'ฝีดาษวานร' รายใหม่ในไทย  เกือบ 70 % ติดเอชไอวีร่วม

'ฝีดาษวานร' รายใหม่ในไทย  เกือบ 70 % ติดเอชไอวีร่วม

ฝีดาษวานรรายใหม่ในไทย  เกือบ 70 % ติดเอชไอวีร่วม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักชาย มีประวัติมีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคน กรมควบคุมโรคแนะ 5 ข้อป้องกันติดเชื้อ แค่ใส่ถุงยางอนามัยไม่ช่วยป้องกัน ย้ำงดมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก

       นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดของโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม - 18 กันยายน 2566)   มีรายงานพบผู้ป่วยรวม 385 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และในสัปดาห์นี้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 42 ราย เพศชาย 41 ราย เพศหญิง 1 ราย

  •  แบ่งเป็นสัญชาติไทย 38 ราย  (ร้อยละ 90.5) เมียนมา 2 ราย จีน 1 ราย อิตาลี 1 ราย
  •      ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบเป็นผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย 29 ราย ( ร้อยละ 69.0) ของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด
  •       ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักชาย 33 ราย  Bisexual 3 ราย ชายรักหญิง 3 ราย ไม่ระบุ 3 ราย
  •          และผู้ป่วยใหม่ 17 ราย หรือ (ร้อยละ 40.5) มีประวัติเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก   

    นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขอแนะนำสำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร ได้แก่

1. มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย

 2.ทำความสะอาดห้องหรือใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วยขณะผู้ป่วยมีอาการ

 3. เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะป่วย 

4. พูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่ปิด 

และ 5. นั่งชิดติดกับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยฝีดาษวานร โดนไอจามรดโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย
อาการฝีดาษวานรที่ต้องสังเกต
หากมีประวัติดังกล่าว ให้สังเกตอาการตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน

  • หากมีไข้ ปวดศีรษะ
  •  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ
  • หรือมีอาการเจ็บคอ คัดจมูก ไอ
  • มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือบริเวณรอบๆ
  • รวมถึงมีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า บริเวณปาก หรือ อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก เป็นต้น

      ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา พร้อมกับแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัว ที่พัก หรือ สถานที่ทำงาน

วิธีป้องกันติดฝีดาษวานร

    “โรคฝีดาษวานร สามารถป้องกันได้ โดยงดเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ทั้งนี้ การป้องกันด้วยการใส่ถุงยางอนามัยไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อนี้ เพราะการแนบชิดแม้ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยก็ติดเชื้อได้”นพ.โสภณกล่าว
      ขอให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัดร่วมกันเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งสื่อสารวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422                                                                                             

     ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายก่อนหน้านี้ว่า กรณีการติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมกับการติดเชื้อไอเอชวี จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวีแต่ได้รับยาต้านไวรัส สามารถควบคุมระดับภูมิคุ้มกันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรก็จะมีอาการของโรคฝีดาษคือ เป็นตุ่มหนอง ลักษณะคล้ายฝีเล็กๆ กระจายตามร่างกาย

2.กลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี ที่มีการติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำมาก เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย เมื่อติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วย จะทำให้ตุ่มหนองมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นกระจุกๆ มีจำนวนตุ่มฝีมาก

         “การเสียชีวิตอาจเกิดได้จากเชื้อเอชไอวี แต่ด้วยลักษณะที่ติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วยทำให้อาการที่แสดงออกมาจะมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยหรือติดเชื้อเอชไอวีแต่คุมได้ จึงไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเสียชีวิตจากเชื้อตัวไหน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ตายรายแรกติดเอชไอวี+ฝีดาษวานร

      สำกหรับผู้เสียชีวิต 1 รายนั้น กรมควบคุมโรครายงานว่าเป็นผู้ติดเชื้อไอวีและติดฝีดาษวานร  โดยผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี มีประวัติเป็นไข้ ปวดศีรษะ คัน และมีผื่นและตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี  ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 แพทย์สงสัยเป็นโรคฝีดาษวานร จึงส่งตัวอย่างตรวจยืนยันผลพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษวานร และขณะเดียวกันยังตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิส

      ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอตรวจพบภาวะติดเชื้อรา ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสของเอชไอวี ส่วนบริเวณผิวหนังมีผื่นแผลจากโรคฝีดาษวานรกระจายทั่วตัว ได้รับการรักษา จนครบ 4 สัปดาห์แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก ญาติจึงนำผู้ป่วยมารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร

    ตรวจพบว่ามีผื่นจากโรคฝีดาษวานรกระจายทั่วตัว และมีการตายของเนื้อเยื่อที่จมูกและคอเป็นบริเวณกว้าง มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แขนและขา มีภาวะปอดอักเสบ และอาการสมองอักเสบ ผลตรวจเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 16 เซลล์ต่อ มล. แสดงถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสฝีดาษวานรและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ต่อมาผู้ป่วยอาการทรุดลงและเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2566