7 เรื่อง ก่อปัญหาสุขภาพ ในปี 2567 ทั้งจากครอบครัว อาหาร เทคโนโลยี
ThaiHealth Watch 2024 เปิด 7 เรื่องก่อปัญหาสุขภาพปี67 เผชิญทั้งจากมุมครอบครัว อาหาร เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ขณะที่
กรมอนามัยเผย20% ของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดมีสาเหตุจากมลพิษทางอากาศ
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวเปิดงาน ThaiHealth Watch 2024 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2567 : Next Gen Living คุณภาพชีวิตในอนาคต ว่า สสส. มุ่งสร้างความตระหนักรู้เพื่อให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพ สานพลังภาคีเครือข่ายวิชาการ พัฒนานวัตกรรมการสื่อสาร ThaiHealth Watch หรือจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย เพื่อสะท้อนอนาคตทิศทางสุขภาพพร้อมแนวทางลดความเสี่ยงทางสุขภาพที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นใหม่
“ThaiHealth Watch 2024 รวบรวมองค์ความรู้ผ่านหลักการ 3S ได้แก่ 1.Situation สถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพ จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 2.Social Trend กระแสความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ 3.Solution ข้อแนะนำ ทั้งระดับปัจเจกบุคคลและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสังคม เกิดเป็น 7 ประเด็นทิศทางสุขภาพสำคัญ มุ่งกระตุ้นสังคมปรับตัวพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในสังคมอย่างเข้าใจและเท่าทัน ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงนวัตกรรมสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียม” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
สำหรับ 7 ประเด็นสุขภาพที่น่าจับตามองในปี 2567 1.ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด เมื่อวันที่ไทยต้องเป็นครอบครัวข้ามรุ่น โครงสร้างของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อสุขภาพจิตของสมาชิก พบ Gen X เสาหลักของบ้านรู้สึกเครียดกับปัญหาทางการเงิน 65% Gen Z พบความขัดแย้ง เผชิญความเครียดทางอารมณ์และความบกพร่องทางจิตใจ 51% การพัฒนา ‘นักสื่อสารสุขภาวะ’ ของคนหลากหลายวัย ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยได้
2.ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มรสหวาน มิตรยามว่างหรือศัตรูเรื้อรังเด็กไทย พบ 1 ใน 3 ของเด็กไทยกินขนมพร้อมน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทุกวัน เนื่องจากกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มทำลายสุขภาพ ซึ่งเด็กที่อ้วนมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ที่ป่วยโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวานถึง 31%
3.เยาวชนไทยบนโลกแห่งการพนันไร้พรมแดน พบโทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางเล่นพนันมากที่สุด เกมสล็อตครองแชมป์ยอดนิยม ที่น่าห่วงคือ นักเล่นพนันหน้าใหม่คิดว่าการพนันไม่อันตราย สสส. ผลักดันให้เกิดกลไกเครือข่ายเฝ้าระวังและสื่อสาร สร้างความรู้เท่าทันการพนัน ลดผลกระทบจากการพนันระดับพื้นที่ทุกภูมิภาค
4.สุราท้องถิ่นนอกระบบ คุณค่าความหลากหลายบนความเสี่ยงทางการควบคุม ความเสี่ยงจากสุราเถื่อน พบสารแปลกปลอมอ้างสรรพคุณด้านชูกำลัง หรือเสริมสมรรถนะทางเพศ ทั้งพิษจากสัตว์ สารเคมีกำจัดวัชพืชและแมลง ส่งผลกระทบทางสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิตทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
5.เยาวชนกับภูมิคุ้มกัน ในยุคที่ยาเสพติดเข้าถึงง่าย พบปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นใช้ยาเสพติด 1) อยากลอง 2) ความรุนแรงในครอบครัว 3) ปัญหาด้านการเงิน 4) สังคม สิ่งแวดล้อม การเสริมศักยภาพและสร้างกลไกป้องกันให้เยาวชนใช้เวลาเป็นประโยชน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ
6.ลมหายใจในม่านฝุ่น ต้นตอปัญหาที่แตกต่างหลากหลาย จำเป็นต้องเร่งสร้างความร่วมมือลดปัญหาจาก 3 แหล่งกำเนิด 1) ท่อไอเสียรถยนต์ 2) โรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง 3) การเผาในที่โล่ง ที่ทำให้ปี 2566 พบ 1,730,976 คนเป็นผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ และ7.โลกเดือดสะเทือนไทย ทางออกในวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร มีโอกาส 50% ที่จะร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส ในอีก 5 ปี กระทบความมั่นคงทางอาหาร กลไกการบริหารจัดการระบบอาหาร จัดสรรพื้นที่สาธารณะในชุมชนใช้ผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อการบริโภคและสร้างรายได้ ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ในการTalk เดี่ยว:รากของปัญหาPM2.5(Clean Air for a Healthier Future) นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชากรทั่วโลกราว 99% อยู่ในพี้นที่มลพิษทางอากาศสูงเกิน โดย 7 ล้านคนต่อปี เสียชีวิตก่อนเวลาอันควรเพราะมลพิษทางอากาศ ซึ่ง 1 ใน 10ของคนที่เสียชีวิตเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ทั้งนี้ ในปี 2562 ราว 361,000 คน เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่างหรือปอดบวม ซึ่ง 20% ของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดมีสาเหตุจากมลพิษทางอากาศ
นอกจากนี้ การศึกษาในจีนแสดงให้เห็นว่าการสัมผัส Pm2.5 เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะส่งผลให้อุบัติการณ์ของมะเร็งปอดสูงขึ้น 4.20%ในผู้ชาย 2.48%ในผู้หญิง สอดคล้องกีบการศึกษาที่ผ่านมา ยุโรป พบการสัมผัสกับPM2.5ต่อปี ที่เพิ่มขึ้น 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์ของมะเร็งปอด 1.18 เท่า และสหรัฐอเมริกา อุบัติการณ์ของPM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของมะเร็งปอดคือ 1.19 เท่า
ด้านชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ทะลุเข้าสู่ปอดและเส้นเลือดได้ ที่ผ่านมาเชียงใหม่มีสถานการณ์หนักมาก เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 บางปีติดอันดับ 1 ของโลกที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุด เรามีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ก่อนเปลี่ยนเป็นฝุ่นควัน และกำลังจะเปลี่ยนเป็นฝุ่นพิษเพื่อให้ชัดเจนขึ้น ว่ามันเป็นพิษ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาภาครัฐจะดำเนินการฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงมีการตั้ง "สภาลมหายใจเชียงใหม่" ที่ดึงทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม วิชาการ อุตสาหกรรม เข้าร่วม เพื่อวิเคราะห์ปัญหาว่าทำไมถึงแก้ปัญหาไม่สำเร็จ ทำให้พบว่า 1.วิเคราะห์ปัญหาผิด ไม่มองรอบด้าน ทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกจุด เช่น มองแค่เกิดจากชาวบ้านเผา ซึ่งจริงๆ ยังมีเรื่องของฝุ่นควันข้ามแดน การเผาป่า ไฟป่า โรงงานอุตสาหกรรมอีก 2.แก้ปัญหาแบบอีเวนต์หรือเฉพาะกิจ เช่น ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาช่วง ธ.ค. จบ เม.ย. ก็ปล่อยไม่ได้หารือ แล้วมาตั้งคณะกรรมการใหม่ช่วงปลายปี
3.แก้ปัญหาแบบ Top Down จากกรุงเทพฯ ทำให้ไม่มีใครรับรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้แต่สังคมโดยรวม ขาดความรู้เข้าใจ 4.ความรู้และกฎหมาย อย่างการกำหนดให้การเผาผิดกฎหมาย ใครเผาโดนจับ ทำให้เกิดการลักลอบจุด มีการแจ้งเป็นพันคดี แต่ไม่รู้ว่าใครจุด ทำให้การเผาผิดกฎหมาย และ และ 5.กฎหมายที่เราใช้คือ บรรเทาป้องกันสาธารณภัยจะดีเมื่อมีภัยมา จึงใช้งบ ใช้คน เครื่องจักรได้ เป็นการแก้ปัญหาเชิงรับ แต่ปัญหา PM 2.5 ต้องการแก้ปัญหาเชิงรุกและรอบด้าน