เราอาจกำลังติด‘วัณโรคแฝง’ ตรวจรู้ได้ 2 วิธี กินยาป้องกันก่อนอันตราย
คนวัยทำงาน กำลังถูกกดดันไม่ให้ตรวจ 'วัณโรค' เพราะป่วยแล้วถูกไล่ออก คน 1 ใน 3 จึงป่วยมีอาการแต่หลุดระบบรักษา เสี่ยงแพร่กระจายเชื้อต่อสูง แนะรัฐจ่ายชดเชยรายได้ บางรายติด ‘วัณโรคแฝง’ ภูมิฯต่ำจะมีอาการ สงสัยตรวจรู้ได้ กินยารักษาก่อนมีอันตราย
Keypoints:
- 1ใน 3 คนไทยป่วยวัณโรค แต่ไม่ได้เข้ารักษา เหตุผลสำคัญเพราะกลัวป่วยแล้วถูกไล่ออก จึงอาจกล่าวได้ว่าคนทำงานกำลังถูกกดดันให้เกิดการ "ซ่อนวัณโรค"
- ผลสำรวจพบว่า ปัญหาตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยวัณโรคยังเป็นปัญหา ที่ส่งผลต่อการควบคุมโรค เพราะแม้แต่ผู้ป่วยก็ยังด้อยค่าตัวเอง
- คนทั่วไปอาจจะติด “วัณโรคแฝง” อยู่แบบไม่รู้ตัว เพราะร่างกายยังแข็งแรงจึงไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อภูมิร่างกายอ่อนแอก็จะป่วย หากมีความเสี่ยง สามารถตรวจวัณโรคแฝงได้ รู้แล้วกินยาก่อน
30 % มีอาการป่วยวัณโรค หลุดระบบรักษา
พญ.ผลิน กมลวัทน์ นายแพทย์ ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรคและอดีตผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยว่า อัตราการป่วย 155 ต่อแสนประชากร คาดการณ์มีผู้ป่วยรายใหม่ปีละกว่า 100,000 คน สามารถค้นหาผู้ป่วยเจอราว 70,000 คน คิดเป็น 70 % อีกราว 30,000 คน หรือ 30 % หายไปจากระบบ ทำให้มีความเสี่ยงไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ส่วนการเสียชีวิต 12,000-14,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 40 คนต่อวัน ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 10 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน
วัณโรคเป็นเพียง 1 โรคที่ประเทศไทยยังไม่บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกำหนดว่าต้องมีผู้ป่วยต่ำกว่า 75 ต่อแสนประชากร อีกทั้ง องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้แบ่งวัณโรคเป็น 3 ประเภท
1.วัณโรคและเอชไอวีร่วมด้วย โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยเอชไอวีราว 7,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นวัณโรค 50 %
2.วัณโรคดื้อยา ประเทศไทยหลุดจากบัญชีนี้แล้ว
และ3.วัณโรค ปัจจุบัน WHOจัดให้ประเทศไทยอยู่ในแบล็คลิสต์ 30 ประเทศที่มีวัณโรคมาก
ป่วยแล้วถูกไล่ออกจากงาน เลี่ยงไม่ตรวจ ไม่รักษา
ความเข้าใจที่ถูกต้องและลดการตีตราผู้ป่วยวัณโรค เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้แผนการกำจัดวัณโรคได้ผล เพราะจะทำให้คนกล้าที่จะเข้ารับการคัดกรองและรักษามากขึ้น
“ที่ผ่านมาหากตรวจพบว่าเป็นวัณโรค ก็จะถูกให้ออกจากงาน ผู้ป่วยวัณโรคจึงไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง แม้ว่าจะกินยาครบ 6 เดือนหายแล้ว หรือตัดสินใจไม่รับการตรวจคัดกรอง เพราะกลัวคนรังเกียจและตกงาน”พญ.ผลินกล่าว
คนป่วยด้อยค่าตัวเอง กดให้ตัวเอง
สอดรับกับที่เมื่อปี 2564 กองวัณโรคที่ดำเนินการร่วมกับกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการบููรณาการร่วมพัฒนาระบบเฝ้าระวังสถานการณ์ การตีตรา และการเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุุขภาพภาครัฐในพื้นที่่เฝ้าระวังของประเทศ
สำรวจสถานการณ์การตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเนื่่องมาจากวัณโรคในสถานบริการสุุขภาพ หรือโรงพยาบาลที่่อยู่่ในพื้นที่่12 จังหวัดที่่เป็นตัวแทนของแต่ละพื้นที่่เขตสุุขภาพ และกรุุงเทพมหานครรวมทั้งหมด 13 พื้นที่่ 219 โรงพยาบาล เก็บรวบรวมข้อมููลในกลุ่มเจ้าหน้าที่่ผู้ปฏิบัติงาน ให้บริการสุุขภาพในโรงพยาบาลเป้าหมาย จำนวน 2,628 ราย และกลุ่มผู้ป่วยวัณโรค อายุุ18 ปีขึ้้นไป ที่่กำลังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเป้าหมายนั้น และกินยาเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้้นไป จำนวน 3,732 ราย พบว่า
- ผู้ป่วย วัณโรค เกิดการตีตราตนเองสููงถึง 75.1 %
- ถููกเลือกปฏิบัติ จากสมาชิกในครอบครัว 55.5 %
- ถููกเลือกปฏิบัติในสถานที่่ทำงาน เนื่่องจากตนเองป่วยเป็นวัณโรค 16 %
- ผู้ป่วยวัณโรค 12.4 % มีประสบการณ์ การถููกเลอกปฏิบัติในสถานบริการสุุขภาพหรือโรงพยาบาลที่่รับการรักษาวัณโรคให้กับตนเอง
- ความรู้ความเข้าใจที่ถููกต้องเกี่ยวกับวัณโรค ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้บริการในสถานบริการสุุขภาพ และผู้ป่วยวัณโรค อยู่ในระดับต่ำ โดย 2 กลุ่มยังคิดว่าการติดต่อของวัณโรค มาจากการ สัมผัสเนื้อแตะต้องตัว ใช้ของใช้ ใช้ห้องน้ำ หรือรับประทานอาหารร่วมกัน ถึง 85 %
- ทั้ง 2 กลุ่ม และมีความรู้ที่ต่ำ ในเรื่องหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา (Surgical mask) ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อวัณโรคได้
- ทัศนคติด้านลบของเจ้าหน้าที่่ผู้ปฏบัติงานในสถานบริกาสุุขภาพต่อวัณโรคพบถึง 93 %
- เจ้าหน้าที่่หลีกเลี่่ยงที่จะให้บริการหรือแสดง ท่่าทางกลัวหรือรังเกียจผู้ป่่วยวัณโรค 24.8 %
กินยา2สัปดาห์-1เดือน เสมหะผลเป็นลบ ไม่แพร่เชื้อ
การจะยุติวัณโรคให้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดประการแรก “ต้องคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยให้เจอโดยเร็วแล้วนำเข้าสู่การรักษา”
การเอ็กซเรย์ปอดเป็นวิธีการคัดกรองอันดับแรก หากพบความผิดปกติที่สงสัยจะเป็นวัณโรค จะส่งต่อไปตรวจเสมหะเพื่อยืนยันผลทันที จากนั้นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรค เข้าสู่การรักษา ด้วยการรับประทานยาทุกวันจนครบ 6 เดือนก็จะหายจากโรค และสามารถรับบริการได้ฟรีในทุกสิทธิรักษาพยาบาลภาครัฐ
แต่หากสังคมไทยหรือผู้ป่วยเอง ยังมีการตีตราหรือไล่คนป่วยออกจากงาน ก็ยากที่จะทำให้เกิดการตระหนักว่า ควรเข้ารับการตรวจและรักษา
เมื่อไม่ตรวจ ไม่รู้ว่าป่วย ไม่ได้รักษา “วัณโรค”ก็จะแพร่อยู่ในสังคม แบบที่จะไม่รู้เลยว่าจะเสี่ยงไปติดเชื้อ ซึ่งวัณโรคมีระยะฟักตัวนาน 2-10 ปี
“วัณโรคไม่ใช่โรคของคนจน ซึ่งที่ผ่านมาดารา ไฮโซก็เป็นผู้ป่วยไม่น้อย เพียงแต่ไม่มีใครกล้าเปิดเผยเพื่อช่วยรณรงค์ป้องกัน และวัณโรคไม่ใช่โรคส่วนตัว แต่ถือเป็นโรคส่วนรวมที่หากไม่ยุติให้ได้ สังคมก็จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ”พญ.ผลินกล่าว
ขอให้คนในสังคมเข้าใจวัณโรคให้ถูกต้อง หากผู้ป่วยกินครบ 2 สัปดาห์ 90 %ผลตรวจเสมหะจะเป็น ลบ ไม่แพร่เชื้อต่อแล้ว และหากกินครบ 1 เดือน ผลตรวจเสมหะเป็นลบ 100 %ไม่แพร่เชื้อ
จึงไม่อยากให้สังคมรังเกียจและไล่คนเป็นวัณโรคออกจากงาน คนป่วยไม่ได้น่ากลัว แต่ที่น่ากลัวคือคนที่ไม่รู้ว่าป่วยซึ่งจะแพร่เชื้อต่อไป ดังนั้น คนที่สงสัยว่าจะป่วยหรือมีความเสี่ยง อย่าอายที่จะเข้ารับการตรวจ
วัณโรคแฝง อาการป่วยจะมาเมื่อภูมิฯร่างกายต่ำ
นอกจากนี้ ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่อาจจะกำลังติดวัณโรคแฝง โดยมีการติดเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกาย แต่ไม่รู้ เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายยังแข็งแรง จึงยังไม่แสดงอาการป่วย ยังไม่ป่วยเป็นวัณโรค และไม่แพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม หากร่างกายอ่อนแอและภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ก็จะแสดงอาการป่วยเกิดขึ้น
ผู้ที่สงสัยหรือมีประวัติเสี่ยง สามารถตรวจวัณโรคแฝงได้ 2 วิธี คือ
1.การทดสอบทางผิวหนังด้วยทูเบอร์คูลิน โดยการฉีดโปรตีนสกัดจากเชื้อวัณโรคเข้าในชั้นผิวหนัง บริเวณท้องแขน หลังจากนั้น 48-72 ชั่วโมง จะทำการวัดขนาดรอยนูนบริเวณที่ฉีดยา
2.การทดสอบ Interferon-gamma release assays (IGRAs) คือ การตรวจวัดปริมาณสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาจากตัวอย่างเลือด เพื่อช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อวัณโรค เมื่อมีการติดเชื้อวัณโรคขึ้นในร่างกาย ความไวและความจำเพาะ จะเท่ากับหรือดีกว่าการทดสอบทูเบอร์คูลิน ช่วยลดผลการทดสอบที่เป็นผลบวกลวงจากการทำทูเบอร์คูลิน
กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานเรื่องวัณโรคแฝง
1.ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค
2.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
3.ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรังที่ไม่ใช่เอชไอวี
ส่วนการรักษาวัณโรคแฝง
- รับประทานยา เพื่อทำการยับยั้งก่อนเชื้อแบคทีเรียจะส่งผลอันตราย
- ใช้เวลาในการรักษา 1 เดือน /3เดือน/4เดือน และ6-9 เดือนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- กินยาครบทุกเม็ด ทุกมื้อ ไม่หยุดยาเอง หากมีอาการแพ้ยา ควรปรึกษาแพทย์
- พบแพทย์หลังการรักษาครบ ทุก 6 เดือน จนครบ 2 ปี
รัฐควรให้เงินชดเชยรายได้ขณะรักษา
การยุติวัณโรคตามเป้า คือ ลดอัตราการตายลง 95% และลดผู้ป่วยรายใหม่ลง 90% ภายในปี 2578 ตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยประเทศไทยมี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ
1. เร่งรัดการค้นหาและตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา
2.ยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาตามสูตรมาตรฐาน
3. เพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคระยะแฝงและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค
4. เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสนับสนุนการดำเนินงานวัณโรค
และ 5. ขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมในการป้องกันควบคุมวัณโรค
พญ.ผลิน กล่าวว่า รัฐบาลควรจริงจังในเรื่องยุติวัณโรค ด้วยการสนับสนุนการคัดกรองเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างเช่น การจัดหาเครื่องตรวจคัดกรองนักโทษใหม่ก่อนเข้าเรือนจำ
รวมถึง การสนับสนุนเงินช่วยเหลือระหว่างที่ผู้ป่วยรับการรักษาด้วยการกินยาเป็นเวลา 6 เดือนซึ่งบางรายอาจจะถูกบริษัทให้ออกจากงาน และควรเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรที่ทำงานด้านวัณโรคด้วย เพราะมีคนทำน้อย
อนึ่ง ผู้ที่ต้องการตรวจคัดกรองวัณโรค หรือวัณโรคแฝง สามารถสอบถามได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน