'30บาทพลัส' ยกระดับการดูแลสุขภาวะทุกมิติ 5 Quick Win

'30บาทพลัส' ยกระดับการดูแลสุขภาวะทุกมิติ 5 Quick Win

รมต.สธ.ประกาศขับเคลื่อน '30บาทพลัส' ยกระดับการดูแลสุขภาวะทุกมิติ 5 Quick Win ต้องเห็นผลใน 100 วัน ดันวาระแห่งชาติ ‘เพิ่มอัตราการเกิด’ พร้อมเดินหน้าเป็นกระทรวงสร้างความมั่งคั่ง 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566)ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวในการประชุมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ต่อผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 500 คน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ภายใต้แนวคิด "พี่เล่าให้น้องฟัง รวมพลัง แล้วไปกันต่อ"ว่า  สธ.มีภารกิจดูแลสุขภาพคนไทยทั้งประเทศให้แข็งแรง เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศ จากนี้ขอให้ร่วมมือกันยกระดับ 30บาทพลัส ให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ต้องพร้อมรับมือความท้าทายสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง  เช่น สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ อัตราการเกิดที่ลดลง ขาดแคลนแรงงานในอนาคต ภาวะโลกร้อนสู่ยุคโลกเดือด ฝุ่น PM 2.5 ภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็นต้น

        การขับเคลื่อนสาธารณสุขไทยต่อจากนี้ คือ สาธารณสุขยุคใหม่ ปรับระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต่อยอดเศรษฐกิจไทย เติมเต็มบริการสุขภาพเพื่อประชาชน ยกระดับการดูแลสุขภาวะที่ดี ทั้งกาย ใจ ปัญญา เชื่อมกันทุกมิติ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุม รักษา และฟื้นฟู ด้วยนโยบาย 30บาทพลัส เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ครอบคลุมทุกพื้นที่

สำหรับ Quick Win 100 วันที่จะเร่งรัดให้เห็นผลลัพธ์โดยเร็วมี 5 เรื่อง คือ

 1.โครงการพระราชดำริ โดยคัดกรองมะเร็งในผู้ต้องขังทุกคน พัฒนา รพ.สมเด็จพระยุพราชและรพ.เฉลิมพระเกียรติเป็นรพ.อัจฉริยะต้นแบบ และสุขศาลาพระราชทานผ่านการรับรองคุณภาพทุกแห่ง

รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไตรมาส 2 ทั้งแว่นตาผู้สุงอายุ 72,000 อัน ผ่าตัดต้อกระจก 7,200 ดวง ฟันเทียม 72,000 คน ออกหน่วยพื้นที่ห่างไกล 720 อำเภอ ดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ 72,000 รูป และอาคารผู้ป่วยนอกเขตเมืองเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 72 แห่ง

2.ดิจิทัลสุขภาพ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่เป็นกระดูกสันหลังหลักในเรื่องนี้ ต่อไปนี้สามารถไปดูแลสุขภาพตัวเองได้ด้วยบัตรใบเดียวได้ ทุกที่ทุกแห่ง จะนำร่อง 4 เขตสุขภาพ คือ เขตสุขภาพที่ 1  เขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 12

3.สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร โดยมี Care D+ Team ในหน่วยบริการทุกระดับ  รวมถึงเรื่องอื่นๆ ค่าตอบแทนต่างๆ ทุกสายงานทุกวิชาชีพ รวมถึง การสู้กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ในเรื่องมีกสธ.เป็นคณะกรรมการของตัวเองมีกฎหมายรองรับ ในการจัดสรรตำแหน่งของกระทรวงเอง และความก้าวหน้าต่างๆ    

4.รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล โดยจัดตั้ง รพ. 120 เตียงในเขตดอนเมืองและเชียงใหม่

และ 5.สถานชีวาภิบาล ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  จัดตั้งจังหวัดละ 1 แห่ง จัดตั้ง Hospital at Home จังหวัดละ 1 แห่งและจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุทุกโรงพยาบาล โดยจะประกาศต้นแบบที่สำเร็จแล้วภายใน 100 วัน

ร่วมกับอีก 8 ประเด็นรวมเป็น 13 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

  • สุขภาพจิต/ยาเสพติด มีแผนกจิตเวช มีหอผู้ป่วยจิตเวชที่พร้อมให้บริการ มีศูนย์ธัญญารักษ์ทุกจังหวัด ให้บริการปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านทางระบบเทเลเมดิซีน 
  • มะเร็งครบวงจร โดยป้องกันคัดกรองรักษาอย่างรวดเร็ว ดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย โดยคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมในเพศหญิง มีการฉีดวัคซีนHPV 1 ล้านโดส  และในเพศชาย มะเร็งท่อน้ำดี ตับ อย่างน้อย  1 แสนคน มะเร็งปอด ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยการจัดตั้งกองทุนมะเร็ง และจัดตั้งทีมเชิงรุก CA Warrior เพื่อลดป่วยลดตาย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
  • การแพทย์ปฐมภูมิ เพิ่มความครอบคลุมการดูแลที่บ้านและชุมชน พัฒนาระบบนัดหมายพบหมอ ตรวจเลือด รับยาในหน่วยบริการใกล้บ้าน เสริมสร้างอนามัยโรงเรียนให้เข้มแข็ง และพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล  รวมถึง เน้นงานเด่นเรื่องส่งเสริมสุขภาพ
  • สาธารณสุขชายแดน พื้นที่เฉพาะ และกลุ่มเปราะบาง ต้องเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ชายแดนชายขอบ พื้นที่เฉพาะ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ มอร์แกน กลุ่มไร้รัฐ และกลุ่มเปราะบาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน 
  • พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย พัฒนาระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ เพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัยและรักษา CT Scan/ICU จัดให้มี Mobile Stroke Unit เพื่อลดการส่งต่อ
  • ส่งเสริมการมีบุตร ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเพิ่มอัตราการเกิดของเด็กที่มีคุณภาพ สร้างความเข้าใจการมีบุตรเมื่อพร้อม สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม มีลูก มีแต่ได้

         “นโยบายการส่งเสริมการมีลูก เป็นวาระแห่งชาติ เพิ่มอัตราการเกิดของเด็กคุณภาพ เป้าหมายสัมฤทธิ์ผล คิดการเสนอนายกรัฐมนตรีแล้วรับเป็นวาระแห่งชาติได้ภายใน 100 วัน ถือว่าเห็นผลเริ่มต้นในเรื่องนี้ ฉะนั้น อะไรที่เป็นข้อจำกัดด้านกฎหมาย  ก็ต้องเข้าไปปรับไปแก้รองรับ”นพ.ชลน่านกล่าว    

\'30บาทพลัส\' ยกระดับการดูแลสุขภาวะทุกมิติ 5 Quick Win

  • เศรษฐกิจสุขภาพ สธ.ต้องเป็นกระทรวงสร้างความมั่งคั่ง  Health for Wealth มีเมดิคัลฮับ  และเวลเนส เซ็นเตอร์ ประกาศเริ่มต้น 13 เวลเนสคอมมูนิตี้  มุ่งเรื่องอาหาร ออกกำลัง ไลฟ์สไตล์ และลดความเครียดต่างๆ  สร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) “หนึ่งเขตสุขภาพ หนึ่งพื้นที่อายุยืน” ในทุกจังหวัด พัฒนาศักยภาพสู่ศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง ดูแลสุขภาพครบวงจร ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
     
  •  นักท่องเที่ยวปลอดภัย ยกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร สถานที่ ผู้ให้บริการ ระบบเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคให้ทันสมัย ทันเวลา และง่ายต่อการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีเกิดโรคระบาด เพิ่มบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับดูแลผู้ป่วยวิกฤตอย่างครอบคลุม จะเป็นหลังบ้านเป็นหลักประกันความปลอดภัย ให้ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยว

         "การขับเคลื่อนจะสําเร็จลุล่วงเกิดประสิทธิผลสูงสุดได้ ด้วยพลังความคิด ความร่วมแรงร่วมใจของทุกคน เพื่อส่งมอบของขวัญด้านสุขภาพที่ดีที่สุดให้กับชาวไทย ขอให้มั่นใจว่า ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวกระทรวงสาธารณสุขยุคใหม่ MOPH Plus เป็นพลังในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด ยกระดับ 30 บาทพลัส เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน" นพ.ชลน่านกล่าว

     ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข  กล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบาย เพื่อยกระดับบริการสุขภาพสู่อนาคตสาธารณสุขไทยที่สร้างเศรษฐกิจ ด้วยการขยายบทบาทการดูแลระบบสุขภาพของคนในประเทศ ไปสู่การดูแลศักยภาพด้านอาหาร สมุนไพร การรักษาพยาบาล การท่องเที่ยว เป็นกลไกขับเคลื่อน ทำให้โลกเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพรองรับ การขับเคลื่อนให้สำเร็จลุล่วง ฝ่ายข้าราชการและฝ่ายการเมืองต้องร่วมมือและส่งเสริมกันในเชิงบวก
       ถือเป็นโอกาสที่ดีในการระดมสรรพกำลังและทรัพยากร ร่วมกันคิดและขับเคลื่อนสาธารณสุขไทยทั้งระบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ ให้เกิดการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนแข็งแรงทุกช่วงวัย ลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการผลิตและพัฒนาให้มีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียงพอต่อการให้บริการสุขภาพที่ดี มีคุณภาพสำหรับประชาชนทุกคน