เฝ้าระวัง!! ฝีดาษลิงระบาดหนัก เผยติดเชื้อทางน้ำลาย และละอองฝอยได้

เฝ้าระวัง!! ฝีดาษลิงระบาดหนัก เผยติดเชื้อทางน้ำลาย และละอองฝอยได้

น่าห่วง!สถานการณ์ 'โรคฝีดาษลิง'ในไทยรุนแรง พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กทม.พบแล้ว 152 ราย ขณะที่นักไวรัสวิทยา เผยโรคฝีดาษลิง แพร่เชื้อทางน้ำลาย และละอองฝอยได้ ไม่ใช่ทางการสัมผัสใกล้ชิด หรือสารคัดหลั่งอย่างเดียว แนะประชาชนป้องกันดูแลตนเอง

Keypoint:

  • พบผู้ป่วยติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กทม.น่าห่วง ขณะนี้พบผู้ป่วยแล้ว 152 ราย เร่งลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนป้องกันดูแลตัวเอง 
  • นักไวรัสวิทยา เผยบทความจากต่างประเทศชี้ชัดฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อติดต่อทางน้ำลาย และละอองฝอยได้ ไม่ใช่เฉพาะการสัมผัสใกล้ชิด หรือสารคัดหลั่งเท่านั้น
  • แพทย์ย้ำฝีดาษลิง ป้องกันได้งดการสัมผัสแนบชิดกับผิวหนังผู้ป่วยและไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน  แยกตัวออกจากบุคคลอื่นทันที  และงดหลับนอนกับคนแปลกหน้า หากติดเชื้อห้ามแคะ แกะ เกาผื่นหรือตุ่ม เพื่อป้องกันแผลเป็น

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสฝีดาษลิงในไทยรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงแรก ประมาณ ก.ค. 2565 – เม.ย. 2566 จะเป็นต่างชาติจำนวนหนึ่งแต่ในการติดเชื้อช่วงหลังๆ นี้ผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยเกือบ 100% ส่วนต่างชาติที่ติดเชื้อช่วงหลังก็เป็นการมาติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นการนำเชื้อมาจากต่างประเทศแล้ว

โดยกระทรวงสาธารณสุขรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่มมากขึ้นใน 19 จังหวัด สถานการณ์น่าห่วง สถานการณ์ถือว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะยังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว และสามารถแพร่ต่อได้

สำหรับพื้นที่ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมากคือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว และจากรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -15 สิงหาคม มี 3 จังหวัดที่อยู่ในระดับสีแดงคือ กทม. 136 คน นนทบุรี 14 คน ชลบุรี 9 คน

ล่าสุด กทม.ได้มีการหารือแผนรับมือผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงพุ่งอันดับ 1 ของประเทศ ยอดป่วย 152 ราย เร่งลงพื้นที่ชุมชนให้ความรู้ประชาชนป้องกันตัวเอง ตรวจหาผู้สัมผัสใกล้ชิด

เฝ้าระวัง!! ฝีดาษลิงระบาดหนัก เผยติดเชื้อทางน้ำลาย และละอองฝอยได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ย้อนรอย 'ฝีดาษลิง' ก่อนมีผู้เสียชีวิต เริ่มระบาดตอนไหน ใครกลุ่มเสี่ยงบ้าง?

WHO ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินสำหรับโรค mpox

 

  • บทความต่างชาติเผย ฝีดาษลิงติดเชื้อทางน้ำลาย ละอองฝอยได้

วันนี้ (22 ส.ค.2566) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่าอ่านเจอบทความนึงใน The Lancet เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อจาก Stanford เกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสฝีดาษลิงในปัจจุบัน มีย่อหน้านึงน่าสนใจและน่าจะเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงเจอเคสขาขึ้นแบบนี้

ความเข้าใจเดิมเชื่อว่าไวรัสฝีดาษลิงแพร่ได้จากการสัมผัสใกล้ชิดโดยเฉพาะผ่านกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับแผลติดเชื้อโดยตรงทางผิวหนัง ในบทความนี้ให้ความเห็นว่าโอกาสการแพร่เชื้อด้วยวิธีอื่น เช่น ผ่านทางน้ำลายหรือละอองฝอยมีความเป็นไปได้เช่นกัน เชื้อไวรัสที่ติดเข้าสู่ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมีโอกาสอยู่ในตัวผู้ป่วยได้นานกว่าปกติ ซึ่งไวรัสสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองในตัวผู้ป่วยนั้นเช่นกัน

เฝ้าระวัง!! ฝีดาษลิงระบาดหนัก เผยติดเชื้อทางน้ำลาย และละอองฝอยได้

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจรวมถึงความสามารถของไวรัสในการติดเชื้อ หรือ ช่องทางการติดเชื้อเข้าสู่โฮสต์ที่เปลี่ยนไป นอกจากการเคสที่ติดเข้าสู่ผู้ป่วยภูมิบกพร่องแล้ว การติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการชัดเจน (cryptic transmission) ก็สามารถเปิดโอกาสให้ไวรัสเปลี่ยนแปลงเช่นกัน


เฝ้าระวัง 'โรคฝีดาษลิง'งดสัมผัสใกล้ชิด งดมีเพศสัมพันธ์คนแปลกหน้า

เมื่อไวรัสเปลี่ยนแปลงไปโอกาสการติดเชื้อด้วยช่องทางอื่นก็จะง่ายขึ้น ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างเคสที่เพิ่งตีพิมพ์ใน The Lancet Microbe ที่ทีมวิจัยในสเปนไปพบว่า ตัวอย่างน้ำลายของผู้ป่วยฝีดาษลิงมีสารพันธุกรรมของไวรัสอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย และ ไวรัสในตัวอย่างน้ำลายนั้นสามารถเพาะเชื้อขึ้นในห้องปฏิบัติการ คือ เป็นไวรัสที่ไปต่อได้

ผู้แต่งจบย่อหน้าด้วยประโยคที่น่าสนใจว่า เมื่อไวรัสเปลี่ยนไปจนอาจจะใช้ปริมาณไวรัสปริมาณไม่มากในการเกิดอาการของโรค การแพร่กระจายของเชื้อผ่านละอองฝอยก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน...ประเด็นนี้น่าสนใจและควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง

รศ. พญ. พรรณพิศ สุวรรณกูล อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า 'โรคฝีดาษลิง' (Monkeypox) เป็นโรคติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษ ส่วนใหญ่พบในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ไม่ร้ายแรงและมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ แต่มักพบในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกตและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้จาก

  • สัตว์สู่คน สามารถติดต่อได้จากสัตว์กัดแทะทุกชนิด โดยติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ตุ่มหนองของสัตว์ ผื่นสัตว์ การถูกสัตว์ติดเชื้อกัดหรือข่วน การรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ติดเชื้อและปรุงไม่สุก
  • คนสู่คน โดยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งอย่างไอ จาม ผื่น ตุ่มหนอง น้ำหนอง สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วย ซึ่งมักมาจากการใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วย 

เฝ้าระวัง!! ฝีดาษลิงระบาดหนัก เผยติดเชื้อทางน้ำลาย และละอองฝอยได้

โดยโรคฝีดาษลิง จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 5 – 20 วันหากสัมผัสเชื้อมากจะแสดงอาการได้เร็ว แต่หากสัมผัสเชื้อไม่มากอาการแสดงจะอยู่ที่ประมาณ 3 สัปดาห์ โดยอาการเริ่มแรกที่สังเกตได้ชัดเจนคือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อ่อนเพลีย

หลังจากนั้นประมาณ 4 – 5 วันจะมีผื่นจำนวนมากขึ้นบริเวณแขน ขา ลำตัว ใบหน้า โดยลักษณะผื่นช่วงแรกจะเป็นผื่นแดงหรือปื้นนูนแดง จากนั้นจะเป็นตุ่มน้ำใสขนาดใหญ่ ตุ่มหนองที่มีสะเก็ดคลุมแล้วแตกได้ ซึ่งความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต

แพทย์เฉพาะทางจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก โดยเฉพาะอาการมีไข้พร้อมกับตุ่มน้ำใสคือสัญญาณชัดเจนของโรคฝีดาษลิง โดยจะทำการตรวจหาสารพันธุกรรม Real – Time PCR โดยระยะเวลาการตรวจอยู่ที่ 24 – 48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ด้วยเทคนิค DNA Sequencing ที่ใช้ระยะเวลาการตรวจ 4 – 7 วัน

"เมื่อเป็นฝีดาษลิงสิ่งที่ต้องระวังคือ การแยกตัวออกจากบุคคลอื่นทันที แยกห้องนอน แยกห้องน้ำ แยกของใช้ ห้ามสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด  และงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ที่สำคัญคือห้ามแคะ แกะ เกาผื่นหรือตุ่ม เพื่อป้องกันแผลเป็นที่ทำให้เสียความมั่นใจได้"

ฝีดาษลิงเป็นแล้วหายเองได้ มียาต้านไวรัส

รศ. พญ. พรรณพิศ กล่าวต่อว่า ฝีดาษลิงเมื่อเป็นแล้วสามารถหายจากโรคเองได้ ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์จึงหายจากโรค และมียาต้านไวรัสในกลุ่มของฝีดาษคนและฝีดาษลิงที่สามารถรักษาโรคได้

การป้องกันฝีดาษลิง ทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก ระวังสัตว์กัดหรือข่วน ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง 

สัตว์ที่เป็นพาหะฝีดาษลิงต้องระมัดระวัง :สัตว์กัดแทะทุกชนิด ไม่ใช่เฉพาะลิงเท่านั้น สัตว์ตระกูลหนูต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ รวมถึงกระรอก กระต่ายที่ล้วนแต่เป็นพาหะไวรัสนี้ได้

การฉีดวัคซีนป้องกัน ฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ด้วย ดังนั้นผู้สูงวัยที่เคยฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อนจะยังคงมีภูมิคุ้มกันป้องกันฝีดาษลิงได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษมาก่อน ซึ่งขณะนี้วัคซีนฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษที่มีอยู่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ผลิตโดยบริษัทของเดนมาร์ก ซึ่งผลิตจากไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับฝีดาษคนชื่อ Modified Vaccinia Ankara Bavarian Nordic ที่ปริมาณของวัคซีนยังมีไม่มากและผลข้างเคียงยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากขณะนี้โรคฝีดาษลิงยังไม่ถือเป็นการระบาดและยังไม่มีวัคซีนอยู่ในประเทศไทย

เฝ้าระวัง!! ฝีดาษลิงระบาดหนัก เผยติดเชื้อทางน้ำลาย และละอองฝอยได้

ทั้งนี้  การปลูกฝีในอดีตช่วยป้องกันฝีดาษลิง ผู้ที่ได้รับการปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษในอดีตมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันฝีดาษลิงได้ เพียงแต่ประเทศไทยเลิกปลูกฝีไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เนื่องจากฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษหมดไปจากโลกในขณะนั้น ดังนั้นการสังเกตว่าตนเองเคยได้รับการปลูกฝีแล้วหรือไม่สามารถสังเกตได้จากแผลเป็นบริเวณต้นแขนซ้าย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแผลแบนเรียบหรือมีหลุมลงไปเล็กน้อย ประกอบกับต้องสังเกตปีเกิด นั่นคือหากเกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ยังไม่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแน่นอน ส่วนในผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2517 แต่ก่อนปี พ.ศ. 2523 นับเป็นช่วงก้ำกึ่งต้องตรวจดูแผลอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อจะยืนยันได้ว่าเคยปลูกฝีมาแล้วหรือไม่

อ้างอิง: Anan Jongkaewwattana และโรงพยาบาลกรุงเทพ