โรครุมเร้าวัยทำงาน '10 Packages Plus' ช่วยสุขภาพดี

โรครุมเร้าวัยทำงาน '10 Packages Plus' ช่วยสุขภาพดี

สุขภาพคนวัยทำงานมีความเสี่ยงป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียด และอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ขณะที่พฤติกรรมสุขภาพปี 66 แนวโน้มลดลงทั้ง 5 เรื่อง  กรมอนามัยทำ '10 Packages Plus' สร้างเสริมสุขภาพดี

หากวัยทำงานสุขภาพแย่ นั่นย่อมแปลว่าคนในครอบครัวอีกหลายชีวิต รวมถึง เศรษฐกิจของประเทศไทย  จะได้รับผลกระทบไปด้วย กรมอนามัยทำ  "10 Packages Plus" ให้สถานประกอบกิจการนำไปใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพดี เนื่องจากคนอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
สารพัดโรควัยทำงาน
        จากการที่กรมอนามัยสำรวจสถานการณ์สุขภาพกลุ่มวัยทำงานจากแหล่งที่เกี่ยวข้อง พบว่า

  • มีภาวะอ้วน 37.5 %
  • กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอตามคำแนะนำ 74.1 %  
  • มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ  57.4 %
  • สูบบุหรี่  19.5 %
  • ดื่มแอลกอฮอล์ 38.9 %
  • ปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบในคนวัยทำงานพบว่า 91.8 % เกิดโรคฟันผุ พบเหงือกอักเสบ 62.4 % และเป็นโรคปริทันต์ 25.9  %

นอกจากนี้  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2566ว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทย (ความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟ) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 19.36 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.76 %
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในส่วนของสุขภาพของคนวัยทำงานที่มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียด และอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น และโรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม
โรครุมเร้าวัยทำงาน \'10 Packages Plus\' ช่วยสุขภาพดี

พฤติกรรมสุขภาพแนวโน้มลดลง

ขณะที่ข้อมูลกรมอนามัย เรื่อง การสำรวจพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์วัยทำงาน อายุ 25-59 ปี พ.ศ.2565 กับพ.ศ. 2566 (5 เดือนแรก) พบว่า มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ปกติ 37.82% และ  38.32 % ส่วนพฤติกรรมสุขภาพ

  • กินผักวันละ 5 ทัพพีทุกวัน ลดลงจาก 52.48 % ในปี 2565 เป็น 51.57 % ในปี 2566 (รอบ 5 เดือนแรก)
  •  กิจกรรมทางกายมากกว่าหรือเท่ากับ 150 นาทีต่อสัปดาห์มีแนวโน้มลดลง จาก 63.33 % ในปี 2565 เป็น 63.31 % ในปี 2566 (รอบ 5 เดือนแรก)
  • พฤติกรรมการนอน 7-9 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีแนวโน้มลดลง จาก 56.04 % ในปี.2565 เป็น 52.71 % ในปี พ.ศ.2566 (รอบ 5 เดือนแรก)
  • การแปรงฟันก่อนนอนนานอย่างน้อย 2 นาทีทุกวัน ลดลงจาก 74.24 % ในปี 2565 เป็น 73.75 % ในปี  2566 (รอบ 5 เดือนแรก)
  • และพฤติกรรมสุขภาพพึงประสงค์ ลดลงจาก 43.39 % ในปี  2565 เป็น 41.54 % ในปี  2566 (รอบ 5 เดือนแรก)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2567 ที่ห้องประชุมสโมสรทหารบก พลเรือโท นพ.นิกร เพชรวีระกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวภายหลังเป็นประธานงานเปิดตัวโครงการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานในสถานประกอบกิจการเพื่อสร้างเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาวะใน 4 มิติ (กาย ใจ สังคม จิตปัญญา) ว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายมุ่งพัฒนาคนในทุกมิติ โดยการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพ พัฒนาระบบสาธารณสุข และหลักประกันทางสังคม

ส่งเสริมให้มีมาตรการสร้างเสริมสุขภาวะ และอนามัยให้คนไทยวัยทำงานมีสุขภาพแข็งแรง ลดอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมทั้งจัดให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน

“สธ.มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีสุขภาพดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และเพิ่มผลิตภาพให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการดูแลประชากรกลุ่มวัยอื่น ๆ” พลเรือโท นพ.นิกรกล่าว 

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาประชากรกลุ่มวัยทำงาน ให้มีคุณภาพ พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยการบูรณาการภาคีเครือข่ายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างกลไกการดำเนินงาน และกลไกการขับเคลื่อนงานสู่การปฏิบัติ ให้เอื้อต่อการดูแลกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
ดัน 10 Packages plus

 ด้านพญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีบทบาทสำคัญด้านการส่งเสริมสุขภาพ จึงได้ดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มวัยทำงานให้ดีขึ้น โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ในการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพกลุ่มวัยทำงาน
 
เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการดำเนินงานและการพัฒนานวัตกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพ พร้อมทั้งการสร้างความเข้มแข็งในระดับเครือข่ายของนักส่งเสริมสุขภาพทั่วประเทศภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานในสถานประกอบกิจการเพื่อสร้างเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาวะใน 4 มิติ (กาย ใจ สังคม จิตปัญญา)
โดยใช้ชุดเครื่องมือ 10 packages และ Happy 8 ภายใต้ชื่อ 10 Packages Plus ใน 7 ประเด็นบูรณาการคือ อาหาร, กิจกรรมทางกาย, สุขภาพจิต, ยาสูบและแอลกอฮอล์, สิ่งแวดล้อม, สุขภาวะครอบครัว และสุขภาวะองค์กร โดยให้สถานประกอบกิจการออกแบบกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ตามสภาพปัญหาและความต้องการของตนเอง
โรครุมเร้าวัยทำงาน \'10 Packages Plus\' ช่วยสุขภาพดี
ความสุข 8 ประการ
       สำหรับ “10 Packages” ประกอบด้วย ชุดที่ 1 หุ่นดี สุขภาพดี ชุดที่ 2 จิตสดใส ใจเป็นสุข ชุดที่ 3 ครอบครัวสดใส ใส่ใจดูแล ชุดที่ 4 สุดยอดคุณแม่ ชุดที่ 5 เตรียมเกษียณอย่างมีคุณค่า พาชีวายืนยาว ชุดที่ 6 พิชิต ออฟฟิศซินโดรม ชุดที่ 7 สถานประกอบการจะก้าวไกล ต้องใส่ใจสุขภาพแรงงานต่างชาติ เน้นดูแลโรคติดต่อจากการทำงาน ชุดที่ 8 สถานประกอบการดี ชีวีสดใสไร้แอลกอฮอล์ บุหรี่ ชุดที่ 9 โรงอาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ และ ชุดที่ 10 สถานประกอบการปลอดภัยสิ่งแวดล้อมดี มีสมดุลชีวิตได้

     และ “Happy 8” หรือความสุข 8 ประการ ได้แก่   

1.Happy Body (สุขภาพดี) แข็งแรงทั้งกายและจิตใจ

2. Happy Heart (น้ำใจงาม) ในองค์กร มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันและกัน

3. Happy Relax (การผ่อนคลาย) ต้องรู้จักการผ่อนคลายกับสิ่งต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต เป็นการสร้างสมดุลชีวิต 

4. Happy Money (ใช้เงินเป็น) การที่สามารถจัดการรายรับรายจ่ายของตนเองได้

5. Happy Brain (หาความรู้) มนุษย์เราทุกคนต้องมีความรู้ในงาน มีความรับผิดชอบ มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

6. Happy Soul (การมีคุณธรรม หิริ โอตัปปะ) ความละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำของตนเองโดยเฉพาะการกระทำที่ไม่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์ สามัคคี

7. Happy Family (ครอบครัวที่ดี) มี ครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคงให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นกำลังใจที่ดีในการทำงาน 

และ8. Happy Society (สังคมดี) ทั้งในและนอกที่ทำงานต้องมีความรักสามัคคีเอื้อเฟื้อและสภาพแวดล้อมที่ดี