เริ่มแล้ว! รับฟังความเห็น ปี 67 พัฒนา 30 บาทรักษาทุกที่

เริ่มแล้ว! รับฟังความเห็น ปี 67 พัฒนา 30 บาทรักษาทุกที่

สปสช.ชวนประชาชน แพทย์ พยาบาล บุคลากร อสม อสส. ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ-เอกชน ร่วมเสนอความเห็นสู่การพัฒนาสิทธิประโยชน์และยกระดับหลักประกันสุขภาพ เปิดช่องทางรับฟังหลากหลายเพิ่มความสะดวกให้ประชาชน 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จึงได้กำหนดให้มีการจัดรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี

ในปี 2567 นี้ สปสช. ยังคงเดินหน้าจัดการรับฟังความเห็นฯ โดยเป็นไปตามแนวทางดำเนินการโครงการปฏิรูปการรับฟังความคิดเห็นฯ ปีงบประมาณ 2567 ของอนุกรรมการสื่อสารฯ ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สวัสดิการประกันสังคม 'ด้อย' กว่าบัตรทอง?

'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่' เตรียมเข้าสู่เฟส 2 ใน 8 จังหวัด

 

ชวนประชาชนเสนอข้อคิดเห็น 8 ประเด็นสำคัญ

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า แผนปฏิรูปเน้นเพิ่มช่องทางการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่ได้รับการตอบสนองดี ก็อาจจะหาเทคโนโลยีหรือช่องทางใหม่ๆเข้ามาช่วยรับฟังความคิดเห็นให้มากขึ้น

นอกจากนี้จะใช้กลไกการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย เพิ่มกลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ และบูรณาการการรับฟังความคิดเห็นกับงานประจำให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะต่างๆอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี และการสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานตอบสนองต่อข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะอย่างเป็นระบบ

เริ่มแล้ว! รับฟังความเห็น ปี 67 พัฒนา 30 บาทรักษาทุกที่

 ทั้งนี้ ในการจัดการรับฟังความเห็นฯ ได้มีการกำหนดประเด็นแสดงความเห็นเป็น 8 ประเด็น ตามข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2558 ประกอบด้วย 

 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข

2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข

3.การบริหารจัดการสำนักงาน

4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.)

6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ 8.ประเด็นอื่นๆ 

 

3 ช่องทางการรับฟังความเห็นผ่านออนไลน์

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในปีนี้กระบวนการรับฟังความเห็นฯ ได้เริ่มขึ้นแล้ว นอกจากการรับฟังความเห็นที่ได้จากการบูรณาการงานประจำของระบบงานใน สปสช. และการเดินสายเพื่อรับฟังข้อเสนอจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในภาคส่วนต่างๆ เพื่อรับข้อเสนอแนะมาปรับปรุงการทำงานในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันทีแล้ว

สปสช.ได้เปิดช่องทางรับฟังความเห็นผ่านระบบออนไลน์ ดังนี้

1.แบบฟอร์มรับข้อเสนอแนะในรูปแบบออนไลน์

2.ช่องแชทผ่านไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso

3.สายด่วน สปสช. 1330

ในระหว่างนี้ สปสช. จะดำเนินการรวบรวมข้อเสนอแนะที่ได้รับทั้งหมดมากลั่นกรอง และจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นฯ ระดับประเทศภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ เพื่อส่งมอบข้อเสนอจากการรับฟังความเห็นให้กับบอร์ด สปสช. เพื่อการพิจารณาและดำเนินการต่อไป  

“การรับฟังความเห็นฯ เป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นส่วนที่นำไปสู่การพัฒนาสิทธิประโยชน์และยกระดับกองทุนบัตรทอง ที่คนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ จึงขอเชิญชวนประชาชน แพทย์ พยาบาล บุคลากร อสม อสส. ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ-เอกชน มาร่วมกันแสดงความเห็นเพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน” ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นฯ กล่าว 

แบบฟอร์มรับข้อเสนอแนะในรูปแบบออนไลน์
https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLScBWSWEkW_X5k0_GWk16Qoz9I7u1sif7JSf6l2Hnqq0PcEl_w/viewform