3 ที่สุดของโรคติดต่อ ในปี 66 ระบาดจำนวนผู้ป่วยมาก

3 ที่สุดของโรคติดต่อ ในปี 66 ระบาดจำนวนผู้ป่วยมาก

กรมควบคุมโรคเผย 3 โรคติดต่อในปี 2566  ระบาดจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด พร้อมพยากรณ์โรคที่คาดว่าจะระบาดในปี  2567 และคำแนะนำในการป้องกันตนเอง

Keypoints:

  •  โรคติดต่อที่มีการระบาดและมีผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด  3 โรคในปี 2566  และปัจจัยข้อน่ากังวลจากการระบาดช่วงปีที่ผ่านมา 
  •  กรมควบคุมโรค พยากรณ์โรคที่คาดว่าจะระบาดในปี  2567 มีทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดต่อนำโดยแมลง และโรคที่ต้องเฝ้าระวัง 
  • คำแนะนำในการป้องกันตนเองไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และแนวทาง มาตรการของรัฐที่จะป้องกันและควบคุมโรค 

      นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 2566 โรคติดต่อที่มีการระบาดและมีผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1.โรคไข้เลือดออก ทุกปีที่เกิดเอลนีโญจะเป็นปีที่ระบาด โดยปี 2566 เป็นปีแรกและจะเกิดการระบาดติดต่อกัน 2 ปี  และในปี 2567 อาจจะระบาดมากหรือน้อยกว่าปี 2566 ขึ้นอยู่กับประชาชนช่วยกันดูแล สามารถควบคุมลูกน้ำยุงลาย  ให้มีปริมาณยุงน้อยที่สุด โอกาสการระบาดก็จะน้อยลง จึงขอให้ทายากันยุงในการป้องกันตัวเองด้วย
       วันที่ 1 มกราคม – 13 ธันวาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วย รวม 147,412 ราย อัตราป่วย 222.91 ต่อประชากรแสน คน ผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3.4 เท่า กระจายทั่วประเทศ และพบผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้รับการตรวจยืนยันทาง ห้องปฏิบัติการ รวม 174 รายจาก 57 จังหวัด

       อัตราป่วยตาย 0.12 % โดยอัตราป่วยตายสูงสุดในกลุ่มอายุ 25 - 34 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และภาวะอ้วน  ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้เสียชีวิตพบไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยพบ DENV-2 มากที่สุด รองลงมา คือ DENV-1 DENV-3 และ DENV-4 ตามลำดับ
3 ที่สุดของโรคติดต่อ ในปี 66 ระบาดจำนวนผู้ป่วยมาก

ทั่วโลกจับตาไข้เลือดออก  

      “ขณะนี้องค์การอนามัยโลก(WHO)ให้ความสนใจกับสถานการณ์ไข้เลือดออกที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเมืองร้อนและเมืองหนาว จากสภาวะโลกร้อน และ One Health ซึ่งไม่ได้ดูแค่ตัวมนุษย์เอง แต่ยังดูรวมถึงสิ่งแวดล้อม และสัตว์ มีความสัมพันธ์กัน  ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญเรื่องโลกเป็นหนึ่งต้องดูแลกันและกัน เมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลายก็ส่งผลถึงคนได้ สัตว์สามารถนำโรคสู่คนได้ คนก็สามารถนำโรคสู่สัตว์ได้”นพ.ธงชัยกล่าว 

          2.ไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เมื่ออากาศเย็น หนาว หรือสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง  ร่างกายภูมิคุ้มกันจะต่ำลง โอกาสจะติดเชื้อและป่วยก็สูงขึ้น เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2566 จำนวนผู้ป่วยมากกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีการระบาดโควิด-19 การติดต่อของโรคทั้ง 2 นี้เหมือนกัน เมื่อมีการป้องกันตัวเองจากโควิด-19 จึงทำให้ป้องกันการติดไข้หวัดใหญ่ด้วย แต่เมื่อประชาชนเริ่มผ่อนคลายตัวเองในการป้องกัน  การป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น
ไข้หวัดใหญ่ป่วยกว่า 4 แสนราย 

         ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการของทางเดินหายใจ มีน้ำมูก ไอ จามควรใส่หน้ากากาอนามัย ส่วนผู้ที่ปกติก็พกหน้ากากอนามัยไว้ หากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มั่นใจ เช่น ที่สาธารณะคนแอออัดก็ใส่หน้ากากอนามัยได้ และการล้างมือบ่อยๆยังเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุม ป้องกันโรค เพราะไม่รู้ว่ามีใคร ไอ  จามตรงไหน แล้วมือเราไปสัมผัส มาหยิบจับอาหารเข้าปากหรือขยี้ตา ยังแนะนำประชาชนให้พกหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือตลอดเวลา เมื่อมีความจำเป็นสามารถหยิบใช้ได้ทันที 

      วันที่ 1 มกราคม - 16 ธันวาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 460,325 ราย ผู้เสียชีวิต 29 ราย อัตราป่วยตาย 0.006 % พบอัตราป่วยสูงสุดในเด็กกลุ่มอายุ 0 - 4 ปี  จำนวน 2,414.02 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา กลุ่มอายุ 5-14 ปี จำนวน 2,401.64ต่อประชากรแสนคน และอายุ 15-24 ปี จำนวน 716.10 ต่อประชากรแสนคน

โควิด-19ความรุนแรงไม่ได้มากขึ้น 

             3.โควิด-19 ยังมีผู้ป่วยแต่ไม่ถึงกับระบาดเหมือนช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ลดน้อยกว่าเดิม  ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น และการเสียชีวิต การต้องนอนโรงพยาบาล การต้องใส่เครื่องช่วยหายใจไม่ได้มากขึ้น เนื่องจากการมีภูมิคุ้มกัน ส่วนหนึ่งได้มาจากวัคซีน ส่วนหนึ่งเคยติดเชื้อมาแล้ว อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้เสียชีวิตและผู้เจ็บป่วยรุนแรง ยังเกิดในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ที่สำคัญ ไม่ได้รับวัคซีนเลย

         วันที่ 1 มกราคม – 23 ธันวาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาล รวม 37,863 ราย, ปอดอักเสบ จำนวน 114 ราย, เสียชีวิต รวม 845 ราย พบการระบาดในวงกว้างช่วงต้นปี 2566 ต่อเนื่องจากปี 2565 และพบการระบาด ใหญ่ในช่วงกลางปี เดือน เมษายน – กรกฎาคม 2566 โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับรายงานสุงสุด ในสัปดาห์ที่ 22 จำนวน 3,085 ราย และพบผู้เสียชีวิตสูงสุด ในสัปดาห์ที่ 23 จำนวน 69 ราย

     ส่วนโรคอื่นๆไม่ได้มีการระบาดทั่วไป มีการเฝ้าระวังและไม่อยากให้เกิดขึ้นมา เช่น ฝีดาษวานร มีการระบาดเฉพาะกลุ่ม  ชายรักชาย  โดยในกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวีที่ไม่ได้รับประทานยา พบว่าเสียชีวิต ไม่ได้เนื่องจากฝีดาษวานร แต่เป็นเอดส์แล้วไม่ทานยาแล้วมาติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วย สิ่งที่ทำให้เสียชีวิตคือโรคตัวอื่น

       รวมถึงไอกรนระบาดเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอัตราความครอบคลุมของการรับวัคซีนต่ำ เมื่อมีเชื้อ โอกาสที่จะแพร่กระจายและโอกาสติดได้  จึงไม่ได้เป็นการระบาดในภาพรวม ส่วนภาคใต้ก็ไม่ได้ระบาดมาก แต่เพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาและเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง 
3 ที่สุดของโรคติดต่อ ในปี 66 ระบาดจำนวนผู้ป่วยมาก
กลุ่มโรคคาดระบาดในปี 2567
     สำหรับพยากรณ์โรคติดต่อที่มีแนวโน้มเกิดการระบาดได้ในปี 2567 ดังนี้ 1.โรคติดต่อทางเดินหายใจ

  •  โรคโควิด-19 มาตรการป้องกันเน้นกลุ่มเสี่ยง 608 ลดเสี่ยงปอดอักเสบรุนแรง โดยฉีดวัคซีนประจำปีในกลุ่มเสี่ยง 608 ตรวจ ATK เมื่อป่วย หากผลบวกไปพบแพทย์ทันที และสวมหน้ากากเมื่อป่วย หรือใกล้ชิดเด็กเล็กและกลุ่ม 608
  • โรคไข้หวัดใหญ่ แนะนำประชาชนฉีดวัคซีนประจำปี ลดติดเชื้อ ลดเสี่ยงปอดอักเสบ  โดยขยายฉีดวัคซีนในเด็ก 6 เดือน - 5 ปี หากมีไข้สูง หอบเหนื่อย รีบพบแพทย์ทันที และสวมหน้ากากเมื่อป่วย หรือใกล้ชิดเด็กเล็กผู้สูงวัย ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง

2.โรคติดต่อนำโดยแมลง

  •  โรคไข้เลือดออก
  • โรคติดเชื้อไวรัสซิกา
  • และโรคชิคุนกุนยา

       มีมาตรการป้องกันควบคุมโรค โดยผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลและได้รับการวินิจฉัย 3 โรคนี้ ให้แพทย์สั่งจ่ายยาทากันยุง จัดกิจกรรมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายต่อเนื่อง รวมทั้งเน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ หากสงสัยไข้เลือดออก โดยเฉพาะผู้ใหญ่รีบพบแพทย์ และงดทานยา NSAID ลดเสี่ยงภาวะแทรกช้อน สำหรับพื้นที่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา เน้นหญิงตั้งครรภ์ต้องป้องกันการถูกยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย

3.โรคเฝ้าระวังและให้คำแนะนำในการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยง

  •  โรคฝีดาษวานร
  • เอชไอวี/เอดส์
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

 โดยย้ำกลุ่มเสี่ยงลดการสัมผัสแนบชิดกับคนแปลกหน้า หรือมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง หากสงสัยป่วยให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา ซึ่งปัจจุบันมียาต้านไวรัส สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเสี่ยงต่อป่วยรุนแรง

  • โรคหัด เน้นการสื่อสารให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีน MMR ให้ครบ 2 เข็มในเด็กอายุ 9 เดือน (เข็มที่ 1) และอายุ2 ปีครึ่ง - 4 ปี (เข็มที่ 2)  
  • โรคไอกรน ที่ เพิ่มขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พบผู้ป่วยยืนยันรวม 229 ราย จะเร่งรัดการฉีดวัคซีนไอกรนในเด็กอายุ 6 สัปดาห์ – ต่ำกว่า 7 ปี ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน และในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อถ่ายทอดภูมิคุ้มกันไปยังทารกในครรภ์ ให้ทารกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรนก่อนถึงระยะเวลาที่สามารถรับวัคซีนได้