เปิดเป้าหมาย จัดตั้ง'ศูนย์ฯผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงในพื้นที่อีอีซี'
กรมวิทย์ ผนึกอีอีซี MOU จัดตั้ง 'ศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐาน GMP ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หวังช่วยให้คนไทยเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีและยานวัตกรรมในราคาเหมาะสม จับต้องได้ คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ
Keypoint:
- เปิดเป้าหมายความร่วมมือระหว่างกรมวิทย์ และอีอีซี ในการจัดตั้ง 'ศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
- ยกระดับเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพ ดูแลประชาชน และทำให้เกิดความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศ
- ช่วยคนไทยให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ ยานวัตกรรมในราคาเหมาะสม จับต้องได้ คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ
อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเป็นภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยได้ ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการลงทุนและพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของกระทรวงสาธารณสุขระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2559-2568)
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์ของโลกมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่ามหาศาลซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ ความต้องการของมนุษย์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ และการพัฒนาระบบสาธารณสุข
สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย คาดว่า ในปี 2570 ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทย จะมีมูลค่ากว่า 3.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่าแสนล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 8.1% ในช่วงระหว่างปี 2562 - 2570 ขณะที่ ตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% และคาดว่าจะมีมูลค่า 7.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2570
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'หมอธีระ' เผยสถิติรอบโลก อัตราติดเชื้อโควิด - ป่วยนอนรพ.เพิ่มขึ้นชัดเจน
รู้จักศูนย์ฯผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐานGMP
ขณะที่งานวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยา พบว่า ปี 2565 – 2566 มูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เติบโตเฉลี่ย 5.0 – 7.0% ต่อปี และมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ
วันนี้ (21 ส.ค.2566)กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าประเทศไทยและทั่วโลกต่างประสบปัญหาเรื่องสุขภาพของผู้คน ซึ่ง ‘เรื่องสุขภาพ’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกประเทศต้องดำเนินการให้คนในประเทศมีสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ
จากงานวิจัยที่ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เคยจัดทำขึ้น ระบุว่า อีก 10-20 ปี ข้างหน้าค่าใช้จ่ายสุขภาพจะสูงขึ้นจำนวนมาก โดยมาจากปัจจัยพื้นฐาน เรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของโรค จากโรคระบาดวิทยาเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
อีกทั้ง จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงที่ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ประเทศไทยไม่สามารถคิดค้น หรือผลิตได้เอง ต้องพึ่งพาซื้อหาจากต่างประเทศ และมีราคาค่อนข้างสูงมาก จับต้องไม่ได้ ไม่สามารถนำมาใช้กับผู้คนในประเทศไทยทั่วไปได้
คนไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์-ยาในราคาจับต้องได้
“ตอนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ประเทศไทยได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในบางเรื่อง และคาดว่าจะสามารถพาตัวเองไปจุดที่พัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงได้ อย่าง กรมวิทย์ ได้พัฒนาน้ำยา RT-PCR ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก หรือกรมวิทย์ ได้ร่วมกับม.มหิดล และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ในการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความพร้อมระดับหนึ่ง แต่การจะทำเรื่องใหญ่ที่ทำให้สามารถผลิตยาชีววัตถุได้ คงไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว ต้องมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วน"นพ.ศุภกิจ กล่าว
นอกจากนั้น ประเทศไทยมีนโยบาย BCG มีการกำหนดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงในการช่วยรักษาพยาบาลผู้คน อีกทั้ง มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงในหลายๆ เรื่อง อาทิ ไบโอซิมิลาร์ หรือยาชีววัตถุคล้ายคลึง (biosimilars) ซึ่งเป็นการผลิตยาที่มีลักษณะใกล้เคียงกันของยาต้นแบบที่หมดอายุสิทธิบัตร
รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปค่อนข้างเร็ว อย่างเรื่องของ จีโนม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ 50,000 ราย ขณะนี้ทำได้ 20,000 กว่าราย ในอนาคตจะมี Mapping หรือแผนที่ของประเทศไทยว่า มีโรคอะไรบ้าง และจะป้องกันไม่ให้เป็นโรคอะไรมากขึ้น อีกทั้ง มีการค้นหาโรคยากๆ เด็กแรกเกิด เป็นต้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่ากรมวิทย์ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) มาโดยตลอด และจากการพูดคุยหารือเบื้องต้น กับทาง อีอีซี ซึ่งให้ความสนใจในเรื่องนี้ จนเกิดความร่วมมือครั้งนี้ คาดว่าจะมีการขยายเครือข่ายไปทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเดินหน้าไปสู่การแพทย์ขั้นสูง
"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการเพิ่มพัฒนาทักษะ ศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ความชำนาญ และส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เทคโนโลยีทางการแพย์ขั้นสูงในต่างประเทศ และจะสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพราะเรื่องนี้จะให้ทางภาครัฐขับเคลื่อนอย่างเดียวคงไม่ได้ ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกัน เพื่อประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพ การดูแลประชาชน และทำให้เกิดความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศ" นพ.ศุภกิจ กล่าว
อีอีซี พร้อมสร้างระบบนิเวศ ยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างระบบนิเวศทางด้านสุขภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง อย่าง เทคโนโลยีเซลล์บำบัด วิศวกรรมเนื้อเยื่อต่างๆ ในปัจจุบันมีการนำสเต็มเซลล์มาในการรักษาโรค ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของการเกิดโรคเมื่อมีความผิดปกติในเซลล์ หรือในDNA เป็นการสร้างความหวังในการรักษาโรคยากและซับซ้อน เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคติดต่อทางพันธุ์กรรม เป็นต้น
"อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ อีอีซี มุ่งหวังจะขับเคลื่อนให้เกิดความเข้มแข็ง โดยเราจะช่วยเพิ่มต้นทุนทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดงานวิจัย การพัฒนา และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการดูแลรักษา ป้องกัน และให้บริการทางการแพทย์ ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของคนทั่วโลกมาดูแลสุขภาพ หรือมาใช้บริการทางการแพทย์ของไทย รวมถึงการลงทุนทางด้านการแพทย์ และการดึงคนเก่งให้มาอยู่ประเทศไทย เพราะปัจจัยหลักๆ ที่คนทั่วโลกอยากมาทำงาน หรือมาอยู่ที่ประเทศไทย คือเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดี และทางการแพทย์" ดร.จุฬา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐานสากล Good Manufacturing Practice (GMP) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
อันนำไปสู่การทำผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งภายใต้เศรษฐศาสตร์ของประเทศที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ หรือ BCG โมเดล ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นับเป็นโอกาสใหม่ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และเป็นการยกระดับ ความสามารถการแข่งขันของประเทศ