กางแผน20ปีพัฒนาระบบสาธารณสุข -รัฐเปิดกว้างเอกชนร่วมทุน

กางแผน20ปีพัฒนาระบบสาธารณสุข -รัฐเปิดกว้างเอกชนร่วมทุน

แผนชาติ 20 ปี พัฒนาระบบสาธารณสุข มุ่งความเป็นเลิศ 4 ด้าน ขณะที่สธ.วางโรดแมปไตรมาส 2 ปี 67 ขับเคลื่อน 13 นโนบายเร่งด่วน ตอบโจทย์การแก้ปัญหา วางรากฐาน และสร้างเศรษฐกิจ  “หมอชลน่าน”เผยเปิดกว้างเอกชนร่วมมือภาครัฐพัฒนาบริการ

Keypoints:

  • เปิดแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) พ.ศ. 2560 - 2579 มีเป้าหมายความเป็นเลิศ 4 ด้าน
  • ภายใต้รัฐบาลชุดนี้มีนโนบายหลักด้านสาธารณสุขเรื่อง ยกระดับ 30 บาท และมุ่งเน้น 13 เรื่องที่จะต้องขับเคลื่อนเร่งด่วน
  • ไม่เพียงแต่มิติเชิงสังคมและคุณภาพชีวิตเท่านั้น แต่มีการนำเรื่องของสุขภาพและสาธารณสุขมาใช้สร้างเศรษฐกิจด้วย รวมถึง การที่รพ.รัฐ เปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้าร่วมทุนในหลายรูปแบบ  

      ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกภาคส่วนให้ความสนใจและความสำคัญกับสุขภาพและระบบสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ซึ่งในการพัฒนาอ้างอิงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) พ.ศ. 2560 - 2579 มีเป้าหมายความเป็นเลิศ 4 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเลิศ (Promotion, Prevention & Protection Excellence)

        อาทิ พัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพคนไทยกลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย ,กลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่น,กลุ่มวัยทำงาน,กลุ่มวัยผู้สูงอายุ, พัฒนาระบบการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและภัยสุขภาพ,ควบคุมโรคติดต่อ,ควบคุมโรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ,ส่งเสริมและพัฒนาความปลอดภัยด้านอาหาร และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

           2. บริการเป็นเลิศ (Service Excellence)  อาทิ  พัฒนาระบบการแพทย์ปฐมภูมิ,ป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล,พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์,พัฒนาระบบดูแลแบบประคับประคอง,ระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ,ระบบบริการการแพทย์สุขภาพ ดูแลระยะกลาง ,พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ เป็นต้น
กางแผน20ปีพัฒนาระบบสาธารณสุข -รัฐเปิดกว้างเอกชนร่วมทุน

         3. บุคลากรเป็นเลิศ (People Excellence) มีแผนงานเรื่องการพัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายระยะ 20 ปี คือ สัดส่วนอัตรากำลังระหว่างเขตสุขภาพต่างกันไม่เกิน 5 % และอัตราการคงอยู่ของบุคลากรด้านสุขภาพไม่น้อยกว่า 95 %

        และ 4.บริหารเป็นเลิศด้วยธรรมาภิบาล (Governance Excellence) มีโครงการ อาทิ  พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีสุขภาพแห่งชาติ ,พัฒนาสุขภาพด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ,การบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง ลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน และปรับโครงสร้างและพัฒนากฎหมายด้านสุขภาพ เป็นต้น
 เป้าไตรมาส2 นโยบายเร่งด่วน

         สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือ “ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ” โดยมีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีคณะกรรมการขับเคลื่อน ติดตาม และกำกับการดำเนินงาน มีแพรทองธาร ชินวัตรประธาน ซึ่งการประชุมนัดแรกเมื่อช่วงเดือน พ.ย.2566 เห็นชอบให้เริ่มขับเคลื่อน 5 นโยบายสำคัญ โดยสอดคล้องกับ 13 นโยบายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุขประกาศนโยบาย และมีการกำหนดโรดแมปในไตรมาส2 ช่วงม.ค. – มี.ค.2567             
         แบ่งเป็น 4 ส่วน  ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 โครงการพระราชดำริฯ เฉลิมพระเกียรติ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น ปรับปรุงระบบบริการตามมาตรฐานของราชทัณฑ์ปันสุข 80% เพิ่มโรงพยาบาลอัจฉริยะต้นแบบระดับทอง 20 แห่ง มีอำเภอสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค 70 อำเภอ ,คิกออฟโครงการเฉลิมพระเกียรติ พาหมอไปหาประชาชน 4 ภาค ในเดือนมกราคมนี้

         ส่วนที่ 2 การแก้ปัญหา  มีนโยบาย รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล เปิด รพ.นพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า เขตมีนบุรี และลงนามความร่วมมือระหว่างสธ. กับกองทัพอากาศ ,สุขภาพจิต/ยาเสพติด ตั้งเป้า 40% ของมินิธัญญารักษ์ มีอัตราครองเตียงอย่างน้อย 30% หอผู้ป่วยจิตเวช/ยาเสพติดในรพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปคุณภาพ 30% และกลุ่มงานจิตเวช/ยาเสพติดในรพ.ชุมชน 90%
          นโยบายมะเร็งครบวงจร คัดกรองไวรัสตับอักเสบบี/ซี 2 แสนราย คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย Fit Test 475,000 ราย และส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ 38,000 ราย และสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร เร่งรัดตรวจสอบและประเมินผลงานตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษให้ครบเป้าหมาย 10,124 ตำแหน่ง รวมทั้งการใช้ตำแหน่งว่างบรรจุพยาบาลวิชาชีพให้ครบ 3,318 ตำแหน่ง
กางแผน20ปีพัฒนาระบบสาธารณสุข -รัฐเปิดกว้างเอกชนร่วมทุน
นำมิติสุขภาพสร้างเศรษฐกิจ
       ส่วนที่3วางรากฐาน  นโยบายการแพทย์ปฐมภูมิ พัฒนาระบบข้อมูลบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยี เพื่อการบริการอย่างไร้รอยต่อ ,สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ เปิดศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน ณ รพ.แม่สอด จ.ตาก, บุคคลผู้มีปัญหาสถานะได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น 0.2% ,สถานชีวาภิบาล ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเขตสุขภาพละ 2 แห่ง และจัดตั้ง Hospital at Home / Home Ward ในแต่ละเขตสุขภาพมากกว่า 75% ,พัฒนารพ.ชุมชนแม่ข่าย ระดับ A มีบริการ CT Scan ครบทั้ง 17 แห่ง

         และส่วนที่ 4 สร้างเศรษฐกิจ นโยบายดิจิทัลสุขภาพ รพ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขใน 8 จังหวัดนำร่อง และ 4 เขตสุขภาพ เชื่อมและส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์ได้ 100%  ,ส่งเสริมการมีบุตร ผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เป็นวาระแห่งชาติ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 75% มีบริการการฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) มีผู้ได้รับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก 2,700 คน 
         นโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ คัดเลือกชุมชนเป้าหมาย Healthy City MODELs จังหวัดละ 1 ชุมชน ให้การรับรอง Wellness Center 300 แห่ง และมี Care Giver 2,500 คน / Care Assistance 500 คน นวดไทย 2,500 คน  และนักท่องเที่ยวปลอดภัย อำเภอนำร่อง 30% เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดพิษสุนัขบ้า และศูนย์บริการชาวต่างชาติในสถานบริการสุขภาพ ใน 31 จังหวัดนำร่อง และเปิดกิจกรรม Safety Phuket Island Sandbox ในเดือนก.พ.นี้
กางแผน20ปีพัฒนาระบบสาธารณสุข -รัฐเปิดกว้างเอกชนร่วมทุน
เปิดกว้างเอกชนร่วมทุนรัฐ

         นพ.ชลน่าน กล่าวว่า 13 เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วน มีเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนใน 4 มิติหลัก คือ ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

           ผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งของการแถลงนโยบายนอกจากจะดูแลมิติคุณภาพชีวิต สังคมแล้ว แต่สธ.ยังมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้  ตั้งแต่ระดับนานาชาติ เรื่องเมดิคัลฮับ เป็นศูนย์กลางการเปิดกว้างเรื่องบริการ,สถานเรียนรู้,ผลิตภัณฑ์และWellness ก่อเกิดเศรษฐกิจระดับชุมชน เศรษฐกิจฐานราก ภูมิภาค และประเทศ

      ถามถึงการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนรวมกับภาครัฐในการพัฒนาระบบบริการ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  มี 3 ส่วน คือ 1.การร่วมทุน 2.ร่วมกิจกรรมบริการและ3.ผสมผสานกัน ซึ่งขณะนี้เน้นแนวทางที่ 2 เป็นหลัก และเริ่มที่จะมีการร่วมทุน เช่น กิจกรรมบริการหลายพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาในลักษณะเป็น outsource โดยเอกชนเข้ามาลงทุนและรพ.จ่ายค่าตอบแทนให้อย่างเหมาะสม 

         รวมถึง การร่วมทุนขนาดใหญ่ระหว่างรัฐและเอกชน แบบ Public Private Partnership(PPP) ในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) คือ รพ.ปลวกแดง 2 มีมูลค่าการลงทุนราว 2,600 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำTORก่อนจะเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นเรื่อง 

 “การที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดระบบสาธารณสุขกับภาครัฐ เพื่อที่ในอนาคตเกิดเป็นรพ.ของประชาชนที่แท้จริง เพราะจะมีส่วนร่วมเข้ามาทั้งภาครัฐและเอกชน”นพ.ชลน่านกล่าว