แพทย์แผนไทย X Soft Power ผลักดัน 'นวด-อาหาร-สมุนไพร ท็อป 3 เอเชีย
สธ.ดึงภูมิปัญญาและแพทย์แผนไทย ขับเคลื่อน Soft Power ประเทศ ดันนวดไทย ในต่างประเทศต้องการปีละ 10,000 คน -อาหารไทยเพื่อสุขภาพ แนวโน้มรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.74 % - สมุนไพรตั้งเป้าปี 70 มูลค่าบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท ท็อป 3 ของเอเชีย
เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2566 ที่โรงแรมริชมอนด์ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ “การประชุมสื่อสารนโยบายมุ่งเน้นและการมอบนโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประจําปีงบประมาณ 2567 ว่า ประเทศไทยมีความโดดเด่นของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรที่สามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างลงตัว
ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพได้ชัดเจน จะได้เห็นได้จากช่วงสถานการณ์โควิด 19 คนหันมาสนใจด้านสุขภาพ อาหารไทย และสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดําเนินการของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการผลักดันเศรษฐกิจสุขภาพ เช่น ส่งเสริมนวดไทยเพื่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ อาหารไทยเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการดูแลสุขภาพใน Wellness Communities
นวด-อาหาร Soft power
รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์หรือ Soft Powerของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความรู้ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้รวมทั้งอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาต่อยอด ศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อนํามาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม
นวดไทย ถือเป็นอัตลักษณ์ของไทย เป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขให้ความสําคัญกับการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น จึงได้ผลิตบุคลากรให้บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพ และผ่านการรับรองกว่า 30,000 คน ทั้งในภาครัฐและเอกชน
อาหารไทย เป็นอีกหนึ่งSoft power ที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวด้านอาหารสูงถึง 20% ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า รายได้จากอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.74 % และในเดือนธันวาคม 2566 กําลังจะมีงาน Kick off มหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอาหารเพื่อสุขภาพ ที่จ.เพชรบูรณ์
15สมุนไพรสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ
และสมุนไพรไทย ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ประกาศ สมุนไพร Herbal Champions 15 รายการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติฉบับที่ 2พ.ศ. 2566 - 2570 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่า มีการวางเป้าหมายออกสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ สมุนไพรที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาต่อยอด 3 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และกระชายดํา
และกลุ่มที่ 2คือ สมุนไพรที่มีศักยภาพและต้องการความต่อเนื่องในการพัฒนา 12 รายการได้แก่ กระชาย มะขามป้อม ไพล กวาวเครือขาว ขิง กระท่อม ว่านหางจระเข้ บัวบก มะระขี้นก กัญชง กัญชา และเพชรสังฆาต ในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองสมุนไพร สร้างความเข้มแข็งและสร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุนไพรให้แก่ชุมชน หลายจังหวัดได้มีการพัฒนาต่อยอดพืช/สมุนไพร ให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้แก่ชุมชน
“นโยบายมุ่งเน้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เรื่องการสร้างเศรษฐกิจสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร โดยสร้างต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Healthy Cities Model) ผ่าน Wellness Communities ,ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ,อาหารไทยเพื่อสุขภาพ และนวดไทย อีกทั้ง จะต้องสร้างความเชื่อมั่นที่ดีให้แก่ประชาชน ,ร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อวิจัยและต่อยอดการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร สู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างและสร้างการรับรู้ในคุณประโยชน์อย่างต่อเนื่อง”สันติกล่าว
3เป้าหมายในปี 70
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ภาพรวมแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี(พ.ศ.2566-2570) โดยเป้าหมายการขับเคลื่อน(Ultimate Goals)ภายในปี 2570 มี 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.ประชาชนเชื่อมั่น เมื่อเจ็บป่วยประชาชนดูแลสุขภาพตนเองด้วยยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นเป็น 10 % 2.บริการเป็นเลิศ ประชาชนเลือกใช้บริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 10 %
และ3.ภูมิปัญญาสร้างคุณค่า ลำดับของมูลค่าการบริโภคสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท และเป็นท็อป 3 ของเอเชีย โดยปี 2566 มูลค่าอยู่ที่ 56,994 ล้านบาท และเป็นลำดับ 4 ของเอเชีย รองจากจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
2 จุดเน้นนโยบายในปี 67
สำหรับนโยบายกรม ประจำปี 2567 จุดเน้นการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ 1.ยกระดับการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกสู่การหนุนเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ โดยเฉพาะนวดไทย ซึ่งในต่างประเทศมีความต้องการแรงงานกลุ่มนี้ปีละเป็นหมื่นคน จึงมีเป้าหมายจำนวนผู้สำเร็จการอบรมนวดไทย 5,000คนภายใน 6 เดือนเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ
อาหารไทย ,ผลิตภัณฑ์สมุนไพร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทั่วประเทศมี 93 แห่งใน 28 จังหวัด และWellness communities ขับเคลื่อนศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย(TWD) ปัจจุบันผ่านการรับรองแล้ว 36 แห่ง แบบที่พักนักท่องเที่ยว 13 แห่ง ภัตตาคาร 6 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 4 แห่ง สปาเพื่อสุขภาพ 10 แห่ง และสถานพยาบาล 3 แห่ง โดยจะมีการพัฒนาศูนย์ Wellness ที่ตอนนี้มีอยู่ 459 แห่งให้เป็น TWD มากขึ้น
และ2.Service plan ผลักดันให้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีบทบาทสำคัญ สร้างความเชื่อมั่นการจัดบริการดูแลสุขภาพ ในระดับปฐมภูมิมีป้าหมายประชาชนที่มารับบริการในระดับปฐมภูมิได้รับการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกไม่น้อยกว่า 40 % ส่วนการดูแลผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต เป้าจำนวนผู้ป่วยที่มีการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาตระยะกลางที่ได้รับการดูแลด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ไม่น้อยกว่า 10 %
รวมถึง พัฒนามาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรในรพ.ของรัฐให้ได้มาตรฐาน WHO GMP ปัจจุบันผ่านแล้ว 46 แห่งจะมีการพัฒนาให้รพ.ทั้ง 46 แห่งมีการตกลงร่วมกันภายในเขตสุขภาพให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้หลัก Economy of Scale ลดต้นทุนการผลิต ลดรายการยาที่ผลิตในแต่ละรพ. หากราคายาที่ผลิตแล้วแพงกว่าให้จัดหายาผ่านภาคเอกชน และยากำพร้าให้กรมเป็นหลักในการวางแผนการผลิต