'นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว'นั่งรมว.สาธารณสุข ตั้ง 5 อธิบดีใหม่
เรียกได้ว่าเป็นการประเดิมข้อพิจารณาแรกของ 'นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว' เมื่อเข้ามานั่งตำแหน่งรมว.สาธารณสุข 'ครม.เศรษฐา 1' คือ การแต่งตั้งอธิบดีใหม่ 5 กรม จากทั้งหมด 8 กรม นับเป็น “บิ๊กล็อต”
Keypoints:
- เมื่อเข้ารับตำแหน่งรมว.สาธารณสุข ในครม. เศรษฐา1 ของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สิ่งแรกที่ประเดิมดำเนินการคือการแต่งตั้งอธิบดีใหม่ 5 คน และผู้ตรวจใหม่อีก 2 คน
- เจาะโอกาสคนที่จะคว้าตำแหน่ง ภายใต้การคุมกระทรวงสาธารณสุขของพรรคเพื่อไทย ที่ห่างหายไปราว 10 ปี “คนของพรรค” อาจเกษียณไปมากแล้ว
- นโยบายสาธารณสุขที่มีการหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยเจ้าของโควต้า รมว.สาธารณสุข เป็นการ “ยกระดับ 30บาทรักษาทุกโรค”
จัดทัพตั้ง 5 อธิบดีใหม่
เนื่องจากสิ้นปีงบประมาณ 2566 ในวันที่ 30 กันยายน 2566 อธิบดีในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการเกษียณอายุราชการ 5 คน ประกอบด้วย
1.นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)
2.นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย
3.นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)
4.นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
5.นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
หากรมว.สาธารณสุขคนใหม่เข้ามาแล้ว ไม่รีบพิจารณานำเข้าครม.และประเดิมในการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่เกษียณให้ทันภายใน 30 ก.ย.2566 กรมก็อาจจะเกิดสูญญากาศในการขับเคลื่อนงานเกิดขึ้นได้
อธิบดีและรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ
- รองปลัด 4 คน คือ
1.นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
2.นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ
3.นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช
4.นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์
- อธิบดี 3 คน คือ
1.นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์
2.นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)
3.พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต
ทั้งนี้ หากดูจากธรรมเนียมปฏิบัติของสธ.ในการแต่งตั้งข้าราชการ ระดับ ซี 10 โดยเฉพาะตำแหน่ง “อธิบดี” ซึ่งต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.นั้น จะเป็นเรื่องของรมว.สาธารณสุข ที่มักพิจารณาจากการปรับโยกจากตำแหน่งอธิบดี
แล้วตามด้วยการส่งออกรองปลัดสธ.ไปยังกรมต่างๆในตำแหน่งอธิบดี หรืออาจจะข้ามขั้นจากผู้ตรวจราชการฯเป็นอธิบดีเลย แต่ก็จะเกิดขึ้นน้อย เพราะส่วนใหญ่แล้วจากผู้ตรวจราชการ จะขยับมานั่งตำแหน่ง รองปลัดก่อน
โอกาสผู้ที่จะคว้าตำแหน่ง
ทว่า ครั้งนี้ อธิบดีเกษียณพร้อมกัน 5 คน หากมีการสลับตำแหน่งอธิบดีที่ไม่เกษียณและส่งออกรองปลัดไปอยู่ระดับกรมทั้งหมด 4 คน ก็ยังไม่พอ จะต้องมีการแต่งตั้งผู้ตรวจฯเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีด้วยอย่างน้อย 1 คนหรือมากกว่านั้น หากกรณีที่มีการคงรองปลัดในปัจจุบันให้อยู่ตำแหน่งเดิม
ใครมีโอกาสที่จะได้รับการแต่งตั้งเข้าทรงกรม ตำแหน่งอธิบดีใหม่ 5 คน ภายใต้การคุมกระทรวงของพรรคเพื่อไทย ถือว่าคาดเดาได้ยาก เนื่องจากเพื่อไทยห่างหายจากสธ.ไปนานเกือบ 10 ปี เส้นสายคนในระดับบิ๊กที่เคยมีก็เหมือนจะเกษียณไปแล้วไม่น้อย
ไม่เพียงเท่านี้ จะต้องมีการแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงใหม่ ที่เป็นระดับ 10 เช่นกัน แทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ 2 คนด้วย คือ
- นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ผู้ตรวจฯเขต 1
- นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจฯเขต 8
และอีก 10 คนที่เหลือใครจะได้เข้าไปสู่สังกัดกรม หรือรองปลัด และรองอธิบดีใครจะได้ขยับขึ้นมาเป็น “ผู้ตรวจใหม่”
น่าจับตาอย่างยิ่งว่า “บิ๊กสธ.” ในยุคนี้ ใครจะเป็นคนในสายตาของเพื่อไทย และจะมีการแบ่งตำแหน่งให้พลังประชารัฐ เจ้าของโควต้า รมช.สาธารณสุข เข้ามาร่วมเสนอชื่อด้วยหรือไม่
นโยบายเพื่อไทย
เพื่อไทยชูนโยบาย “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค” โดยมี 10 นโยบายย่อย ได้แก่
1.นัดหมอจากบ้าน นัดคิวออนไลน์ เลือกเวลาพบแพทย์ล่วงหน้าได้ ไม่ต้องเสียเวลาทั้งวันที่รพ.
2.ตรวจเลือดใกล้บ้าน เจาะเลือด ตรวจแล็ปจากคลินิกใกล้บ้านแล้วรับการรักษาที่รพ.ในวันถัดไป
3.บัตรประชาชนใบเดียว รักษาฟรีทั่วไทย
4.เลือกหมอ เลือกรพ.ได้เอง เพราะประวัติการรักษา ถูกเก็บในคลาวด์ ข้อมูลไม่รั่วไหล รักษาได้ทุกรพ. ส่งต่อ หรือเปลี่ยนหมอได้ทันที
5.ลดขั้นตอน ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยระบบที่ช่วยจัดตารางงานบุคลากรอย่างชัดเจน ประชาชนไม่ต้องรอนาน แพทย์พยาบาล ไม่ต้องเหนื่อยเพิ่ม
6.รับยาใกล้บ้าน ตรวจเสร็จ กลับบ้านได้เลยรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน โรคเรื้อรังอาการคงที่รับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน
7.ตรวจ/รับยา วัคซีนป้องกันมะเร็งฟรีผู้หญิงรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรี ผู้ชายตรวจคัดกรอง/รับยาป้องกันมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี
8.สุขภาพจิตรักษาใกล้บ้าน โรงพยาบาลใกล้บ้านมีแผนกจิตเวชที่เข้าถึงได้ทันที ปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านเทเลเมดิซีน
9.สถานชีวาภิบาล ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้ายครอบครัวไร้กังวล ลูกหลานวัยทำงานไม่เสียรายได้
10.กทม.50เขต 50 รพ. กทม.ต้องมีรพ.รัฐขนาด 120 เตียงขึ้นไปประจำทุกเขต
นโยบายพลังประชารัฐ
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้นสังกัด “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.สาธารณสุข มุ่งเรื่อง "สวัสดิการประชารัฐ จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน" และ“ดูแลทุกช่วงวัย แม่ บุตร ธิดา ประชารัฐ” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มารดาประชารัฐ ฝากครรภ์ จนคลอด แบ่งตามช่วงอายุ ได้แก่
- อายุ 0-6 ปี จะได้รับการดูแลโภชนาการอาหารครบถ้วน ตามพัฒนาการของวัย เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง โดยสนับสนุนเงินให้เดือนละ 10,000 บาท 5 เดือน เริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 4 เดือน จนถึง 9 เดือน นอกจากนี้ จะช่วยเหลือเงินค่าเลี้ยงบุตร 3,000 บาท ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 ปี
- อายุ 7-18 สวัสดิการการศึกษาที่มีคุณภาพ จัดสรรโครงการอาหารกลางวันฟรี มีทางเลือกที่หลากหลายในการศึกษาให้เหมาะสมกับศักยภาพและบริบทของสังคม
- อายุ 18-40 จะมี สวัสดิการคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และ สวัสดิการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเพื่อประกอบอาชีพ เปิดโอกาสให้เรียนฟรี
- อายุ 40-60 มุ่งเน้นสวัสดิการสุขภาพ โดยมีหลักประกันสุขภาพที่คุ้มครองและครอบคลุมประชาชนทุกคน
- และ อายุ 60 ปีขึ้นไป เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บ้านพัก และสวัสดิการรักษาพยาบาล และจัดตั้งโรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคม
เหนืออื่นใด หวังใจอย่างยิ่งว่า เมื่อ “นพ.ชลน่าน” เข้ามารับตำแหน่งแล้ว จะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายในทันที คงจะไม่ต้องเดินสาย “แนะนำตัว” หรือ “เรียนรู้งาน”แต่ละกรมอีก เนื่องจากถือเป็นบุคคลที่เข้าใจงานสาธารณสุขดีอยู่แล้วคนหนึ่ง ทั้งในฐานะเคยเป็นผอ.รพ.สธ.และตำแหน่งรมช.สาธารณสุขมาก่อน
เพราะประเทศชาตินั้นเสียเวลากว่าจะได้ ครม. เศรษฐา 1 และรัฐบาลใหม่มานานแล้ว นับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง 2566