'วัณโรค' ป่วยรายใหม่สูง ทำไทยติดตัวแดง
ประเทศไทย วัณโรคทำติดตัวแดง คาดป่วยรายใหม่ปีละกว่า 1 แสนราย เสียชีวิตมากกว่า 10,000รายต่อปี ตั้งเป้าปี 78 ยุติวัณโรค เปลี่ยนเป็นประเทศที่มีภาระวัณโรคต่ำ
Keypoints:
- สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่สูง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การยุติปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้เป็นสิ่งทำติดตัวแดง
- สายพันธุ์วัณโรคในประเทศไทย โดยพบเป็นสายพันธุ์ Lineage 1 (สายพันธุ์อินเดีย) มากที่สุด คือ 45.8 % สายพันธุ์ Lineage 2 (สายพันธุ์ปักกิ่ง) พบ 39.9 % กลุ่มเสี่ยง และวิธีการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ
- แนวทางยุติวัณโรคในประเทศไทย ตามที่กำหนดเป้าหมายให้ได้ภายในปี 2578 มุ่งใช้การวิธีการตรวจทางโมเลกุลที่รวดเร็วและมีความไวในการตรวจหาเชื้อ ใช้ AI ในการอ่านผลเอกซเรย์ทรวงอก คัดกรองผู้ป่วยวัณโรค
วัณโรคในประเทศไทย
กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กองวัณโรค รายงานสถานการณ์และการเฝ้าระวังวัณโรคประเทศไทย ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่า ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำ ของทุกประเภท (คนไทย ไม่ใช่คนไทย และเรือนจำ) ที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 35,951 ราย คิดเป็นอัตราการรายงานผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำ 54.0 ต่อแสน ประชากร
จากการคาดประมาณขององค์การอนามัยโลก ปี2565 คาดประมาณว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรค ราว 103,000 ราย คิดเป็น 143 ต่อประชากรแสนคน โดยมีผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวี ราว 8,900 ราย
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่าวัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคมากกว่าปีละ 10,000 ราย
ปัญหาวัณโรคในแรงงานข้ามชาติ ที่ประมาณการว่ามีมากถึง 4.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราป่วยวัณโรคสูงกว่าไทย มีการย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
การโยกย้ายถิ่นที่อยู่ที่ทำงาน และกำแพงด้านภาษาและวัฒนธรรม ทำให้ไม่สามารถคัดกรองวัณโรคได้อย่างครอบคลุม อัตราการรักษาสำเร็จต่ำ อัตราการขาดยาสูงกว่าคนไทยหลายเท่า และส่งผลกระทบต่อการดูแลป้องกันวัณโรคในคนไทย
วัณโรคติดตัวแดง
กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ตั้งแต่ปี 2560 มีเป้าหมายยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี 2578 ซึ่งขณะนี้บรรลุผลในระดับหนึ่ง โดยปี 2564 ไทยสามารถออกจากรายชื่อประเทศที่มีปัญหาวัณโรคดื้อยามากที่สุดในโลกได้สำเร็จ
แต่ยังอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่สูงสุด และมีวัณโรคร่วมกับโรคเอดส์สูงสุด
“การควบคุม ต่อต้านวัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีแผนที่จะยุติเรื่องนี้ ถ้าสามารถดำเนินการ ตัวชี้วัดที่รับมาจากยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)ซึ่งในเรื่องนี้เป็นตัวแดงอยู่ ถ้าปลดตัวนี้ได้ ตัวชี้วัดที่จะประเมินศักยภาพและการทำหน้าที่ของสธ.ก็จะลดลงไปได้มาก” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุขกล่าว
สายพันธุ์วัณโรคในไทย
ทีมวิจัยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (National Institute of Infectious Diseases, Japan), มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) และศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ (CENMIG) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเก็บข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคเป็นระยะเวลาตั้งแต่ ปี 2560-2563 ในจ.เชียงราย พบว่า มีเชื้อวัณโรคที่สามารถเพาะเชื้อขึ้น และสกัดสารพันธุกรรมมาตรวจหาสายพันธุ์ด้วยวิธีถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (whole genome sequencing) จำนวน 592 ตัวอย่าง สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคได้ 4 สายพันธุ์ คือ Lineage 1-4
- โดยพบเป็นสายพันธุ์ Lineage 1 (สายพันธุ์อินเดีย) มากที่สุด คือ 45.8 %
- สายพันธุ์ Lineage 2 (สายพันธุ์ปักกิ่ง) พบ 39.9 % ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของประเทศไทยที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคในประเทศสูง เนื่องจากมีการเชื่อมโยงของผู้คน เชื้อวัณโรคมาจากทั้งสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคในแถบมหาสมุทรอินเดีย และจากสายพันธุ์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออก
กลุ่มเสี่ยง-วิธีป้องกันติดวัณโรค
วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถติดต่อได้ด้วยระบบทางเดินหายใจและติดต่อจากคนสู่คน พบได้ทั่วไป แต่จะพบมากที่สุดในกลุ่มเสี่ยง
- ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีที่สูบบุหรี่ หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร่วมกับโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตเรื้อรังที่รับยากดภูมิคุ้มกัน โรคปอดฝุ่นหิน
- ประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เช่น ชุมชนแออัด นักโทษในเรือนจำ สถานสงเคราะห์ บ้านพักคนพิการ คนไร้ที่พึ่ง ผู้ใช้สารเสพติด แรงงานต่างด้าว
การป้องกันวัณโรค ให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
- ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง
- หากมีผู้ป่วยวัณโรคในบ้านต้องให้รับประทานยาให้ครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวัน พร้อมให้สมาชิกในครอบครัวไปตรวจคัดกรองการติดเชื้อเพื่อรับประทานยาป้องกัน
แนวทางยุติวัณโรคในไทย
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการอภิปรายของภาคส่วนที่หลากหลาย (Multistakeholder panel) ในหัวข้อเร่งดำเนินการหลายภาคส่วนเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดการดูแลวัณโรคอย่างมีคุณภาพโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและอย่างเท่าเทียมกันภายใต้บริบทของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับสูงว่าด้วยการต่อสู้กับวัณโรค หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-Level Meeting on the Fight against Tuberculosis) ระหว่างห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78
นพ.นิติ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูง ทั้งวัณโรค วัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยและวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multidrug-resistant TB: MDR-TB) โดยแนวโน้มอุบัติการณ์ของวัณโรคของไทยลดลงในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่วัณโรคก็ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยที่ต้องเร่งจัดการและแก้ไขการแพร่ระบาดของวัณโรค
ใช้การวิธีการตรวจทางโมเลกุลที่รวดเร็วและมีความไวในการตรวจหาเชื้อวัณโรคและวัณโรคดื้อยา รวมถึงสนับสนุนให้มีการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และประเมินความไวต่อยาไปพร้อมๆ กัน เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
ใช้ AIคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค
ใช้ AI ในการอ่านผลเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งได้มีประสิทธิภาพในการระบุบุคคลที่เป็นวัณโรคจากภาพรังสีทรวงอกที่ผิดปกติ หลังจากนั้นผู้ที่ถูกตั้งค่าสถานะโดย AI จะถูกทดสอบเสมหะทันที ซึ่งช่วยให้วินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำ
ปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยวัณโรคตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้ประเทศต่างๆ ให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคระยะสั้น 9 เดือน เพื่อให้ผู้ป่วยลดระยะเวลาในการรับประทานยายาวนาน ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสของการรักษาครบได้มากขึ้น รวมถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานด้วยสูตรยา BPaL/BPaLM สิ่งเหล่านี้ช่วยปรับปรุงคุณภาพของการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR/RR-TB) อย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มผลลัพธ์ที่ดีกว่า
“ประเทศไทยได้มุ่งมั่นที่จะยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี พ.ศ.2578 ด้วยนโยบายที่เข้มแข็งและการอุทิศตนของชุมชนด้านการดูแลสุขภาพของเรา โดยที่มีพัฒนาการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคในไทย กำลังเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีภาระวัณโรคต่ำ”นพ.นิติกล่าว