ปลดล็อกกลไกจัดหา 'วัคซีน'ภาวะฉุกเฉิน แบบ'จองซื้อล่วงหน้า'
บอร์ดวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบกฎหมาย ปลดล็อกภาวะฉุกเฉิน จัดหาวัคซีนแบบ “จองซื้อล่วงหน้า” ทำให้ไม่เกิดความล่าช้า หลังช่วงโควิด-19ติดขัด
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ(บอร์ดวัคซีนแห่งชาติ)ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริม การสนับสนุน เพื่อการจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น พ.ศ. ....ตามที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติเสนอ เนื่องจากช่วงที่สถานการณ์โควิด-19ระบาดเจออุปสรรคหรือข้ออ่อนด้อยก็เสริม ปรับแก้ในเรื่องนั้น
นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า (ร่าง) ระเบียบนี้จะทำให้เกิดการประสานงานกันอย่างชัดเจนมากขึ้น กลไกในการจัดหาวัคซีนจะช่วยให้ไม่เกิดความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนในภาวะฉุกเฉิน สามารถจองซื้อได้ล่วงหน้า
ติดกฎหมายจองซื้อ
อนึ่ง การยกร่างระเบียบฯดังกล่าว เนื่องจากผลการสรุปบทเรียนดำเนินงานด้านวัคซีนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญที่ ส่งผลกระทบต่อการจัดหาวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน คือ ข้อจำกัดด้านกฎหมายสำหรับการจองซื้อวัคซีน ล่วงหน้า ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไกและกระบวนการดำเนินงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เพื่อให้การจัดหาวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้จัดทำ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริม การสนับสนุน เพื่อการจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น พ.ศ. .... โดยเนื้อหาหลักกำหนดให้มี คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ รวมทั้งให้มีหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายในการจัดหาและบริหารจัดการวัคซีน
สาระสำคัญใน(ร่าง)ฉบับนี้ กำหนดว่า เมื่อมีการระบาดของโรคติดต่อหรือโรคระบาด ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ออกประกาศให้การระบาดของโรคติดต่อหรือโรคระบาดนั้น เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of 34 International Concern : PHEIC) หรือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศให้โรคติดต่อหรือโรคระบาดนั้น เป็นโรคติดต่ออันตราย
หรือโรคที่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดในวงกว้าง ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพประชาชน ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญ เช่น จัดทำข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย และแผนการจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุเป็นเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ และเจรจาต่อรองเพื่อจัดหาวัคซีนจากหน่วยงานหรือผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
จัดหาวัคซีนโดยวิธีการจองล่วงหน้า
รวมถึง กำหนดให้กรมควบคุมโรคร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติรวบรวมข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวกับการวิจัยพัฒนา และการผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดต่อหรือโรคระบาด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดหาวัคซีน ,ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติดำเนินการจัดทำบันทึกความตกลงหรือหนังสืออื่นใด ในการทำ ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีศักยภาพในการวิจัย การพัฒนา การผลิต การจัดหาวัคซีน เพื่อดำเนินการให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดต่อหรือโรคระบาดที่ได้รับความเห็นชอบตามมติคณะกรรมการ
การทำบันทึกความตกลงหรือหนังสืออื่นใด หากจะมีข้อผูกพันทางงบประมาณใน ลักษณะสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (Advance Market Commitment; AMC) ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่น ๆ ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบ และสามารถจัดหาวัคซีนตามเงื่อนไขในบันทึกความตกลงหรือหนังสืออื่นใดดังกล่าว โดยให้ส่งร่างบันทึกความตกลงหรือหนังสืออื่นใดให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาก่อนเสนอครม.
อีกทั้ง ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติประสานกับสำนักงบประมาณหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการจัดทำคำขอและขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อใช้ในการดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดต่อหรือโรคระบาด ทั้งนี้ การจัดหาวัคซีนโดยวิธีการจองล่วงหน้าในแต่ละครั้งอาจมีราคาแตกต่างกันไปตามกลไกความต้องการของตลาด ในแต่ละช่วงเวลา
และ ให้กรมควบคุมโรคหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายดำเนินการจัดทำคำขอและขอรับการจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนที่จัดหามาได้