เผยผลตรวจสอบ'ปรอท'ใน'ปลา' และไอปรอทจากไทยไปได้ไกลถึงรัสเซีย
นักวิชาการเผย 40% ของตัวอย่างปลามีปรอทในเนื้อมากกว่าค่าที่ยอมรับได้ แม้ค่าเฉลี่ยภาพรวมไม่เกินเกณฑ์ ชี้ปรอทจากประเทศไทยไปได้ไกลถึงรัสเซีย ขณะที่สารมลพิษตกค้างยาวนาน กลุ่มไดออกซิน/ฟิวแรนส์ จ.สมุทรสาคร มีค่าสูงกว่าประเทศญี่ปุ่นถึงเกือบ 5 เท่า
Keypoints:
- การปลดปล่อยและการตกสะสมของปรอท จากเชื้อเพลิงถ่านหินในประเทศไทย พบการปนเปื้อนปรอทในปลา และปรอทเคลื่อนที่ออกไปนอกประเทศไทยถึง 97% ไปได้ไกลถึงรัสเซีย
- มลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมถูกเมินเฉย ทั้งที่ในประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถก่อมลพิษได้กว่า 60,000 แห่ง ผลศึกษาพบโลหะหนักและสารมลพิษตกค้างยาวนาน
- ร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ควรกำหนดให้มีการประเมินผลกระทบจากปริมาณฝุ่น PM 2.5 สารโลหะหนัก และสารมลพิษตกค้างยาวนานในระบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า
ในงานประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM 2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด: ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” ภายใต้แนวคิด “เพราะเฮามีลมหายใจ๋เดียวกัน” จัดขึ้นที่ จ. เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 3 – 4 ธันวาคม 2566 ในวงเสวนาห้องย่อยห้องที่ 4 หัวเรื่อง “PM 2.5 ในฝุ่นอุตสาหกรรมกับต้นเหตุที่ถูกมองข้าม”
รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า มลพิษจากแหล่งต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมไม่ได้หายไปไหน เมื่อเกิดขึ้นและตกสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว ก็มีการสะสมตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นมากขึ้น จนกระทั่งพืชดูดซับไปเก็บไว้ เมื่อพืชถูกเผาและสร้างฝุ่นออกมา ฝุ่นดังกล่าวจึงอันตรายขึ้นเพราะมีองค์ประกอบของสารมลพิษแฝงอยู่อย่างมาก
ไอปรอทจากไทยไปได้ไกลถึงรัสเซีย
ในเรื่องของปรอทมลพิษข้ามพรมแดน จากข้อมูลระดับโลกบ่งบอกว่า แหล่งกำเนิดสำคัญมาจากการทำเหมือง โดยเฉพาะเหมืองทอง รองลงมาคือการเผาถ่านหิน นอกจากนั้นยังมีข้อมูลเปรียบเทียบที่บ่งชี้ชัดเจนว่า แม้แหล่งปลดปล่อยปรอทของโลกจะมีไม่กี่แห่ง แต่การแพร่กระจายกลับพบทั่วโลก ซึ่งผลกระทบที่สำคัญของปรอทคือการส่งผลต่อไอคิวของมนุษย์ หากพบปรอทสะสมในผมของหญิงตั้งครรภ์ 1 ppm เด็กที่เกิดมาจะมีIQ ลดลง0.18 หน่วย มูลค่าของ IQ 1 หน่วย เท่ากับมูลค่า 190,763 บาท
ผลการจำลองการฟุ้งกระจาย ปลดปล่อยปรอทนั้น ในปี 2561 ประเทศไทยใช้ถ่านหินผลิตเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 6,545 เมกะวัตต์(MW) โดยปลดปล่อยไอปรอท (Hg0) มีปริมาณ 959 กิโลกรัม/ปี ปลดปล่อยไอปรอทประจุ 2+ (HgII) มีปริมาณ 353 กิโลกรัม/ปี และปลดปล่อยปรอทในรูปอนุภาค (HgP) มีปริมาณ 175 กิโลกรัม/ปี
จำนวนที่มาจากโรงไฟฟ้าและโรงงานในประเทศไทย (MCCT) สำหรับไอปรอท คิดเป็น 18% ส่วนไอปรอทประจุ 2+ คิดเป็น 17% และ 13% สำหรับปรอทในรูปอนุภาคทั้งหมดในบรรยากาศประเทศไทย
ปรอทเคลื่อนที่ออกไปนอกประเทศไทยถึง 97%, โดย 91% เป็นไอปรอท โดยแหล่งปลดปล่อยปรอทในประเทศไทยทำให้เกิดไอปรอท ในบรรยากาศที่พื้นผิวสูงสุดคือ 0.06 ส่วนในล้านล้านส่วน บริเวณจังหวัดลำปาง ข้ามพรมแดนไปทางตอนเหนือของภาคกลางของประเทศจีน และที่เกาะSakhalin ของประเทศรัสเซีย
ความเข้มข้นของ ปลดปล่อยไอปรอทประจุ 2+ และปรอทในรูปอนุภาค มีในประเทศไทยมีค่าสูงสุดเท่ากับ 0.0045 ส่วนในล้านล้านส่วน และ 0.0009 ส่วนในล้านล้านส่วนตามลำดับ ในบริเวณจังหวัดลำปาง
“ปรอทตกสะสมแบบเปียกในประเทศไทย 22%, ตกสะสมนอกประเทศไทย 78%, โดยเกิดการตกสะสมของปรอทในประเทศไทยใกล้แหล่งกำเนิดในจังหวัดลำปางประมาณ 0.63 ไมโครกรัม/ตารางเมตร/ปี และใกล้แหล่งกำเนิดในจังหวัดตราดประมาณ 0.12 ไมโครกรัม/ตารางเมตร/ปี”รศ.ดร.ธนพลระบุ
พบปรอทในปลาไทย
รศ.ดร.ธนพล กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบปลากระสูบจาก 6 แหล่งน้ำในประเทศไทย พบว่า ปลาในจังหวัดลำปางมีปรอทเฉลี่ยเท่ากับ 0.258±0.20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(มก/กก) และประมาณ 40% ของตัวอย่างมีปรอทในเนื้อมากกว่าค่าที่ยอมรับได้ที่ 0.3 มก/กก
- ขณะที่ในจังหวัดตราดปลามีปรอทเฉลี่ยเท่ากับ 0.16±0.14 มก/กก และประมาณ 16% ของตัวอย่างมีปรอทในเนื้อมากกว่าค่าที่ยอมรับได้
- การวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าความเข้มข้นของปรอทในเนื้อปลาใน 6 แหล่งน้ำสัมพันธ์กับปริมาณการตกสะสม แบบเปียกของปรอทจากแหล่งปลดปล่อยปรอทในประเทศไทย
- ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการลดการปลดปล่อยปรอทจากแหล่งกำเนิดในประเทศไทยเพื่อลดการปนเปื้อนของปรอทในปลาเพิ่มความปลอดภัยของแหล่งอาหาร
มลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม
ขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่จะพูดถึงไฟป่าและการเผาของภาคการเกษตรว่าเป็นสาเหตุสำคัญ แต่ภาคส่วนอุตสาหกรรมไม่ค่อยถูกกล่าวถึง หรือแม้แต่การกำหนดตัวชี้วัดเป็นจุดความร้อนก็เป็นที่ชัดเจนว่า ปล่องโรงงานอุตสาหกรรมไม่เคยปรากฏในการแสดงจุดความร้อน
ในความเป็นจริง ปัญหาPM 2.5 เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัญหามลพิษอากาศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนโรงงานที่ก่อมลพิษอากาศเป็นจำนวนมากกว่า 66,000 ตามที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นประเภทโรงงานที่เข้าข่ายต้องควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย อย่างไรก็ตาม จำนวนที่แท้จริงิอาจมีมากกว่านี้ เนื่องจากในภาพรวมของประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูล
“กฎหมายเรื่องระบบการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR ของประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นกลไกสำคัญซึ่งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่าจะช่วยลดมลพิษอย่างได้ผล จึงควรผลักดันกฎหมายฉบับนี้”เพ็ญโฉมกล่าว
ด้านฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงาน มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ผลการศึกษาเรื่ององค์ประกอบของฝุ่นในพื้นที่อุตสาหกรรม จ. สมุทรสาครและ จ. ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก และจประสบปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 โดยเน้นการตรวจหาสารโลหะหนักและสารมลพิษตกค้างยาวนาน (POPs) ที่เป็นสารอันตรายซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้อย่างรุนแรงและยาวนาน พบว่ามีปริมาณสารโลหะหนักและสารมลพิษตกค้างยาวนาน
เมื่อเทียบผลการวิเคราะห์สารมลพิษตกค้างยาวนาน กลุ่มไดออกซิน/ฟิวแรนส์ของประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย พบว่า พื้นที่อุตสาหกรรมในจ.สมุทรสาคร ประเทศไทย มีค่าสูงกว่าประเทศญี่ปุ่นถึงเกือบ 5 เท่า
(ร่าง) 9 ข้อเสนอเชิงนโยบาย
ทั้งนี้ งานเสวนาห้องย่อยที่ 4 เรื่อง “PM 2.5 ในฝุ่นอุตสาหกรรมกับต้นเหตุที่ถูกมองข้าม” 4 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ออกแบบแนวทางการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนร่วมกันระหว่างภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และ2.
เกิดการบูรณาการร่วมกันภายใต้เจตจำนงที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
จากการจัดเสวนาในห้องย่อย จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่
1.สร้างการทำงานของภาครัฐแบบรวมศูนย์ข้อมูลใช้การทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษทางอากาศแบ่งปันข้อมูลโดยไร้ซึ่งข้อจำกัด เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
2. จัดให้มีคณะทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชน ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน
3.กำหนดนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ และสามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยท้องถิ่น
4.สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ของตน โดยประชาชนสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างเต็มที่
5.มีนโยบายสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนามาตรการในการลดความเสี่ยงและการป้องกันผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
6.กำหนดนโยบายเร่งด่วนในการศึกษาศักยภาพเชิงพื้นที่ในการรองรับมลพิษอุตสาหกรร
มโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศของเขตพัฒนาอุตสาหกรรมทั่วประเทศ (loading capacity)
7. พัฒนาค่ามาตรฐานของสารอันตรายในบรรยากาศ เช่น สารโลหะหนักในบรรยากาศ, ค่ามาตรฐานสารโลหะหนักในฝุ่น PM 2.5 และค่ามาตรฐานสารมลพิษตกค้างยาวนาน (สาร POPs)ในบรรยากาศของประเทศไทย ซึ่งสารเหล่านี้มีแหล่งกำเนิดหนึ่งจากภาคอุตสาหกรรม
8. กำหนดมาตรฐานการระบายเพิ่มเติมทั้งค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 และสาร POPs ที่ปลายปล่องของโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า
9. หนึ่งในแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลัก คือ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า จึงควรกำหนดให้มีการประเมินผลกระทบจากปริมาณฝุ่น PM 2.5 สารโลหะหนัก และ สาร POPs ในระบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า