อภ.เร่งผลิตและจัดส่ง 'ยาโอเซลทามิเวียร์ รักษาไข้หวัดใหญ่' ทันต่อผู้ป่วย
องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เร่งผลิตและจัดส่ง 'ยาโอเซลทามิเวียร์ รักษาไข้หวัดใหญ่' ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้ป่วย
พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการผลิตยาโอเซลทามิเวียร์(Oseltamivir) ยารักษาไข้หวัดใหญ่ และการกระจายยาไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ว่า เพื่อให้ยาทันต่อความต้องการของ องค์การฯได้มีการเพิ่มกำลังการผลิต โดยมีการจัดสรรกำลังคนทั้งที่โรงงานผลิตยารังสิต 1 และโรงงานผลิตยาที่ พระราม6 โดยใช้คนทั้งสองโรงงานช่วยกัน
รวมทั้งปรับแผนการทำงานแต่ละกระบวนการให้ทำงานแบบคู่ขนาน เช่น ทำการผลิตและวิเคราะห์คุณภาพยาไปพร้อมกัน นอกจากนี้ยังได้เปิดกะทั้งกลางวันและกลางคืน ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ระบาดหนัก!! ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ 2023-2024 ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง
โควิด-19 , ไข้หวัดใหญ่ เผยพบผู้ป่วยหลายรายติดเชื้อพร้อมกัน
'ไข้หวัดใหญ่' ภัยร้ายปลายฝนต้นหนาว รุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไปหลายเท่า !
เพิ่มสายการผลิต และจัดส่งยาไข้หวัดใหญ่
รวมทั้งเพิ่มสายการผลิตในขั้นตอนการบรรจุผงยาลงแคปซูล และการตรวจเช็คน้ำหนักของยาในแต่ละแคปซูล ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 4 เท่า และได้ให้ความสำคัญกับการผลิตยาสำหรับใช้ในเด็กเป็นหลักก่อน ได้แก่ ขนาด 30 มิลลิกรัม 45 มิลลิกรัม สำหรับใช้ในเด็ก ซึ่งขณะนี้องค์การฯได้เร่งจัดส่งยาที่มีการสั่งเข้ามาของเดือนกันยายน 2566 ทยอยส่งหมดแล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับยาของผู้ใหญ่ ขนาด 75 มิลลิกรัม นั้น ปัจจุบันได้มีการเฉลี่ยส่งหรือส่งมอบบางส่วนในแต่ละคำสั่งซื้อ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการได้ประมาณ 80 % และ องค์การฯ สามารถผลิตขึ้นคลังได้ 1,800 กล่อง (450,000 แคปซูล) เพื่อจัดส่งได้ทุก 2 - 3 วัน
เร่งทยอยส่ง เพียงพอในการดูแลผู้ป่วย
ทั้งนี้ หลังจากที่หน่วยผลิตได้นำยาขึ้นคลังแล้วจะจัดส่งยาแบบยาด่วน ได้ภายใน 1 วัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใน 3 วันในพื้นที่ต่างจังหวัด คาดว่าจะส่งยาได้ทั้งหมดภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ในส่วนของยาที่มีการสั่งเข้ามาเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2566 ก็สามารถทยอยส่งเร่งด่วนได้ตามที่องค์การฯวางแผนไว้เช่นกัน
“องค์การเภสัชกรรม มีวัตถุดิบในการผลิตยา Oseltamivir เหลืออยู่ทั้งหมด 2,032 กิโลกรัม จะสามารถผลิตยา Oseltamivir ทั้ง 3 ขนาด รวมกันได้ถึง 24,561,000 แคปซูล ซึ่งเพียงพอกับสถานการณ์การระบาดไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้น” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าว