ไทยครัวโลก Soft Power แต่กำลังเจอปัญหา 'ความมั่นคงทางอาหาร'
นักวิชาการชี้ไทยเสี่ยงเผชิญปัญหา ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ กระทบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกเรื่อง เผย 12 ข้อปัญหา เสนอแนวทางเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารเพื่อประชาชน
Keypoints:
- ไทยครัวโลก และอาหารไทยเป็น Soft Power ที่สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมานาน แต่วันนี้กำลังเผชิญปัญหาเรื่อง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’
- นิยามความมั่นคงทางอาหาร ไม่ได้มีเพียงแค่ ‘อาหารพอกิหรือไม่’ แต่ครอบคลุม 4 เสา หากไม่แก้ปัญหา จะกระทบเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ทุกข้อ
- ปัญหาระบบอาหารที่พบว่ามีอย่างน้อย 12 ข้อ และข้อเสนอแนะต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอาหารเพื่อประชาชน
เมื่อเร็วๆนี้ ภายใน ThaiHealth Watch 2024 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2567 : Next Gen Living คุณภาพชีวิตในอนาคต ผศ.ชล บุนนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารว่า องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) นิยามความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)แบ่งเป็น 4 เสา คือ 1.อาหารพอกินหรือไม่ 2.เข้าถึงอาหารได้หรือไม่
3.มีอาหารกินแล้วดีต่อสุขภาพหรือไม่ และ 4.ความมีเสถียรภาพว่ามีวิกฤตแล้วยังเข้าถึงอาหารหรือไม่ ซึ่งอาหารพอแน่นอน แต่เรื่องการเข้าถึงอาหาร สถิติในฐานข้อมูลช่วงโควิด คนที่มีความมั่นคงทางอาหารปานกลางหรือรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 7% ของประชากร ทั้งที่เราเป็นประเทศผลิตอาหาร ปัญหาภาวะโภชนาการก็เพิ่มขึ้น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีภาวะแคระแกร็นมีประมาณ 13% เราจะมองแค่ตัวอาหารอย่างเดียวไม่พอ เพราะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ และระบบอาหารด้วย
อาหารกระทบ SDGs ทุกข้อ
เรื่องอาหารถ้าทำแบบเดิมๆเกิดปัญหา ก็จะสร้างผลกระทบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ทุกข้อ ทั้งสุขภาพ ความมั่นคงอาหาร น้ำ พลังงาน ทะเล ป่า ครบทุกเรื่อง ประเด็นสำคัญคือ เรื่องอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของคน แต่กระทบความยั่งยืนในทุกมิติ จึงควรมองเรื่อง Food Security ให้กว้างกว่าตัวอาหาร แต่มองให้เห็นถึงระบบอาหารที่ไม่ยั่งยืนและเป็นปัญหาสำคัญของไทย
ต้องตระหนักว่าอาหารกำลังเป็นปัญหา รัฐต้องเป็นช่างเชื่อม ระดมทุกภาคส่วน และมีงบประมาณสนับสนุน ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและงานวิจัยอย่างเป็นระบบมาทำงานแก้ปัญหาตอนนี้มีงานวิจัยเยอะมากที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืน แต่กระจายตัวในทุกพื้นที่ ไม่เกิดนัยทางปฏิบัติที่เวิร์ก
“ถ้าไม่ทำอะไรเลย คนยากจนเยอะขึ้น คนสุขภาพเสียเยอะขึ้น รายจ่ายด้านสุขภาพเยอะขึ้นแน่นอน อากาศไม่มีหายใจ น้ำไม่มีใช้ ทะเลไม่มีไปเที่ยว ป่าทะเลหมอกไม่มี อาหารไม่ยั่งยืนกระทบสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ปัญหาจะครบทุกเรื่อง " ผศ.ชลกล่าว
ปัญหาของระบบอาหาร
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เปิดเผยปัญหาของระบบอาหาร เกี่ยวเนื่องกับ 4 เรื่องหลัก วัฒนธรรมอาหาร การกระจายอาหาร การผลิตอาหาร และดิน น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ
ตัวอย่างเช่น 1.รัฐบาลจ่ายเงินให้เปล่า 2,000 บาทและดอกเบี้ย 0.01% แก้ผู้ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์เกษตรแปลงใหญ่
2.คนไทยเข้าร้านสะดวกซื้อ 21 ครั้งต่อเดือนร้านสะดวกซื้อ 1 รายมีส่วนแบ่ง 65% ของ Fast Food
3. 59% ของสารพิษการเกษตร 158 จากทั้งหมด 267 ชนิดมีพิษสูงก่อมะเร็ง ก่อกลายพันธุ์และตกค้างในสิ่งแวดล้อมนาน
4. 38-50% ของผักผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ผักไฮโดรโปนิกส์ Gap หนักกว่าผักทั่วไป
5.เกษตรกรอายุเฉลี่ย 55 ปี 40% ยากจนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์
6. 70% ไม่มีชลประทาน ดินขาดอินทรีย์วัตถุ
7.เมล็ดข้าวโพดอยู่ใน 4 บริษัท
8.พื้นที่เกษตรยั่งยืนมีเพียง 1.8%
9.กฎหมายแข่งขันทางการค้าไม่สามารถบังคับใช้ได้แม้แต่กรณีเดียว
10.คนไทยซื้อกล้วยในราคาเท่าๆกับคนยุโรป ซึ่งมีรายได้มากกว่า 10 เท่าตัว เกษตรกรไทยได้ส่วนแบ่ง 15% ค้าปลีกได้ส่วนแบ่ง 60%
11.โมเดิร์นเทรดขยายเป็น 65% ของระบบค้าปลีกแต่
และ12. 80% เป็นร้านสะดวกซื้อ hypermarket Supermarket ซึ่งขายอาหารเป็นหลัก โดยมีผู้ประกอบการเพียง 3 รายเป็นเจ้าของ เป็นต้น
แนวทางเปลี่ยนผ่านระบบอาหาร
ขณะที่ ดร.กฤษดา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านระบบอาหาร เพื่อประชาชน ธรรมชาติ และภูมิอากาศ อย่างน้อย 4 เรื่อง คือ 1.เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ ถ้าความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องความมั่งคั่ง การเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็คือเงิน ไม่ใช่อาหาร ต้องเปลี่ยนมมายด์เซ็ต 2.เปลี่ยนกลยุทธ์ เน้นกระจายอำนาจ ส่งเสริมท้องถิ่นมีบทบาทขึ้น 3.เปลี่ยนเชิงโครงสร้างระบบการจัดการใหม่ และ 4.การจัดสรรทรัพยากร
ทั้งนี้ มีข้อเสนอในเวที COP28 จากภาคประชาสังคมและนักวิชาการที่น่าสนใจ คือ ถ้าจะสร้างความมั่นคงทางอาหารต้องไปสนับสนุนด่านหน้าระบบเกษตร คือ ชนพื้นเมือง เกษตรกร ผู้หญิง คนยากจน ด่านหน้าทั้งผู้ผลิตและบริโภค ให้มีความมั่นคง ปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ,นำเรื่อง Climate Change เข้ามาเป็นเป้าหมายร่วมการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางโดยด่วน ,ปรับปรุงสภาพแวดล้อม เช่น คนจนไม่มีที่ดินปลูกผัก แต่มีที่ดินรกร้างเต็มไปหมด ทั้งของรัฐและเอกชน ทำให้พื้นที่เหล่านั้น คนจนเข้าถึงทรัพยากรได้ จัดสภาพแวดล้อมใหม่ มีชลประทานของประเทศแค่ 26% ขยายมากกว่านี้ได้หรือไม่ ที่ทำให้คนเข้าถึงเพื่อการผลิต
การเปลี่ยนผ่านเกษตรที่ไม่ยั่งยืนมาสู่ยั่งยืนได้ ต้องมีเงื่อนไขส่งเสริม แทนที่จะประกัน จำนำ พักชำระหนี้ มาเป็นเงื่อนไขส่งเสริมว่าถ้าเปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงนิเวศ จะมีระบบสนับสนุน มีตลาดรองรับ มีความรู้ส่งเสริม นี่คือระบบการเปลี่ยนผ่านที่ต้องการสนับสนุนฟื้นฟูความหลากหลายชีวภาพให้กลับขึ้นมา
“แค่หน้าดินไม่กี่เซ็นระบบเกษตรนิเวศ ดูดซับคาร์บอนได้มหาศาล หมายความว่า ถ้าประเทศไทยมีที่ดินเกษตร 100 ล้านไร่ เอาแค่ 20% มาเป็นเกษตรนิวเศ ก็ช่วยโลกร้อนมหาศาล ทำให้ชุมชนปรับตัวได้ดีมากขึ้น และความหลากหลายชีวภาพเหล่านี้คือบริการทางนิเวศ เป็นอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่า สร้างระบบการคุ้มครอง ส่งเสริมความร่วมมือ จะเปลี่ยนโฉมหน้าความมั่นคงทางอาหารได้”ดร.กฤษดากล่าว