นายกฯ แต่งตั้ง 'แพทองธาร' เป็นประธานพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ

นายกฯ แต่งตั้ง 'แพทองธาร' เป็นประธานพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ

นายกฯ แต่งตั้ง 'แพทองธาร ชินวัตร' เป็นประธานพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข บูรณาการความร่วมมือ สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวของประเทศ สู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอุตสาหกรรมการแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทย

Key Point : 

  • นายกฯ แต่งตั้ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อน บูรณาการทำงาน ยกระดับสุขภาพคนไทย
  • แพทองธาร ชูพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ป่วย สู่ระบบดิจิทัล เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรักษา ผ่านการยื่นบัตรประชาชนใบเดียว
  • สธ. เร่งขับเคลื่อน 5 นโยบาย จาก 13 นโยบาย Quick Win 100 วัน สร้างร่วมมือทุกภาคส่วน ก้าวข้ามความท้าทาย และสร้างระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยการประชุมครั้งนี้มี 5 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ นโยบายยกระดับ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ , มะเร็งครบวงจร การให้วัคซีน HPV , การตั้งสถานชีวาภิบาล พัฒนาระบบผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย , การเพิ่มการเข้าถึงการบริการในเขตกรุงเทพมหานคร รวมถึงการดูแลเรื่องสุขภาพจิต และยาเสพติด เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้แก่คนไทยทุกคน

 

เศรษฐา กล่าวว่า การขับเคลื่อนทั้ง 5 นโยบายเร่งด่วน รวมถึงนโยบายอื่นๆ ล้วนสอดรับกับนโยบายรัฐบาล ที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน จึงเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นชุดขับเคลื่อน ติดตาม และกำกับการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปอย่างบูรณาการ และมีประสิทธิภาพ โดยให้ แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวของประเทศ ให้คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

 

“ในนามของรัฐบาล จะเดินหน้าขับเคลื่อนการสาธารณสุขของประเทศไทย ยกระดับบริการสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมสำหรับทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ให้ทุกคนมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างเท่าถึง และเป็นธรรม”

 

พัฒนาหลักประกันสุขภาพ 

'แพทองธาร ชินวัตร' รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เผยว่า การได้รับบริการสุขภาพ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค วินิจฉัยวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และการฟื้นฟูสุขภาพหลังการรักษาโรค ประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาท รักษาทุกโรค ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน

 

นโยบายดังกล่าวครอบคลุมการจัดหาหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน การเพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มคุณภาพบริการ และลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ ทั้งนี้ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี 2531 – 2560 หลังจากดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า ครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลมีจำนวนลดลง เห็นได้ชัดจาก 2.5 แสนครัวเรือนในปี 2531 เหลือ 5.2 หมื่นครัวเรือนในปี 2560 

 

 

ความครอบคลุมหลักประกันสุขภาพของไทย ได้ขยายให้ครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 และในปี 2565 สามารถครอบคลุมประชากรได้กว่า 99.6% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศขององค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งอยู่ที่ 98% 

 

“นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประสบความสำเร็จหลังจากประกาศใช้มา 20 ปี และในวันนี้จำเป็นต้องยกระดับนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพสังคมให้สอดคล้องกับสังคม และวิถีชีวิตปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายดังกล่าวเหมาะสมกับประชาชนทุกพื้นที่ในประเทศ และปูทางสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้นของโครงสร้างระบบสาธารณสุขในทุกมิติ"

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องพัฒนา

ที่ผ่านมา มีประชาชนที่เข้าถึงสิทธิการรักษาในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เนื่องจากการกระจายจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่เหมาะสม ขาดแคลนพยาบาล และระบบส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความแออัด ระยะเวลารอการรักษา ประชาชนเข้าถึงการแพทย์ได้อย่างยากลำบาก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา เงินทอง ในการเดินทางเข้ามาในตัวอำเภอเพื่อรับการรักษา และต้องรอคอยในระยะเวลานาน

 

ขณะเดียวกัน การก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีเทคโนโลยี นวัตกรรม เกิดขึ้นมากมายในการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ การแพทย์ สาธารณสุข ทั้งการตรวจป้องกันวินิจฉัย ดูแลรักษา นัดหมาย ส่งต่อ จัดการฐานข้อมูลอย่างเชื่อมโยง

 

“ก้าวต่อไปในการยกระดับประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงมุ่งเน้นในการกระจายการรักษาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเวลาจำนวนมากที่ต้องเสียไป ผู้ป่วยเอง ญาติที่เผชิญในขณะนี้คือ การใช้เวลามากเกินไปในการรอ นโยบาย 30 รักษาได้ทุกที่ จะพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด เพื่อให้สะดวก และรวดเร็วต่อการสืบค้นข้อมูลคนไข้ และประวัติการรักษา ผ่านการยื่นบัตรประชาชนใบเดียว หากโรคไม่ร้ายแรง สามารถจ่ายยาออนไลน์ แต่หากเป็นโรคที่ต้องไปพบแพทย์ก็สามารถนัดเวลาล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ได้เช่นกันเพื่อประวัติเวลา หากต้องการใช้ผลเลือดสามารถตรวจเลือดที่คลินิกใกล้บ้าน และนำผลเลือดไปพบแพทย์ในวันถัดไป”

 

พลิกโฉมระบบบริการแบบดิจิทัล 
 
แพทองธาร กล่าวต่อไปว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยเข้ามาพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ภายใต้ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง โดยเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชน อำนวยความสะดวกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลที่เจ้าตัวอนุญาต ไปใช้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนการบริการ เช่น การนัดหมายออนไลน์ ใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางได้มากขึ้น ไร้ข้อจำกัดโดยใช้ระบบเทเลเมดิซีน พร้อมกับส่งยาถึงบ้านผู้ป่วย 
 

“ทั้งหมดนี้ มั่นใจว่าหากนโยบายการยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสร็จสมบูรณ์ ประเทศไทยจะมีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถการดูแลสุขภาพของพี่น้องคนไทย อย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

 

ระบบสาธารณสุขต้องปรับตัวก้าวกระโดด

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากอดีตถึงปัจจุบัน สาธารณสุขไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีรากฐานที่ดี เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อย่างไรก็ดี ในสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ที่ซับซ้อน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบสาธารณสุข ต้องปรับตัวอย่างก้าวกระโดดเพื่อปิดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ยกระดับคุณภาพการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชน

 

กระทรวงสาธารณสุข มีกระบวนการพัฒนานโยบาย ผ่านกระบวนการการวิเคราะห์ พิจารณาอย่างถี่ถ้วนจากกรอบผังรัฐธรรมนูญ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติคำนึงถึง ผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ที่เป็นผลลัพธ์เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาด้านเศรษฐกิจ OECD และ ภูมิภาคอาเซียน ปี 2566 และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

จากการสำรวจประชาชน ระหว่างวันที่ 22 – 29 พ.ค.2566 มาเป็นแนวทางจัดทำนโยบาย โดยคำนึงถึงภาพอนาคตระบบสุขภาพใน 10 ปีข้างหน้า และภาพอนาคตของระบบสาธารณสุขไทยที่พึงประสงค์ นำมาประมวลทั้งหมด และกำหนดเป็นนโยบาย ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ระดมความคิดสู่นโยบาย 13 นโยบาย เพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษา ฟื้นฟูสุขภาพ และที่สำคัญ เพิ่มมิติของการสร้างงาน สร้างรายได้ ต่อยอดเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

 

เป้าหมายสำคัญคือ ดูแลสุขภาพ ให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีทุกมิติทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และมิติทางสังคมทุกพื้นที่ โดย นโยบายสาธารณสุข พ.ศ.2567 ในระยะสั้นและเร่งด่วน (Quick Win 100 วัน) จำเป็นต้องผลักดัน 13 นโยบาย ได้แก่

1.พัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ และโครงการเฉลิมพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์คือ คัดกรองมะเร็งผู้ต้องขังทุกราย ,โรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบในโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 10 แห่ง และโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูลฯ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ,สุขศาลาพระราชทานผ่านการรับรองคุณภาพทุกแห่ง

2.โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล ขนาด 120 เตียง จะประกาศตั้งโรงพยาบาลแรกในเขตดอนเมือง ซึ่งจะมีการก่อสร้างใหม่ ส่วนงบประมาณอยู่ระหว่างการพิจารณา

3.สุขภาพจิต/ยาเสพติด ให้มีมินิธัญญารักษ์ดูแลบำบัดผู้ติดยาเสพติดทุกจังหวัด และงานจิตเวชทุกอำเภอ

4.มะเร็งครบวงจร ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มอายุ 11-20 ปี หรือระดับชั้น ป.5- มหาวิทยาลัยปี 2 จำนวน 1 ล้านโดส ในเดือนตุลาคม นี้ ,คัดกรองพยาธิใบไม้ตับ 1 แสนคนในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

5.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร มีการตั้งทีมแคร์ดีพลัสในสถานบริการทุกระดับ ด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจระบบสุขภาพกับญาติและคนไข้ โดยเฉพาะในแผนกฉุกเฉิน และส่วนงานที่มีความแออัด ,บรรจุข้าราชการพิเศษครบทุกตำแหน่ง และได้รับสิทธิเลื่อนเงินเดือนในช่วงลาศึกษาต่อ จากเดิมที่จะหยุดการขึ้นเงินเดือนไว้ 3 ปี

6.การแพทย์ปฐมภูมิ ตรวจเลือด รับยา การแพทย์ทางไกลเทเลเมดิซีน 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล และ 1 อำเภอ 1 โรงเรียน อนามัยโรงเรียน

7.สาธารณสุขชายแดน และพื้นที่เฉพาะ ขึ้นทะเบียนเบิกจ่ายเป็นเรียลไทม์บุคคลมีปัญหาสถานะและสิทธิ กลุ่มเฉพาะ 5 จังหวัด

8.สถานชีวาภิบาล ตั้งจังหวัดละ 1 แห่ง อาจจะในสถานที่ที่มีอยู่แล้วของพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลชุมชน หรือวัด เป็นต้น ,Hospital @Home หรือโฮมหวอด และมีคลินิกผู้สูงอายุทุกโรงพยาบาล

9. พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย เติมเต็มศักยภาพให้ รพช.ที่จะรับการดูแลในระดับทุติยภูมิ มีการกำหนดเป้าหมาย เพิ่มศักยภาพ วินิจฉัยโรคด้วยเครื่องซีที เครื่อง MRI

10.ดิจิทัลสุขภาพ เป็นโครงการบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกโรคได้ทุกที่ โดยจะเริ่มนำร่องระยะต้น 4 เขตสุขภาพ จำนวน 27 จังหวัด

11.ส่งเสริมการมีบุตร ตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จังหวัดละ 1 แห่ง และคัดกรองทารกแรกเกิดจากเดิม 24 กลุ่มโรค เพิ่มเป็น 40 กลุ่มโรค

12.เศรษฐกิจสุขภาพ ประกาศให้มี Wellness Community เขตสุขภาพละ 1 แห่ง และอาจจะเพิ่มเติมเป็นรายจังหวัดที่มีความพร้อมคือ เชียงใหม่ และน่าน ,ขึ้นทะเบียน Wellness center 500 แห่ง ,ออกใบอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน 100 รายการ และสร้างงานสร้างอาชีพ 500 คน เช่น นวด

13.นักท่องเที่ยวปลอดภัย ให้มีพื้นที่ Safety เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ,สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) จัดให้มี 1 เขต 1 Skydoctor

 

ขับเคลื่อน 5 ประเด็นหลัก

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่

2. มะเร็งครบวงจร โดยเฉพาะ HPV จำนวน 1 ล้านโดส

3. สถานธรรมาภิบาล

4.การเข้าถึงการบริการในเขตเมืองโดยเฉพาะใน กทม. และ จ.เชียงใหม่

5. ยาเสพติดและการดูแลสุขภาพจิต

 

“ทั้งหมดเป็นประเด็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน เพราะมิติด้านสุขภาพเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง เพื่อผลักดันให้ไปสู่เป้าหมาย ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดโดยเฉพาะ Quick Win 100 วัน เพื่อดูแลคนไทยทั้งประเทศให้แข็งแรง เป็นพื้นฐานสำคัญ และขับเคลื่อนประเทศ ในนามของ สธ. พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย และสร้างระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพยิ่งขี้น สร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ลดภาระบุคลากร นำไปสู่การสร้างความมั่นคงของประเทศในระยะยาวต่อไป”

 

สปสช. ปรับบริการ เพิ่มความรวดเร็ว

ดร.นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ได้เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ ไม่เพียงเป็นตัวอย่างในประเทศ แต่เป็นตัวอย่างให้กับทั่วโลก ที่จะเปลี่ยนแนวคิดจากระบบสุขภาพจากระบบสงเคราะห์ เป็นสิทธิของพี่น้องประชาชน วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีในการปฏิรูปอีกครั้ง ของการใช้บัตรประชาชนใบเดียว ให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น

 

"เมื่อมีการเชื่อมข้อมูล บูรณาการข้อมูล เพื่อให้เชื่อมทุกระบบเข้าด้วยกัน หน่วยบริการมีความสะดวกในการส่งข้อมูล ประชาชนจะมีความสะดวกในการเข้ารับบริการ อีกทั้ง สปสช. ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน และหน่วยบริการ จะได้มีส่วนร่วมในการให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ หน่วยบริการเมื่อมีการเชื่อมข้อมูลครบวงจร สปสช. จะได้มีการจ่ายค่าบริการได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยใช้ระบบการตรวจสอบที่ทันสมัยอย่าง AI มาตรวจสอบต่อไป"

 

ภายใต้นโยบาย และการปฏิรูปดังกล่าว สปสช. มีหน้าที่อำนวยความสะดวกใน 2 ส่วน ได้แก่ 1. อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน  ที่ผ่านมา มีการจัดตั้งสายด่วน 1330 มากว่า 20 ปีที่ พิสูจน์ให้เห็นว่า สายด่วน 1330 เป็นที่พึ่งของประชาชนทั้งในสถานการณ์ปกติ และช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา รวมถึง เสริมระบบเทเลเมดิซีน และเพิ่มอาสาสมัครทั้งพยาบาลที่เกษียณอายุแล้ว หรือผู้พิการ เข้ามาช่วยตอบคำถามประชาชนในระหว่างการขับเคลื่อนการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยเปิดทุกช่องทางให้ประชาชนติดต่อกับ สปสช. ได้ ไม่ว่าจะไลน์ออฟฟิศเชียล เฟซบุ๊ก และแพลตฟอร์มอื่นๆ

 

การเพิ่มคู่สายนอกจากจะอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนแล้ว ยังเปิดคู่สายอำนวยความสะดวกแก่หน่วยบริการที่ให้บริการ เชื่อมโยงข้อมูล สนับสนุนการส่งต่อ และช่วยหาหน่วยบริการเอกชนเข้ามาอำนวยความสะดวกประชาชนในระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคเพิ่มขึ้น โดยหารือกับสภาวิชาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานชีวาภิบาล ร้านยาชุมชนอบอุ่น และเอกชนต่างๆ ที่จะเข้าไปทำงานเชิงรุก คลินิกพยาบาล โมบายคลินิก เทเลเมดิซีน คลินิกแพทย์แผนไทย และคลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น

 

ถัดมา 2. การอำนวยความสะดวกหน่วยบริการ จะมีการปรับกลไกการให้บริการ เพิ่มงบประมาณเพื่อความรวดเร็วในการจัดสรรให้แก่หน่วยบริการ เพื่อให้มีความมั่นใจในการให้บริการพี่น้องประชาชน ปรับระบบการจ่ายเงินล่วงหน้าในการดูแลประชาชนให้กับระบบ นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ไปรับบริการ จะเร่งในการจ่ายงบประมาณให้เร็วขึ้น เชื่อว่าดำเนินการได้ไม่เกิน 3 วัน และหากประชาชนจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล จะเร่งการจ่ายอย่างช้าไม่เกิน 14 วัน โดยหารือกับหน่วยบริการทุกสังกัดในช่วงระยะนำร่องเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ

 

"นอกจากนี้ งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ให้บริการกับประชาชนทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นการบริการวัคซีนมะเร็งปากมดลูก สถานชีวาภิบาล หรือจิตเวชเรื้อรังในชุมชน หวังว่าการประชุมในวันนี้ และบทบาทของ สปสช. ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนร่วมในการปฏิรูประบบสุขภาพอีกครั้ง หลังจาก 20 ปีที่แล้ว ที่ได้ปฏิรูประบบ 30 บาทรักษาทุกโรคมา" เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์