เผยผลวิจัย การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 กรณีมีอาการน้อย

เผยผลวิจัย การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 กรณีมีอาการน้อย

สวรส.เผยผลวิจัย ‘ประสิทธิภาพการใช้ฟ้าทะลายโจร ในผู้ป่วยโควิด-19’ ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ 
พร้อมพัฒนาสมุนไพรไทยด้วยมาตรฐานการวิจัยทางคลินิกสู่การใช้ได้จริงในระบบสุขภาพไทย

สมุนไพรนับเป็นภูมิปัญญาและเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นหากสามารถต่อยอดไปสู่การใช้ในระบบสุขภาพและการรักษา ซึ่งนั่นหมายถึงการยกระดับความมั่นคงทางยาของประเทศได้ในทางหนึ่ง

แต่ปัจจุบันการนำสมุนไพรมาใช้ทางการแพทย์ ขาดการวิจัยทางคลินิกที่ได้มาตรฐาน ทำให้สมุนไพรยังไม่เป็นที่ยอมรับและนำมาใช้ได้อย่างมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย

การขึ้นทะเบียนยาสมุนไพรเพื่อใช้ทางการแพทย์ ควรมีการระบุข้อบ่งใช้และข้อมูลความปลอดภัย เช่น ข้อควรระวัง ข้อห้ามใช้อย่างชัดเจน บนหลักฐานการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล

ในช่วงปี 2563 นับเป็นห้วงเวลาที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงขาดยาที่ใช้รักษา ทำให้ต้องใช้ยาที่มีอยู่ก่อนแล้วในขณะนั้น เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น

เช่น favipiravir รวมถึงยาจากสมุนไพรบางตัวที่มีแนวโน้มของสรรพคุณว่าอาจได้ผลในการทำลายเชื้อโควิด-19 อย่างเช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว และตำรับอื่นๆ

เผยผลวิจัย การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 กรณีมีอาการน้อย

แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่ชัดเจน และยังไม่มีผลยืนยันจากการวิจัยทางคลินิกที่ได้มาตรฐานสากล ที่ยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยของตัวยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อมั่นในการนำไปใช้ในการรักษาของแพทย์ด้วยเช่นกัน

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะองค์กรวิชาการจึงเห็นความสำคัญของการศึกษาวิจัยทั้งด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาฟ้าทะลายโจร เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ตลอดจนเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับการใช้ยาสมุนไพรไทยในระบบสุขภาพ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 สวรส. ได้จัดเวทีนำเสนอผลการวิจัยและถอดบทเรียนงานวิจัยทางคลินิก กรณีศึกษาชุดโครงการประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย

งานวิจัยกรณีดังกล่าวให้ความสำคัญกับการออกแบบและดำเนินงานวิจัยตามหลักการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี หรือ ICH GCP Guideline (International Conference on Harmonization Good Clinical Practice Guideline) เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรตามหลักวิทยาศาสตร์

โดยมีการปฏิบัติตามขั้นตอนวิจัยที่มีการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัยระหว่างทาง ตลอดจนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดยคณะกรรมการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัย (Data and Safety Monitoring Board: DSMB) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมคุณภาพงานวิจัยให้ได้มาตรฐานสากล และมีความน่าเชื่อถือ

ศ.เกียรติคุณ พญ.จันทรา เหล่าถาวร ประธานมูลนิธิ SIDCER-FERCAP กล่าวว่า หลักการสำคัญของ ICH GCP คืออาสามัครในงานวิจัยต้องปลอดภัย มีความเป็นอยู่ที่ดี และผลการวิจัยต้องเชื่อถือได้ ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างผู้วิจัย ผู้ให้ทุนวิจัย และคณะกรรมการจริยธรรมงานวิจัย

เผยผลวิจัย การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 กรณีมีอาการน้อย

ในการศึกษานี้ ผู้ให้ทุนวิจัย (สวรส.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ DSMB ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโรคที่ทำวิจัย ได้แก่ ด้านเภสัชวิทยาหรือพิษวิทยา, ด้านชีวสถิติหรือระบาดวิทยาคลินิก, ด้านการวิจัยทางคลินิก, ด้านจริยธรรมการวิจัย

กรรมการทุกคนต้องมีความเป็นอิสระจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผลิตภัณฑ์วิจัย มีหน้าที่หลักในการทบทวนข้อมูลการวิจัยเพื่อประเมินความปลอดภัยของอาสาสมัคร ความถูกต้อง ความก้าวหน้าของการดำเนินงานวิจัย ตั้งแต่ก่อนเริ่ม จนกระทั่งเสร็จสิ้นงานวิจัย

โดยเป็นการให้ข้อเสนอแนะผู้ให้ทุนวิจัย ว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขระหว่างทาง หรือจะยุติการวิจัยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเที่ยงตรงและความถูกต้องของข้อมูล รวมถึงการทบทวนข้อมูลความปลอดภัย

ข้อมูลการเบี่ยงเบนหรือฝ่าฝืนจากการวิจัย และการถอนตัวของอาสาสมัครเป็นระยะ ดังนั้น การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ DSMB จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการวิจัยทางคลินิก

   เผยผลวิจัย การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 กรณีมีอาการน้อย

การวิจัยศึกษาใน 2 พื้นที่หลักคือ จ.สระบุรี และ จ.ปราจีนบุรี โดย จ.สระบุรี มีพื้นที่ในการศึกษาวิจัย ได้แก่ Hospitel ไฮโฮเต็ล ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลหนองแค โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ (มศว.) ภายใต้การดูแลของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ จ.นครนายก

และสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในเขตสุขภาพที่ 4 ส่วน จ.ปราจีนบุรี มีพื้นที่ในการศึกษาวิจัย ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศวร

ทั้ง 2 พื้นที่ มีวัตถุประสงค์หลักในการพิสูจน์ประสิทธิศักย์ของยาฟ้าทะลายโจร ในการป้องกันการอักเสบของปอด ร่วมกับการลดปริมาณเชื้อในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อย พร้อมกับอาการข้างเคียงจากการใช้ยาฟ้าทะลายโจร

ภายใต้กระบวนการวิจัยทางคลินิกที่เป็นตามมาตรฐานสากล มีกลุ่มรักษาคือกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจร กลุ่มควบคุมคือกลุ่มที่ได้รับยาหลอก เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาฟ้าทะลายโจรให้ชัดเจนตามสมมติฐาน

และเป็นการวิจัยที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ตลอดจนมีการกำกับติดตามและตรวจสอบความถูกต้องโดยคณะกรรมการ DSMB ตลอดการดำเนินงานวิจัย โดยการตรวจสอบข้อมูล ขั้นตอน 

ทั้งนี้ เกณฑ์คัดกรองอาสาสมัครเพื่อเข้าร่วมการวิจัย ได้แก่ เป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันผลการติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง อายุ 18-60 ปี วัดไข้ได้น้อยกว่า 38 องศาเซลเซียส มีอาการน้อย

และถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ต้องเป็นโรคประจำตัวที่ควบคุมได้แล้ว และจะคัดออกในกลุ่มที่ได้ยาฟ้าทะลายโจรมาก่อน และผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

ตลอดการดำเนินงานวิจัยมีการบันทึกข้อมูล รายงานผล และมีการตรวจทานโดยผู้กำกับดูแลการวิจัย (clinical monitor) ซึ่ง สวรส. เป็นผู้จัดหามาดำเนินงาน

เผยผลวิจัย การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 กรณีมีอาการน้อย

ทั้งนี้ โครงการวิจัยทั้งสองโครงการ มีการเลือกผู้ป่วยเข้าโครงการวิจัย โดย จ.สระบุรี มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ 396 คน จ.ปราจีนบุรี 271 คน และมีวิธีการเก็บข้อมูลเหมือนกัน แต่มีการใช้รูปแบบยาที่ต่างกัน

โดย จ.สระบุรี ใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจร ส่วน จ.ปราจีนบุรี ใช้ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร  ซึ่งแม้ทั้ง 2 พื้นที่จะมีขนาดในการใช้ยาที่ต่างกัน แต่ผลจากการศึกษาพบเหมือนกัน

โดยสรุปว่า

  • ยาฟ้าทะลายโจรไม่สามารถลดอัตราการเกิดปอดอักเสบ หรือลดอาการและลดปริมาณเชื้อไวรัสได้ เมื่อเทียบกับยาหลอก
  • การได้รับยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 5 วัน จะเกิดผลแทรกซ้อนต่อการทำงานของตับ

ซึ่งเป็นผลวิจัยที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ สามารถนำไปอ้างอิง และเป็นข้อควรระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ต่อไป

ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้จ่ายสารสกัดฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังอาจส่งผลต่อการทำงานของตับด้วย

ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า กรณีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรดังกล่าว นับเป็นงานวิจัยที่มีการพัฒนาก้าวไปอีกขั้นและมีความสำคัญต่อการพัฒนามาตรฐานการวิจัยทางคลินิก

เนื่องจากในกระบวนการวิจัยได้มีการออกแบบให้มีทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ภายใต้การดูแลความปลอดภัยของอาสาสมัครทั้งกลุ่มที่ได้รับยาฟ้าทะลายโจรและยาหลอกอย่างใกล้ชิด โดยคณะกรรมการ DSMB เพื่อความปลอดภัยของอาสาสมัคร

และผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่งานวิจัยทางคลินิกเรื่องอื่นๆ ควรนำไปเป็นแบบอย่าง  นอกจากนั้นงานวิจัยสมุนไพรยังสามารถขยับและเชื่อมโยงไปสู่โอกาสของการนำไปใช้ประโยชน์ในการแพทย์แผนปัจจุบัน

เผยผลวิจัย การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 กรณีมีอาการน้อย

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ไม่ว่าผลการวิจัยจะสรุปผลเป็นอย่างไร สวรส. ในฐานะที่เป็นองค์กรวิชาการ จะนำเสนอผลการวิจัยตามความจริงที่พบและข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัย

การวิจัยในครั้งนี้ เสมือนการเปิดประตูแห่งโอกาสในการพัฒนาการวิจัยด้านสมุนไพรให้มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ และเกิดการยอมรับมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนานักวิจัย

ทั้งนี้ในอนาคตการนำสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลัก ควรมีการทำวิจัยทางคลินิกที่มีมาตรฐานในรูปแบบเช่นเดียวกับงานวิจัยดังกล่าว เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างมั่นใจมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ด้าน ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. ในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลักของงานวิจัยดังกล่าว ทิ้งท้ายว่า กรณีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและความปลอดภัยของฟ้าทะลายโจรดังกล่าว เป็นงานวิจัยที่มีความท้าทายในแง่มุมที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาตลอดการดำเนินงาน

เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และลักษณะอาการทางคลินิกมีความแตกต่างกันระหว่างสายพันธุ์ ทำให้การพิสูจน์ประสิทธิศักย์ของยาฟ้าทะลายโจรทำได้ค่อนข้างยาก ประกอบกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลรักษาโรคก็มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งเป็นอุปสรรคในการรับอาสาสมัครเข้าร่วมการวิจัย

จากการศึกษานี้เชื่อว่า สวรส. ในฐานะแหล่งทุน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างได้เรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่นำไปสู่การยกระดับการใช้ยาสมุนไพรในระบบสุขภาพไทย

ข้อมูลจาก :

  • โครงการประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจรเปรียบเทียบกับยาบรรเทาอาการมาตรฐานในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย (ยังไม่มีปอดอักเสบแรกรับ) : การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
  • โครงการประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจร เทียบกับการรักษามาตรฐานในการป้องกันการเกิดปอดอักเสบในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย : การทดลองแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุมและหลายสถานที่วิจัย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
  • การพัฒนาการกำกับดูแลข้อมูลและการติดตามความปลอดภัยโครงการวิจัยคลินิกของฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
  • การประชุมสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยทางคลินิก: กรณีศึกษาชุดโครงการประสิทธิศักย์และความปลอดภัยของการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย วันที่ 20 มิ.ย. 2566