ยอดโควิด-19 รอบสัปดาห์ ผู้ติดเชื้อ 1,653 คน เฉลี่ย 236 คน/วัน เสียชีวิต 36 ราย
กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โควิด-19 ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 1,653 คน เฉลี่ย 236 รายต่อวัน เสียชีวิตรวม 36 ราย เฉลี่ยวันละ 5 ราย
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18-24 มิถุนายน 2566 ระบุว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,653 ราย เฉลี่ย 236 รายต่อวัน ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปี 2566 อยู่ที่ 27,645ราย
ขณะที่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ อยู่ที่ 265 ราย และ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 164 ราย ผู้เสียชีวิตจำนวน 36 ราย เฉลี่ยวันละ 5 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ต้นปี 2566 อยู่ที่ 659 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- อัปเดต! จุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ฟรี เดือน มิ.ย.66 เฉพาะวันเสาร์ - อาทิตย์
- 'หมอธีระ' เผยญี่ปุ่นโควิดระบาดเพิ่ม กว่า 90% เป็น Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB
- 'หมอธีระ' ชวนกวาดตาดู โควิด-19 รอบโลก โอมิครอน FU.1 ตรวจพบมากในจีน
ส่วนจำนวนการให้ "วัคซีนโควิด-19" ณ วันที่ 26 พ.ค.2566 มีการให้วัคซีนสะสม 144,951,341 โดส เพิ่มขึ้น 0 โดส ดังนี้
วัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 57,233,919 โดส เพิ่มขึ้น 0 โดส
วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 53,730,348 โดสเพิ่มขึ้น 0 โดส
ตั้งแต่เข็มที่ 3 ขึ้นไป 33,987,074 โดส เพิ่มขึ้น 0 โดส
ขณะที่ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.)รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ปรับปรุง 26/6/2566 เวลา 8:26 ระบุ คำถามที่ว่า "เราควรยุติการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster shot) เพื่อป้องกันโควิด-19 กันแล้วหรือไม่"
วัคซีนโควิด-19 โมโนวาเลนต์, ไบวาเลนต์, และไตรวาเลนต์ ต่างกันอย่างไร
คำตอบชัดเจนจากองค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) และองค์กรด้านสาธารณสุขของจีน รวมทั้งงานวิจัยที่ศูนย์จีโนมฯดำเนินการร่วมกับรพ. รัฐและเอกชนเพื่อศึกษาธรรมชาติของโควิด-19 จากอาสาสมัคร 15,171 คนในเขตพื้นที่ความเสี่ยงสูงในประเทศไทย ตลอด 3 ปีภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บ่งชี้ว่า
"ยังมีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง 608"
กล่าวคือ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ที่มีโรคประจําตัว, และกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะกลุ่มนี้หากติดเชื้อโควิดจะมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายมาก ทั้งนี้ในปัจจุบันจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆให้เห็นว่าวิวัฒนาการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมีการชะลอตัวหรือลดลง ยังคงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ร้ายแรงได้ตลอดเวลา
องค์การอนามัยโลก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ปรับแก้ไขแนวทางการให้วัคซีนโดยแนะนำว่า เด็กและวัยรุ่น อายุตั้งแต่ 6 เดือน-17 ปีที่มีสุขภาพดีอาจ "ไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน" อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุและกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงควรได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นภายใน 6 ถึง 12 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนครั้งสุดท้าย
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (US CDC) ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ได้แนะนำประชาชนสหรัฐฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันโควิด-19 แบบไบวาเลนต์ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปตามความสมัครใจ
วัคซีนเข็มกระตุ้นออกแบบมาเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ลดลงจากวัคซีนเข็มก่อนหน้านี้ และเพิ่มการป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่
จากการศึกษาโดย US CDC พบว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 สูงกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่ไม่ได้รับวัคซีนที่มีอายุระหว่าง 65-79 ปี มีอัตราการตายเป็น 23.7 เท่าของผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (แบบไบวาเลนต์) ในช่วงปลายของการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ BA.4/BA.5
สำหรับผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป อัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 10.3 เท่า
การศึกษาสรุปได้ว่าผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบไบวาเลนต์สามารถป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมาก มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนเสริมแบบโมโนวาเลนต์หรือไม่ได้รับวัคซีน
ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐจึงแนะนำให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และรับวัคซีนเสริมแบบไบวาเลนต์ตามเวลาที่กำหนด (6 เดือน-1 ปี นับจากเข็มสุดท้ายที่ฉีด)
คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีการติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB แบบไม่แสดงอาการ (asymptomatic infection) ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันในอดีตและมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ ทำให้คนที่แข็งแร็งสุขภาพดีมักจะไม่ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด โดยเฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อโควิดตระกูลโอไมครอน ทำให้หลายคนขณะนี้เลือกไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster vaccine) เนื่องจากไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องฉีดสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย หรือจากความกังวลใจในเรื่องผลข้างเคียง เช่น ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 แต่อาจกลายเป็นแหล่งรังโรคเคลื่อนที่ของโควิด-19 ได้ ฉะนั้นหากผู้ที่แข็งแร็งสุขภาพดี และไม่ได้ฉีดวัคซีนเมื่อพบปะกับ "ผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง" จึงควรพิจารณาป้องกันตนเองมิให้แพร่เชื้อด้วยการใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ