รู้จัก 'health informatics' สิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการดูแลผู้ป่วย
เป็นสิ่งไม่อาจเลี่ยงที่รพ.จะต้องเดินหน้าสู่การเป็น 'Smart Hospital' นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีด้านข้อมูลสารสนเทศ 'ฟิลิปส์'มุ่ง'health informatics'ช่วยการทำงานของแพทย์ พยาบาล ยกระดับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น
Keypoints:
- การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะส่งผลให้ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดใหม่คนไทยต่ำ มีความเสี่ยงที่คนวัยทำงานน้อย การเสียภาษีต่ำ
- รพ.โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องแบกรับภาระงานมาก คนไข้แออัด เพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่คนไข้จะเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น Smart Hospital
- ฟิลิปส์มุ่งพัฒนาโซลูชั่นทางการแพทย์ระดับคลินิคัล(clinical) ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น ทำให้คำว่า Smart Hospital สมบูรณ์ขึ้น โดยเฉพาะ health informatics
กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด” เกี่ยวกับโซลูชั่นทางการแพทย์ รองรับความต้องการด้านSmart Hospital กับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งฟิลิปส์เป็นผู้นำนวัตกรรม เครื่องมือแพทย์ วินิจฉัยโรคเป็นหลัก และขณะนี้โลกพัฒนาเข้าสู่เรื่องของดิจิทัลและสารสนเทศมากขึ้น จึงตั้งเป้าชัดเจนจะเป็นผู้นำด้าน health informatics คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศทางสุขภาพ
“คุณวิโรจน์” มองว่า ค่าใช้จ่ายของประเทศในการดูแลรักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นจะตามม้ด้วยความเจ็บป่วยและโรคต่างๆมากมาย ขณะที่อัตราการเกิดใหม่ของคนไทยลดต่ำลงมาก กลายเป็นสังคม Work forceที่จะสร้างรายได้ให้ภาครัฐก็จะน้อยลง มีวัยทำงานน้อย อัตราการเสียภาษีก็จะน้อยลง เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องบริหารเรื่องงบประมาณที่จะมาดูแลผู้สูงอายุด้วย
นิยามSmart Hospital
การเตรียมความของระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับมากขึ้นจึงจำเป็นอย่างมาก ฉะนั้นแล้ว การเป็น Smart Hospital เป็นเส้นทางที่รพ.แต่ละแห่งจะต้องเปลี่ยนผ่านเพื่อรองรับการให้บริการ และปัจจุบันรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ไม่ต่ำกว่า 50 % กำลังอยู่ในเส้นทางที่กำลังเดินไปสู่การเป็น Smart Hospital และบางแห่งก็ขับเคลื่อนไปได้ไกลมาก
“Smart Hospital คือ การยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้น โดยการเอาเทคโนโลยีส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับด้านสารสนเทศและดิจิทัลมาใช้เป็นหลักแล้วทำให้ค่าใช้จ่ายภาพรวมทั้งหมดน้อยลง คาดว่าไม่เกินอีก 5 ปีข้างหน้า ระบบนี้จะครอบคลุมในทุกรพ.ของประเทศไทย”วิโรจน์กล่าว
คำว่า ยกระดับคุณภาพการดูแลผู้ป่วย จะต้องมองภาพรวมตั้งแต่คนไข้ออกจากบ้านมารพ. เข้าตรวจ รักษา รับยา และกลับบ้าน อย่างเช่น เดิมคนไข้ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี 4 มาจองคิวที่รพ. ต้องวางรองเท้าไว้ต่อแถว กว่าจะได้พบแพทย์ต้องผ่านกระบวนการตามโต๊ะต่างๆมากมาย อาจจะได้พบตอน 11.00 น. หรือบ่ายโมงขณะที่แพทย์ก็อาจจะไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน แล้วคุยได้ 2-5 นาที และอาจจะต้องส่งตัวไปพบแพทย์อีกสาขา กว่าจะแล้วเสร็จก็อาจจะ15.00 น. กระบวนการเหล่านี้ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าเดินทาง ค่าอาหาร รวมไปถึงค่าเวลาที่คนไข้ต้องสูญเสียรายได้ในวันนั้นเพื่อมาพบแพทย์
เพราะฉะนั้น Smart Hospital ต้องเข้ามาตอบโจทย์ตรงจุดนี้ ซึ่งจะเห็นว่ารพ.ภาครัฐหลายแห่งนำระบบดิจิทัลเข้ามา มีแอปพลิเคชันในการจองคิว ไม่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้า ช่วยคนไข้ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย และภายในระบบของรพ.ก็มีการใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศประสานแต่ส่วนงาน เช่น แพทย์ ห้องแล็ป ห้องยา เมื่อคนไข้ออกจากการพบแพทย์ก็ไปรับยาได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารออีกเป็นชั่วโมง ทำให้กระบวนการต่างๆสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
ฟิลิปส์มุ่งโซลูชั่นระดับ clinical
ปัจจุบัน Smart Hospital ของภาครัฐจะเน้นเรื่องการจัดการข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้คนไข้เป็นส่วนมาก ซึ่งระบบรองรับเรื่องเหล่านี้ บริษัทสตาร์ตอัพในประเทศไทยสามารถให้บริการได้ดี บริษัท ฟิลิปส์ฯจะไม่เข้าไปแข่งขันในตลาดนี้ แต่จะมุ่งเน้นไปที่โซลูชั่นทางการแพทย์ระดับคลินิคัล(clinical)ในรพ. ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น ทำให้คำว่า Smart Hospital สมบูรณ์ขึ้น
โซลูชั่นทางการแพทย์ของฟิลิปส์ ตัวอย่างเช่น เครื่อง MRI ด้วยสนามแม่เหล็ก เดิมคนไข้อาจจะต้องนอนในเครื่อง 2-3 ชั่วโมง แต่ตัวนี้จะลดเวลาลงเกินกว่าครึ่ง รวมถึงมีระบบเอไอเข้ามาช่วยทำให้ได้ภาพสวยคมชัด
หรือ ระบบ Guardian เป็นการทำนายความเป็นไปของคนไข้ โดยมีการเปิดเครื่องวัดสัญญาณชีพของคนไข้ไว้แล้วระบบจะมีการให้เป็นคะแนน ถ้าคนไข้คะแนนเริ่มลดลง แสดงว่าคนไข้มีแนวโน้มที่อาการจะแย่ลง แม้คนไข้ยังไม่แสดงอาการ ทำให้แพทย์ พยาบาลมีความตื่นตัวในการเข้ามาดูการรักษาก่อน ไม่ให้คนไข้อาการแย่ลง ช่วยชีวิตคนไข้ได้มากขึ้น จากเดิมที่กว่าจะทราบอาจถึงขั้นที่คนไข้แสดงอาการแย่ลงแล้ว
ระบบ ICCA สู่ Smart ICU
กรณีคนไข้ที่ป่วยหนักในห้องไอซียูที่จะมีเครื่องมือต่างๆมากมาย เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้สารละลาย เครื่องวัดสัญญาณชีพ ซึ่งอาจจะทุก 2 ชั่วโมงพยาบาลจะต้องเดินมาจดค่าของเครื่องเหล่านี้ เนื่องจากข้อมูลมีความสำคัญในการวิเคราะห์และวินิจฉัยความเป็นไปของอาการคนไข้
ฟิลิปส์มีระบบที่รองรับการเป็น “Smart ICU” เรียกว่า ระบบ ICCA (Intellispace Critical Care & Anesthesia ) ที่จะรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลที่จำเป็นต่อการติดตามผู้ป่วยโดยเฉพาะในห้องไอซียู เข้าไว้ด้วยกัน แล้วแสดงผลเป็นกราฟ วิเคราะห์ข้อมูล แพทย์และพยาบาลสามารถเปิดเข้าดูข้อมูลได้ตามระดับของการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนเข้าถึงข้อมูล จึงง่ายต่อการเข้าถึง ลดอัตราการผิดพลาด และลดเวลาการเก็บข้อมูลด้วยวิธีจดบันทึกแบบเดิมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสามารถขยายในการดูแลคนไข้ได้เป็นพันเตียงและดูแลคนไข้ในหอพักผู้ป่วยได้ด้วย
นอกจากนี้ ระบบยังสามารถเชื่อมกับห้องแล็ป เมื่อคนไข้ไอซียูต้องเจาะเลือดส่งตรวจ ผลเลือดจะส่งตรงเข้าสู่ระบบในไอซียูได้เลย และกรณีแพทย์ 1 คนดูแลคนไข้ในรพ. 2-3 แห่ง ก็สามารถเปิดดูข้อมูลคนไข้ในโทรศัพท์หรือแทปเลตได้ โดยใช้ระบบไอทีในการเชื่อม แต่จะมีระบบล็อคป้องกัน สามารถเข้าดูได้เฉพาะผู้ที่มีรหัสและถูกกำหนดให้เข้าถึงข้อมูลได้เท่านั้น และอยู่ภายใต้กฎหมาย PDPA
“ระบบ ICCAในICU ช่วยแบ่งเบาภาระงานของพยาบาลได้มาก ไม่ต้องมานั่งจดค่าต่างๆจากเครื่องมือ ทำให้มีเวลาในการดูแลใส่ใจโฟกัสที่คนไข้ได้มากขึ้น ไม่ต้องมาใช้เวลาไปกับการจดบันทึกตัวเลข และกรณีที่อาจจะมีการฟ้องร้องแพทย์ พยาบาลเกิดขึ้น ก็สามารถใช้ข้อมูลที่ระบบบันทึกไว้แสดงการดูแลรักษาได้” วิโรจน์กล่าว
ตัวหลักขยายฐานการใช้
ฟิลิปส์วางให้ระบบ ICCA เป็นตัวหลักในการขยายฐาน ปัจจุบันระบบนี้ในประเทศไทยมีการใช้ในหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี ราชวิถี และรพ.กรุงเทพ เป็นต้น และวางแผนจะมีการกระจายออกสู่การใช้งานในรพ.พื้นที่กทม.และส่วนของภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทมีฐานผู้ใช้เครื่องวัดสัญญาณชีพของฟิลิปส์มากเป็นลำดับต้นๆ ก็จะใช้ฐานตรงส่วนนี้ ในการขยายตลาด เพราะมีหลายแห่งยังไม่มีการใช้งานระบบ ICCA
“ระบบนี้ของฟิลิปส์มีใช้มานานแล้ว แต่ในประเทศไทยมีความสนใจมากขึ้น โดยก่อนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 มีขายอยู่บ้าง แต่ช่วงหลังโควิด-19 เริ่มกระจายมากขึ้น เป็นเพราะลูกค้าหรือรพ.เห็นความสำคัญกับระบบนี้มากขึ้น”วิโรจน์กล่าว
ทิศทางพัฒนาต่อไปของฟิลิปส์
ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของฟิลิปส์ในการตอบโจทย์ Smart Hospital และรองรับสังคมผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. ส่วนที่เป็น bread and butter ส่วนที่เป็นรายได้หลัก อย่างเครื่องมือวินิจฉัยต่างๆ เช่น เครื่องเอ็กซเรย์ เครื่อง MRI เครื่อง CT-Scan เครื่องสวนหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น จะมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ มีนวัตกรรมใหม่ๆออกมาทำให่งานสะดวกขึ้น ช่วยแพทย์วินิจฉัยได้ดีขึ้น แม่นยำขึ้น และ2.ส่วนที่เป็น growth engine หรือส่วนที่จะผลักดันให้มีการเติบโตของรายได้และธุรกิจ ก็คือ สารสนเทศทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ระบบ ICCA เป็นต้น
ที่สุดแล้วถ้ารพ.ไม่เปลี่ยนผ่านสู่ Smart Hospital ก็จะล้าหลัง รพ.รับภาระงานที่หนักมไม่ไหว บุคลากรก็จะลาออกเพราะภาระงานที่มีมาก เลี่ยงไม่ได้ที่ทุกรพ.จะต้องเป็น Smart Hospitalทั้งหมด เพราะรพ.เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศมาก ช่วยจัดการเรื่องโลจิสติกส์ได้ดีมาก คุณภาพการบริการดีขึ้น อนาคตภาพที่เคยเห็นคนไข้ในรพ.รัฐแออัดจำนวนมาก อาจจะดีขึ้น