เปิดแผนพัฒนา‘ศิริราช’ รพ.รัฐใหญ่ที่สุดในประเทศ

เปิดแผนพัฒนา‘ศิริราช’ รพ.รัฐใหญ่ที่สุดในประเทศ

'ศิริราช'ขับเคลื่อนวิจัย-พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆตอบโจทย์ทางการแพทย์ บริการประชาชน ต่อยอดสู่การสร้างรายได้ เป็นโมเดลต้นแบบให้รพ.อื่น ปี 67 ลุย 2 โปรเจกต์ใหญ่ เปิดศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ-เริ่มแผนสร้างอาคารการแพทย์สถานีรถไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศ  

Keypoints :

  • ศิริราชเป็นทั้งโรงเรียนแพทย์ และรพ.รัฐที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีจำนวนเตียงกว่า 2,000 เตียง รองรับผู้ป่วยนอกจาก 4 หน่วยบริการกว่าวันละ 15,000 คน
  • การพัฒนาของศิริราชเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเป็น 5 G Smart Hospital การเป็นต้นแบบให้รพ.รัฐถึงรูปแบบบริการ เช่น การมีหน่วยบริการในห้างสรรพสินค้า  การตั้งรพ.กึ่งเอกชน 
  • ในปี 2567 ศิริราช เปิดศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช ที่จ.สมุทรสาคร และเดินหน้าโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช

         “ศิริราช” โรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่ก่อตั้งมาเป็นเวลา 136 ปี และโรงพยาบาลรัฐใหญ่ที่สุดของประเทศ ข้อมูลในปี 2565 รพ.ศิริราช มีจำนวนเตียง 2,239 เตียง แพทย์ 1,459 คน พยาบาล 4,051 คน ผู้ช่วยพยาบาล 2,421 คน และบุคลากรในฝ่ายต่าง ๆ 7,955 คน ให้บริการผู้ป่วยนอกวันละกว่า  12,000 คน

      ถือเป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม เป็นรพ.ของประชาชน ยังมุ่งสู่การเป็นสถาบันการแพทย์ระดับนานาชาติด้วย ทั้งนี้ กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล” เกี่ยวกับแผนการพัฒนา  
เปิดแผนพัฒนา‘ศิริราช’ รพ.รัฐใหญ่ที่สุดในประเทศ

     ศ.นพ.อภิชาติ  กล่าวว่า  ศิริราชเป็นสถาบันการแพทย์มีหน้าที่ในการดูแลคุณภาพชีวิตคนไข้ โดยเฉพาะการเป็นสถาบันที่ดูแลผู้ป่วยระดับ “ตติยภูมิชั้นสูง” มีศักยภาพดูแลเคสยากซึ่งที่อื่นไม่สามารถดูแลได้ นอกจากนี้  ยังต้องผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ไปดูแลประชาชนทั่วประเทศ 

       อีกทั้ง มีหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมผ่านกระบวนการทำวิจัยที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อได้องค์ความรู้ใหม่ในการดูแลคนไทยและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และต้องให้ความรู้ภาคสังคมให้มีความตระหนักเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกัน ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงทางสุขภาพ
ผู้ป่วยนอกวันละกว่า 15,000 คน
         ในส่วนของหน่วยบริการรักษาและดูแลสุขภาพ ปัจจุบันมี 4 หน่วยหลัก ได้แก่ 1.รพ.ศิริราช มีผู้ป่วยนอกวันละ12,000 คน

      2.รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลต้นแบบสำหรับโรงพยาบาลรัฐในการบริหารจัดการด้วยรูปแบบวิธีการบริหารพิเศษ เพื่อให้มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายคือ การมอบรายได้จากการดำเนินงานคืนกลับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และช่วยเหลือกิจการของคณะ บริการผู้ป่วยราว 2,000คนต่อวัน

     3.ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงพยาบาลทุติยภูมิสังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตั้งอยู่เลขที่  ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จ.นครปฐม รองรับผู้ป่วย 1,000 คนต่อวัน 

และ4.ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต หรือ SIRIRAJ H SOLUTIONS เป็นศูนย์Wellness อยู่นอกโรงพยาบาลแห่งแรก ตั้งอยู่ที่ไอซีเอส ไลฟ์สไตล์ คอมเพล็กซ์ ฝั่งตรงข้ามไอคอนสยาม ขนาดพื้นที่ 2,902 ตร.ม. มุ่งให้บริการด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ และการปรึกษาดูแลสุขภาพแบบครบวงจรตั้งแต่ คัดกรองสุขภาพ ดูแลเชิงป้องกัน เสริมสร้างสมดุล ฟื้นฟูศักยภาพ และชะลอความเสื่อม ปัจจุบันมีผู้เข้ารับบริการประมาณวันละ 200 คน เชื่อว่าจะขยายจำนวนมากขึ้นในอนาคต
สร้างอาคารการแพทย์สถานีรถไฟฟ้าแห่งแรก
         การขับเคลื่อนในปี  2567 จะดำเนินการ 2 โครงการใหญ่ คือ 1.ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช ตั้งอยู่ที่อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เป็นศูนย์ดูแลและให้ความรู้แก่ผู้ป่วยระยะพักฟื้นและผู้สูงอายุ  ขณะเริ่มเปิดดำเนินการ (Soft Opening)แล้วเมื่อต้นม.ค.2567 สำหรับผู้ป่วยนอก รับเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เเละนัดหมายเท่านั้น ให้บริการคลินิกตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเเบบครบวงจร ,คลินิกผู้สูงอายุ และคลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้สูงอายุ และระยะต่อไปจะเปิดให้บริการธาราบำบัดและอื่นๆ
       และ2.โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2566-2569 ด้วยวงเงิน 3.8 พันล้านบาท บนเนื้อที่ 4.67 ไร่โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการพัฒนาพื้นที่เป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย

         อาคารนี้จะเป็นหน่วยบริการหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช สูง 15 ชั้น เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีแดง เป็น Smart Hospital ด้วยเครือข่าย 5G มีบริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เน้นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ
เปิดแผนพัฒนา‘ศิริราช’ รพ.รัฐใหญ่ที่สุดในประเทศ

        อาทิ ศูนย์ตรวจสุขภาพ คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพ คลินิกผิวหนัง การบริการผู้ป่วยด้านอายุรกรรม ผู้ป่วยหลังผ่าตัด Ambulatory Unit/ One Day Surgery ที่เข้ารับบริการแล้วกลับบ้านได้โดยไม่ต้องพักค้างคืน รวมถึง ห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ เช่น การเจาะเลือด เป็นต้น ขณะนี้มีแบบในการก่อสร้างแล้ว คาดว่าปี 2567 จะเริ่มต้นโครงการและแล้วเสร็จในปี  2570

5G Smart Hospital
       การพัฒนาระบบให้บริการของรพ.ศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า  มีการนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านสารสนเทศ มาช่วยในการให้บริการ ทำให้การทำงานแม่นยำ ปลอดภัยมากขึ้น เป็นระบบที่เชื่อถือได้ ให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น และบุคลากรเหนือยน้อยลง ภายใต้ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม โดยเริ่มเมื่อ 3 ปีก่อนในการเป็น  5G Smart Hospital ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต คลาวด์มาทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้น 

     อย่างเช่น  ห้องฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่สามารถรู้สัญญาณชีพของคนไข้ได้จะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที หรืองานพยาธิวิทยาดิจิทัล จากเดิมดูกล้องด้วยพยาธิแพทย์ ตอนนี้มีการนำเครื่องเข้ามาช่วยในการสแกนผล  โดยแพทย์เข้ามาดูภายหลังสามารถประหยัดเวลาได้มาก มีsmart ambulance รถพยาบาลที่ใช้ระบบ 5G บอกเส้นทางเร็วที่สุดที่จะไปรับคนไข้ เป็นต้น และจำเป็นต้องพัฒนาต่อเนื่อง 
เร่งพัฒนานวัตกรรม
       นอกจากนี้  ต้องสร้างนวัตกรรมที่เป็นสิ่งประดิษฐ์หรือกระบวนการต่างๆ โดยกำลังเร่งเรื่องการทำนวัตกรรม(Innovation) เริ่มจากการพัฒนาคนทั้งนักศึกษา อาจารย์แพทย์ บุคลากร และเปิดโอกาสให้นักศึกษาหรือองค์กรอื่นเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อที่จะสามารถสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถที่เป็น “แพทย์นวัตกร” เกิดประโยชน์กับคนไทยและสังคมไทย  เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ขั้นสูง จะต้องใช้เรื่องของนวัตกรรมในการดำเนินการ และเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นมาเรียนรู้จากศิริราชต่อไป

เปิดแผนพัฒนา‘ศิริราช’ รพ.รัฐใหญ่ที่สุดในประเทศ
       ที่ผ่านมา มีความร่วมมือกับหัวเว่ยเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ และช่วยสอนพัฒนานักศึกษาในเรื่องนวัตกรรม หรือการร่วมกับเอกชนอีกหลายแห่งในการพัฒนาเรื่องของ AIต่างๆ  นับเป็นการนำวิศวกรมาเจอกับแพทย์ เพื่อเกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ สามารถตอบโจทย์ทางการแพทย์และการให้บริการประชาชนได้มากขึ้น
สร้างรายได้จากนวัตกรรมใหม่
      “ศิริราชได้รับงบประมาณจากภาครัฐเพียง 18 % จึงต้องหารายได้เองเพื่อนำมาให้บริการประชาชนและพัฒนางาน แม้เป็นองค์กรไม่แสวงหา แต่ก็ต้องไม่ขาดทุนด้วย  โดยปัจจุบันรพ.ศิริราชขาดทุนจากบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและประกันสังคมราว 2,500 ล้านบาท แต่ก็มีรายได้หลัก  80 %จากค่ารักษาพยาบาล และ.รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์มีกำไรประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึง รายได้จากการให้บริการวิชาการต่างๆ และอนาคตเมื่อมีการพัฒนานวัตกรรมที่เข้มแข็ง มั่นใจว่าส่วนนี้จะสร้างรายได้ให้กับศิริราชอย่างแน่นอน”ศ.นพ.อภิชาติกล่าว
      ทั้งหมดทั้งมวลจะดำเนินการไปด้วยบุคลากรที่มีวัฒนธรรมองค์กรเป็น”อัตลักษณ์ศิริราช” ใน 3 เรื่องสำคัญ คือ ความรับผิดชอบต่อสังคม, ความซื่อสัตย์ เลือกสิ่งที่ดีให้ประชาชน และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม