายภาพบำบัดเอง ขณะนี้ได้มีการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพคลินิกกายภาพบำบัดที่จะเข้าร่วมโครงการกับ สปสช. และเตรียมจะ implement หลักเกณฑ์ในเร็วๆนี้ เช่นเดียวกับการพัฒนาศักยภาพของนักกายภาพบำบัดก็เป็นภารกิจหลักของสภากายภาพบำบัดอยู่แล้ว ในส่วนของการกำกับติดตามคุณภาพการให้บริการนั้น จะทำผ่านกลไกคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) ซึ่งมีตัวแทนวิชาชีพกายภาพบำบัดร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย
“เป้าหมายของสภากายภาพบำบัด เราเน้นขยายจำนวนคลินิกกายภาพบำบัดที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ หลักประกันสุขภาพให้เพิ่มขึ้น 10% ทุกปี ตอนนี้การให้บริการยังห่างไกลจากความต้องการเยอะมาก ยังให้บริการได้ไม่ถึง 10% ของความต้องการ เช่นเดียวกับการประชาสัมพันธ์ให้คนไข้ รวมทั้งแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ได้ทราบว่ามีบริการนี้อยู่ ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายทราบสิทธิก็จะทำให้ระบบลื่นไหลไปได้
รวมทั้งฝาก สปสช. ในเรื่องการจ่าย ชดเชยค่าบริการเพราะได้ทราบจากนักกายภาพบำบัดว่าบางคลินิกได้รับค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายเมื่อ 4 เดือนก่อน ดังนั้นจึงอยากฝากเรื่องการจ่ายให้ตรงเวลา เช่นเดียวกันกับสิทธิสุขภาพอื่นๆ ก็อยากให้ สปสช. ประสานงานให้ ข้าราชการและผู้ประกันตนได้สิทธินี้ด้วย” กภ.สมใจ กล่าว