เอไอรุกวงการแพทย์ ขับเคลื่อนสู่ “ระบบสุขภาพดิจิทัล”
เอไอรุกวงการแพทย์ ขับเคลื่อนสู่ “ระบบสุขภาพดิจิทัล”ผ่านแผนปฏิบัติการฯระดับชาติ ระยะ 5 ปี กำหนดส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล-เอไอทางการแพทย์ รพ.รัฐ-เอกชนใช้ช่วยแพทย์คัดกรอง-วินิจฉัยโรค “วิมุต”เล็งร่วมทุนสตาร์ตอัพไทยพัฒนาเอไอการแพทย์ “เมดพาร์ค” ยกระดับรักษาด้วยเอไอ
วงการแพทย์ไทยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์(เอไอ)มาหลายปีก่อนโรคโควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการกำหนดให้รพ.ในสังกัดปรับตัวสู่การเป็น Smart hospital มาตั้งแต่ปี 2561 กระทั่งช่วงโควิด-19ระบาด ทำให้มีการนำมาใช้อย่างจริงจังมากขึ้น ทำให้คนไข้เข้าใจถึงรูปแบบและบริการมากขึ้นทั้งเรื่องเทเลเมดิซีนและเอไอ หรือเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานเมื่อช่วงปี 2565 ขณะที่ภาคเอกชนก็มีการลงทุนในเรื่องนี้มาให้บริการคัดกรอง ตรวจวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
แผนฯระบบสุขภาพดิจิทัล
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ภาพรวมของประเทศไทยมีเป้าหมายสู่ระบบสุขภาพดิจิทัล โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติเมื่อปลายปี 2565 มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ กลไกการบริหารจัดการและโครงสร้างหน่วยงานบริหารจัดการข้อมูลด้านสุขภาพดิจิทัลระดับประเทศ และในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2565 มีการเห็นชอบใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ร่างแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติ พ.ศ.2566-2570 กำหนดทิศทางบูรณาการระบบสุขภาพดิจิทัล
2.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการะบบสุขภาพดิจิทัล มีปลัดสธ.เป็นประธาน เพื่อจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์หรือแผนที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลของประเทศและ 3.แต่งตั้งคณะกรรมการระบบสุขภาพดิจิทัล เป็นกรรมการเฉพาะด้านอื่นๆตามพรบ.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560
สำหรับแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติ พ.ศ.2566-2570 มี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ประกอบด้วย 1.การสร้างเสริมธรรมาภิบาลระบบสุขภาพดิจิทัล 2.การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติและระบบนิเวศดิจิทัลสุขภาพ 3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของระบบสุขภาพดิจิทัล 4.การส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ และ5.การพัฒนาคนให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสุขภาพดิจิทัลอย่างยั่งยืน
ในส่วนของรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการมานานและในหลายส่วน ตามนโยบายการพัฒนารพ.เป็น Smart and Modernize Hospital เดินหน้าสู่ระบบสุขภาพดิจิทัล ทั้งการนำระบบคิวดิจิทัลมาใช้ในการให้คิว การใช้เทเลเมดิซีน การเชื่อมต่อข้อมูลการรักษาต่างๆ และการใช้เอไอคัดกรอง ในส่วนของเอไอที่มีใช้ตอนนี้อย่างเช่น เอ็กซเรย์ปอด การคัดกรองเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น
"มีการดำเนินการแล้วในรพ.สธ.จำนวนมาก ตอบสนองความต้องการของประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพได้เพิ่มขึ้น และบุคลากรการแพทย์ทำงานได้สะดวกรวดเร็ว โดยให้แต่ละรพ.มีการจัดตั้งทีมงานเกี่ยวกับดิจิทัลการแพทย์ด้วย"นพ.โอภาสกล่าว
“วิมุต”เล็งร่วมทุนสตาร์ตอัพไทย
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันรพ.วิมุตมีการนำเอไอมาใช้ทางการแพทย์ 2 ตัว คือ 1.เอไอเอ็กซเรย์ปอด ที่เมื่อมีเอ็กซเรย์เสร็จ เอไอจะมีการช่วยสกรีนชี้บอกตำแหน่งหรือส่วนไหนที่น่าจะผิดปกติ เช่น บอกมีโอกาสหัวใจโต 50 % ,ดูเหมือนว่ามีรอยแผลในปอดบริเวณกลีบปอดด้านขวาบน หรือมีสิ่งผิดปกติคล้ายก้อนอยู่ตรงจุดไหน ชี้บอกตำแหน่งให้รังสีแพทย์ใช้เวลาอ่านผลซ้ำได้เร็วขึ้น
และ2.เอไอตรวจคัดกรองเซ็คอัพตรวจร่างกาย เมื่อมีคนมาตรวจเช็คอัพ 100 คน ข้อมูลก็จะเข้าไปในฐานของคอมพิวเตอร์ แล้วจะมีเอไอช่วยตรวจจับความผิดปกติของผลจากห้องปฏิบัติการที่ตรวจ(แล็ป) และทำสรุปบอกแพทย์เพื่อช่วยให้แพทย์ใช้เวลาในการอ่านผลง่ายขึ้น และใช้ในการให้คำปรึกษากับคนไข้ ซึ่งเอไอตัวนี้ที่วิมุตใช้เป็นของสตาร์ตอัพคนไทยที่พัฒนาขึ้น
นอกจากนี้ วิมุตมีแผนและกำลังพิจารณาสตาร์ตอัพไทยที่จะร่วมลงทุนในการพัฒนาเอไอทางการแพทย์ และพร้อมเป็นPilot ในการร่วมพัฒนาเอไออื่นๆด้วย
“คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำเอไอมาใช้ในวงการแพทย์ หากมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยอย่างจริงจัง จะช่วยลดภาระงานของแพทย์หน้างานให้เบาลง โดยเฉพาะในรพ.ที่มีคนไข้จำนวนมาก แต่ขอย้ำว่าปัจจุบัน เอไอยังเป็นเพียงตัวช่วย ในการคัดกรอง หรือวินิจฉัยโรค ไม่ใช่เอไอวินิจฉัยจริงๆเป็นเหมือนผู้ช่วยแพทย์ เอไอเป็นแค่ตัวช่วยคนที่รับผิดชอบก็ยังเป็นแพทย์ ส่วนดีมีแน่ต้องช่วยกันพัฒนา ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียโดยต้องดูข้อมูลบริษัทที่พัฒนาเอไอนั้นๆว่าฐานข้อมูลจะไปสู่ต่างประเทศหรือไม่ และเข้าได้กับกฎPDPA หรือไม่”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เอไอเข้ามาระยะหนึ่งแล้วและเข้าสู่ทุกวงการรวมถึงทางการแพทย์ แบ่งเป็น 1.เบสิค เอไอ(Basic AI) เช่น สถานการณ์โควิด-19ระบาดหนัก มีการคนรับสายอัตโนมัติ เป็นการนำเอไอมาเรียนรู้คำถามส่วนใหญ่ จึงเป็นเหมือนเอไอที่แนะนำว่าอาการเช่นนี้น่าจะเป็นอะไรอย่างไร เป็นเอไอตอบคำถาม ถ้ายกระดับขึ้นมาจะเป็นเอไอที่ช่วยในการวินิจฉัน เช่น เอ็กซเรย์ปอด เอไอแมมโมแกรมเต้านม เอไออัลตราซาวด์ระบบทางเดินอาหาร CT-scan เป็นต้น และ2.เจเนอเรทีฟ เอไอ(Generative AI) เช่น แชท GPT ที่เป็นเอไอในการประมวลผล อย่างเมื่อมีอาการนี้บวกผลแล็ปเป็นแบบนี้และผลเอ็กซเรย์เป็นแบบนี้แล้วน่าจะป่วยเป็นอะไร แต่เท่าที่ทราบยังไม่มีการใช้ในประเทศไทย คงจะมีการพัฒนากันต่อไป
รพ.เมดพาร์ค ยกระดับรักษาด้วย AI
รายงานการคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยีดิจิทัลประเทศไทย 2035 ของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีการคาดการณ์ตลาด AI ทั่วโลก ปี 2568 ว่า รายได้ของตลาดของ AI จะสูงถึง 6.02 ล้านล้านบาท จาก 4.35 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 และ “อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ” ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ
ที่ผ่านมา พบว่า โรงพยาบาลทั้งเอกชนและภาครัฐ ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัด รวมถึง AI มาใช้ทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น อาทิ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การเป็นต้นแบบของ “Smart Hospital” เริ่มจากแอปพลิเคชัน Siriraj Connect แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสุขภาพในรูปแบบออนไลน์
รวมถึงการให้คำปรึกษาทางไกล (Telemedicine) กับคนไข้ที่ไม่สะดวกมาที่โรงพยาบาลด้วย นำเทคโนโลยี 5G Cloud และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล สร้างประสบการณ์ที่ดีในการมารับบริการ
เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาด้วย AI
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนอย่าง โรงพยาบาลเมดพาร์ค ก็ได้มีการใช้ระบบ AI มาช่วยในการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์รังสีวินิจฉัย การใช้ AI เข้ามาช่วยในด้านการรักษาคนไข้มะเร็ง เพิ่มประสิทธิภาพรักษาผู้มีบุตรยาก ในศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (MedPark IVF) เป็นต้น
“พญ.จามรี เชื้อเพชระโสภณ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเมดพาร์ค ให้สัมภาษณ์ กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สมัยก่อน AI มีหน้าที่แค่ช่วยตัดสินใจ แต่ในปัจจุบันเนื่องจากข้อมูลที่สะสมมากขึ้น ทำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เฉพาะทางได้มากขึ้น หากถามว่าจะแทนที่คนได้หรือไม่ ทางการแพทย์ยังแทนไม่ได้ แต่อาจช่วยได้บางกรณี หรือการ Screening อ่านฟิล์มเอกซเรย์จำนวนมาก เพื่อดึงข้อมูลที่น่าสนใจที่คิดว่าผิดปกติ
สำหรับ รพ.เมดพาร์ค ได้มีการนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ค่อนข้างกว้างขวางเนื่องจากเป็นโรงพยาบาลรักษาโรคยากซับซ้อน เพราะฉะนั้น เวลาซื้อเทคโนโลยี 80-90% โดยเฉพาะเทคโนโลยีระดับสูง จะถูกฝัง AI เช่น การฉายแสงผู้ป่วย มีระบบ AI ดูการหายใจ เพื่อคำนวณการฉายแสงได้ตรงจุด รวมทั้ง โปรแกรมการคำนวณความหนาของร่างกายคนไข้ว่าจะต้องปล่อยแสงเอกซเรย์มากน้อยแค่ไหน และใหม่ที่สุด คือ การรักษาผู้มีบุตรยาก ในศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (MedPark IVF) เช่น การวิเคราะห์การผสมตัวอ่อน ดูความแข็งแรง และโอกาสจะฝังตัวหรือตั้งครรภ์ ทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงขึ้น
“นอกจากนี้ ในอนาคตคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพิ่มเติม โดยโรงพยาบาลตั้งใจว่าจะนำ Information Technology เข้ามาใช้ในส่วนต่างๆ เพราะ AI ไม่ได้ใช้แค่วิเคราะห์ภาพ แต่ยังสามารถนำมาใช้ใน Workflow ในชีวิตประจำวันด้วย เช่น การช่วยแพทย์อ่านและคัดเลือกฟิล์มเอกซเรย์ที่มีความผิดปกติมากที่สุด เพื่อให้สามารถบริการคนไข้ได้แม่นยำและรวดเร็ว เหมาะสม ในคนที่สมควรได้รับการดูแลก่อน เป็นแนวคิดที่ว่านำ AI มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ผลเพิ่ม Value ให้กับผู้ป่วย เสริมกระบวนการดูแลให้ดีขึ้น”
พญ.จามรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย Software AI ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพ และโรงเรียนแพทย์ ทั้งนี้ หากจะใช้ AI ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ที่ จะ ขายในไทย ต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อความน่าเชื่อถือ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากต่างประเทศ จะต้องได้รับการอนุญาตจาก อย.เช่นกัน
ที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย มีการทำคำแนะนำในการพิจารณาซื้อ AI ทางด้านรังสี นอกจากนี้ ยังมีรับตรวจสอบผลิตภัณฑ์ AI เกี่ยวกับ ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ปอด สำหรับผู้พัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ เพื่อเป็นหน่วยงานกลางที่เป็นมาตรฐาน อีกทั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังได้จัดทำหลักการทางจริยธรรมของ AI เพื่อดูแลและบริการระบบปัญญาประดิษฐ์ให้มีความน่าเชื่อถือ
ทั้งนี้การที่ประเทศไทยมีนโยบาย Medical Hub พญ.จามรี มองว่า เป็นการสนับสนุนให้เกิดการใช้ AI ในประเทศทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบมาตรฐานในประเทศไทยยังมีน้อย ทำให้การอนุมัติยังจำกัด ดังนั้น ภาครัฐ หากจะผลักดันการใช้ AI ให้กว้างขวางขึ้น จะต้องสนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม หรือมีหลักสูตร รวมถึงให้ตำแหน่ง งาน ที่ชัดเจน และรวมถึงการส่งเสริมสตาร์ตอัพกับภาคเอกชน ในการพัฒนา AI ให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ
AI เพื่อนคู่คิดแพทย์
ขณะเดียวกัน “ชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เพอเซ็ปทรา จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และบิ๊กดาต้า (Big Data) ซึ่งที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับ รพ.ศิริราช พัฒนาโซลูชันปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ ช่วยวินิจฉัยภาพเอกซเรย์ทรวงอก มองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยถือเป็นอันดับ 1 ในการนำ AI มาใช้ทางการแพทย์ และการแพทย์ไทยก็เป็นอันดับต้นๆ อีกทั้ง การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นอีกจุดสำคัญในการพัฒนาโซลูชั่นตอบโจทย์วงการแพทย์
“เทรนด์ในอนาคต อยากให้มอง AI เป็นเหมือนเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง ทิศทางจะเหมือนสมาร์ตโฟน ซึ่งในช่วงปี 2555 อาจจะยังใช้ไม่แพร่หลาย แต่ปัจจุบัน คำถามคือมีใครไม่ใช่สมาร์ตโฟน ผมว่าน้อย ดังนั้น AI กับวงการแพทย์ก็เช่นกัน ยกตัวอย่าง ฟิล์มเอกซเรย์ เมื่อถูกเปลี่ยนเป็นดิจิทัล สิ่งที่ตามมา คือ AI รวมถึงภาพการวินิจฉัยอื่นๆ เช่น การตรวจชิ้นเนื้อ เมื่อเปลี่ยนจากฟิล์มเป็นดิจิทัล AI ก็จะตามมาเช่นกัน”
“AI จะเป็นเพื่อนคู่คิดแพทย์ และแพทย์ คือ คนที่เปิดใจ ปรับใช้ ก็จะได้ประโยชน์ และการพัฒนาบริการในอนาคตมองว่า นอกจาก AI จะเข้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดแพทย์ ยังสามารถเป็นเพื่อนคู่คิดของผู้ป่วย ในการให้ความรู้ด้านข้อมูลสุขภาพที่ครบถ้วน ทำให้การดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเข้าใจเรื่องของเนื้อหาสุขภาพตัวเองได้มากขึ้น” ชัยวัฒน์ กล่าว