สปสช. เห็นชอบ 'วัด-องค์กรภาคประชาชน-เนอร์สซิ่งโฮม' เป็นหน่วยบริการบัตรทอง
บอร์ด สปสช. หนุนขับเคลื่อน 'สถานชีวาภิบาล' วัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด องค์กรภาคประชาชน เนอร์สซิ่งโฮม องค์กรภาคประชาชน ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย สมัครขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อด้านชีวาภิบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบ “ข้อเสนอการกําหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสถานชีวาภิบาลของรัฐบาล
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างข้อเสนอฯ ดังกล่าว คือการกำหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านชีวาภิบาล” หรือ หน่วยชีวาภิบาล ที่ถูกต้องตามกฎหมายและสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ได้ เช่น
- หน่วยบริการของรัฐที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย องค์กรศาสนา เช่น วัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด
- หรือองค์กรเอกชนที่ดำเนินการในด้านนี้ เช่น ชุมชนกรุณา (peaceful death) ชีวามิตร เยือนเย็น เครือข่ายมิตรภาพบําบัด ชมรมผู้ป่วย หรือเครือข่ายจิตอาสาต่างๆ
- รวมทั้ง สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (nursing home) เป็นต้น
หน่วยบริการเหล่านี้สามารถจัดบริการได้ทั้งการมีสถานที่ให้ผู้ป่วยพักค้าง เช่น หอผู้ป่วยในหน่วยบริการหรือในศาสนสถาน รวมทั้งการออกไปให้บริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือในชุมชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่' เตรียมเข้าสู่เฟส 2 ใน 8 จังหวัด
- สปสช. ย้ำหมุดหมายเข้าปีที่ 22 ระบบบัตรทอง เพิ่มความสะดวกในการรับบริการ
- 4 สิทธิประโยชน์บัตรทองใหม่ ของขวัญปีใหม่จาก สปสช.
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า หน่วยงานหรือองค์กรที่จะสมัครเข้าเป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 จะต้องมีคุณสมบัติ โครงสร้าง และมาตรฐานบริการตามที่กำหนดและได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือ องค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคล ที่ สปสช. รับรอง มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ และได้รับรองสมรรถนะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือ มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริการหรือกิจกรรมที่จัดบริการจากกรมอนามัย
“ในระยะเริ่มต้นจะเป็นการให้บริการได้เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทก่อน อย่างไรก็ดีหลังจากที่งบประมาณปี 2567 ที่เริ่มมีเบิกจ่าย ก็จะขยายให้ครอบคลุมไปยังประชาชนสิทธิอื่นๆ ต่อไป โดยรัฐบาลมีนโยบายตั้งเป้าหมายให้มีสถานชีวาภิบาลอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เพื่อให้เกิดความครอบคลุมการดูแลทุกพื้นที่ โดยจะมีการทำ MOU กับองค์กรด้านศาสนาเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวในช่วงต้นเดือน ก.พ. 2567 ที่จะถึงนี้” นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บอร์ด สปสช. ให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยมอบให้ สปสช. ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสถานชีวาภิบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick win 100 วัน ด้านสาธารณสุขของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)
พร้อมให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยภายใต้สิทธิประโยชน์ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 และบอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบในวันนี้
หลังจากนี้ สถานชีวาภิบาล ที่ดำเนินการโดยองค์กรพระพุทธศาสนาและองค์กรศาสนาอื่น, สถานชีวาภิบาลที่ดำเนินการโดยท้องถิ่น ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน ที่ไม่แสวงหากำไร, สถานชีวาภิบาลในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถานชีวาภิบาลเอกชน ได้แก่ สถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการให้บริการ ก็สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 3 ในระบบบัตรทองได้ โดย สปสช. จะมีการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินการต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว