ยกระดับ 'บัตรทอง 30 บาท' ท่ามกลาง 6 ความท้าทายของระบบสุขภาพ
'ยกระดับ 30บาท' เป็นนโยบายด้านสาธารณสุขที่สำคัญของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” มุ่งเน้นอำนวยความสะดวกและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ประชาชน ท่ามกลางการเผชิญ 6 ความท้าทายของระบบสุขภาพ และการขยับพูดถึงความครอบคลุมบริการไปยัง“ทุกคนบนแผ่นดินไทย ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น”
ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ระบุว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้จำนวนครัวเรือนที่ต้องมีหนี้สินและยากจนจากค่ารักษาพยาบาลลดลง จากปี 2543 ที่มีจำนวนกว่า 3แสนครัวเรือน เหลือ 40,000 ครัวเรือนในปี 2564
ทั้งนี้ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง หรือ 30บาทรักษาทุกโรค ครอบคลุมประชากรไทยราว 47.2ล้านคน คิดเป็น 70.4 % นอกเหนือจากนี้เป็นสิทธิประกันสังคมราว 12.8 ล้านคน คิดเป็น 19 % สิทธิสวัสดิการข้าราชการราว 5.3 ล้านคน คิดเป็น 7.9 % ที่เหลือเป็นสิทธิอื่นๆ
ในปีงบประมาณ 2567 ครม.อนุมัติงบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 217,628.96 ล้านบาท คิดเป็นงบฯเหมาจ่ายรายหัว 3,472.24 บาทต่อคนต่อปี
ความท้าทายหลักประกันสุขภาพฯ
ประเด็นเรื่องความท้าทายในการพัฒนาระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคต่อจากนี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยจะมีการดำเนินการมาแล้ว 20 ปี แต่ยังมีความท้าทายใหม่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา
ทั้งกรณีข้อกังวลเรื่องความยั่งยืนของระบบ ความเพียงพอของงบประมาณ รวมถึง ผลดี ผลเสียของเทคโนโลยีใหม่ๆ ปัญญาประดิษฐ์(AI) และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบหลักประกันฯ เหล่านี้เป็นความท้าทายหลักที่จะต้องมีการเตรียมการรองรับ
อย่างเช่น นโยบายยกระดับบัตรทอง ส่วนหนึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน แต่ในเบื้องลึกเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบบริการในส่วนของระบบบริการปฐมภูมิ ตั้งแต่การให้บริการใกล้บ้านผู้ป่วย การให้บริการถึงที่บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดความแออัดของรพ.
ความกดดันของงบฯจะเป็นปัญหา
“ความกดดันของงบประมาณในอนาคตจะเป็นประเด็นปัญหา แต่เชื่อว่ามีทางออก ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ใช้มาตรการต่างๆในการสร้างความเข็มแข็งให้กับประชาชน หรือการใช้บริการปฐมภูมิ เป็นสิ่งที่เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้”นพ.จเด็จกล่าว
นอกจากนี้ ภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกก็ส่งผลต่อสุขภาพ จะทำให้มีอัตราการป่วยเพิ่มขึ้น ถือเป็นความท้าทายใหม่ ซึ่งระบบหลักประกันฯจะต้องหาแนวทางมาตรการที่จะทำให้ประชาชนป่วยน้อยลง เน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคอย่างจริงจังมากขึ้น
ในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวกับ AIซึ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทางการแพทย์ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ไม่ได้ปฏิเสธAI แต่ต้องมีมาตรฐานและผ่านการประเมินตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น เมื่อไปเอ็กซเรย์จำนวนมาก คัดกรองผู้ป่วยวัณโรคก็มีการใช้AI จำเป็นต้องปรึกษาราชวิทยาลัยแพทย์ต่างๆถึงความพร้อมที่จะนำมาใช้ได้หรือไม่ รวมถึง ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณ ในการตรวจก่อนจ่ายก็มีการใช้ระบบAI และอนาคตเชื่อว่าจะเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพมากขึ้น
ประชากร-ภาพแบบโรคเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ข้อมูลในการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ.2566 ระบุถึงความท้าทายระบบสุขภาพที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือไว้ 6 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
1.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยสัดส่วนผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มมากขึ้นกว่า 2 เท่าในระยะ 20 ปี ส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเพิ่มขึ้นจาก 14.3% ในปี 2545 เป็น 30.5 %ในปี 2564 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายสุขภาพ จึงต้องมีการเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง
2.การเปลี่ยนแปลงภาพแบบของโรค จากโรคติดต่อเป็นโรคไม่ติดต่อ ส่งผลให้รายจ่ายผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสัดส่วนประมาณ 70 % ของรายจ่ายผู้ป่วยในทั้งหมด ส่วนรายจ่ายสำหรับโรคติดต่อประมาณ 16-17 % และรายจ่ายการบาดเจ็บ 14-15 % ในช่วงปี 2557-2559 ทว่า แม้โรคไม่ติดต่ออสามารถป้องกันได้ แต่การลงทุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคของไทยในปี 2564 มีสัดส่วนเฉลี่ยเพียง 8.8% ของรายจ่ายดำเนินการด้านสุขภาพ
พฤติกรรรม-สิ่งแวดล้อมเสี่ยง
3.พฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ การสูบบุหรี่ ภาพรวมทั้งประเทศตั้งแต่ปี 2547-2564 พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่กลุ่มอายุ25-44 ปีมีสัดส่วนผู้สูบบุหรี่สูงที่สุด และมีสัดส่วนของการสูบหนักมากกว่า 20มวนต่อวัน หรือมากกว่าวันละ 1 ซอง สูงกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ
ส่วนการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้ที่ดื่มในรอบปีก่อน ประมาณ 10 % เคยมีปัญหาสุขภาพและเคยมีปัญหาในครัวเรือน 7.8 % และดื่มแล้วมีการขับรถยนต์เป็นประจำสูงถึง 43.3 % ในเรื่องของพฤติกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ
กลุ่มประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีผู้ที่มีพฤติกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ 42.5 % โดยใช้เวลากับการทำงานออกแรงระดับหนักหรือปานกลางเป็นเวลา 53 นาที แต่กิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวน้อย ใช้เวลาเฉลี่ยมากถึง 533 นาทีต่อวันหรือ 8 ชั่วโมง 53นาที
4.เทคโนโลยีสร้างความพลิกผัน กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)พัฒนายุทธศาสตร์สุขภาพดิจิทัลพ.ศ.2564-2568 ดิจิทัลมามาใช้เสริมสร้างระบบสุขภาพ เพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุข เสริมสร้างบทบาทนวัตกรรมด้านสุขภาพ
แต่การบรรลุเป้าหมายังมีข้อจำกัดและความท้าทาย เช่น การจัดการข้อมูลผู้ป่วย และการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วยข้ามโรงพยาบาล เป็นต้น จึงทำให้เทคโนโลยียังต่ำอยู่บวกกับเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นด้วย
5.การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้การระบาดของโรคตามฤดูกาลมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคอุบัติใหม่ รวมถึง จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น จึงต้องมีการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆในการลดผลกระทบจากเรื่องนี้
คาดการณ์รายจ่าย 20 ปีข้างหน้า
และ6.ความยั่งยืนทางการเงินการคลังด้านสุขภาพ ผลการคาดการณ์รายจ่ายสุขภาพในปี 20 ปีข้างหน้า สะท้อนความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของการเงินการคลังด้านสุขภาพในระดับปานกลาง เนื่องจาก 1.แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพคิดต่อGDPประเทศในปี 2583 คิดเป็น 5.2%ของGDP ซึ่งเป้าหมาย 5 % เคยใช้เป็นเกณฑ์ความยั่งยืนทางการคลังของสุขภาพของไทย
2.คาดการณ์ร่ายจ่ายของภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 2.9%ต่อGDP ในปี 2564 เป็น 4.1 % ในปี2583 การลงทุนด้านสุขภาพภาครัฐ จึงต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาของงบประมาณและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3. อัตราการเติบโตรายจ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐสูงกว่ารายรับของรัฐจากภาษี ในปี 2564 อัตราเติบโตรายรับของรัฐไม่ถึง0.10 % แต่อัตรารายจ่ายด้านสุขภาพมากกว่า 0.20 % จำเป็นต้องคำนึงถึงช่องว่างนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
4.สัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพของไทยต่อGDPในประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน ที่อยู่ที่ 6.1 %ในปี 2563 ส่วนการคาดการณ์ชองไทยในปี 2583 อยู่ที่5.2 % การลงทุนด้านสุขภาพของไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าจึงถือว่ายังไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน
5.ความแตกต่างของวิธีการจ่ายเงินที่แตกต่างกันของสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 6.การขยายสิทธิประโยชน ให้บริการที่มีราคาแพงทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และ7.การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอาจส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายด้านสุขภาพในอนาคต
มิเพียงเท่านี้ เรื่องความครอบคลุมมีการขยับกล่าวถึงการบริการควรจะต้องให้ครอบคลุม “ทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย”ด้วย ไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น
โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ซึ่งในปี 2565 พบว่า 42 %อยู่ในระบบประกันสังคม 24 % อยู่ในกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว และ 34 % ไม่อยู่ในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ นับเป็นอีกความท้าทายของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยด้วยเช่นกัน