บนความหวัง‘กองทุนมะเร็ง’ ให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงยากลุ่มใหม่
เสียงจากผู้ป่วยมะเร็ง สนับสนุนรัฐตั้ง “กองทุนมะเร็ง” จัดสรรงบประมาณดูแลรักษาเท่าเทียม เข้าถึงยากลุ่มใหม่ได้ทันเวลารักษา เพราะโรคมะเร็งรอไม่ได้ ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น สอดรับนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
4 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันมะเร็งโลก ซึ่งจากข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งของประเทศไทย ปี 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ราว 140,000 คนต่อปี หรือวันละ 400 คน เพศชายมีอุบัติการณ์วันละ 173 คนต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนเพศหญิงวันละ 159 คนต่อประชากร 1 แสนคน
เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง วันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี (ข้อมูลปี 2562 จากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) นอกจากนี้ ข้อมูลสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2564 ยังพบว่าโรคมะเร็งและเนื้องอกต่างๆ เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด(อัตรา 128 คนต่อประชากร 100,000 คน
โรคมะเร็งที่เป็นปัญหาสำคัญ 5 อันดับแรกของประเทศไทย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก โดยคิดเป็น 54.3 % ของผู้ป่วยรายใหม่ในปี 2563
กองทุนมะเร็งช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา
กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ภายใต้การนำของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข มีนโยบายสำคัญ “มะเร็งครบวงจร” มุ่งเน้นครอบคลุมทั้งการส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง รักษาและฟื้นฟู รวมถึง จัดตั้ง “กองทุนมะเร็ง”
“จะสู้กับมะเร็ง การใช้จ่ายงบประมาณรายปีอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีกองทุนเกิดขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้จ่ายรองรับนโยบายมะเร็งครบวงจร เกิดการบูรณาการงานของประเทศ จากที่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องมะเร็งแบบกระจัดกระจาย โดยจะเป็นกองทุนที่ดูแลครอบคลุมคนไทยทุกคน ทุกสิทธิรักษาพยาบาล ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดตั้งกองทุนได้ภายในปี 2567 นี้”นพ.ชลน่าน กล่าว
กองทุนฯช่วยค่ารักษา-เยียวยาจิตใจ
แม้สิทธิสวัสดิการข้าราชการให้เบิกยามุ่งเป้าได้ แต่ยังมีขั้นตอนในการขออนุมัติการใช้ยาอีกราว 2 สัปดาห์ และยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่จำเป็นต้องเรียกรถแท็กซี่หรือรถพิเศษเพราะระหว่างรักษาร่างกายอ่อนแอ รวมถึง ค่าส่วนต่างของค่ารักษาเพิ่มเข้ามา และจากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนผู้ป่วยคนอื่นๆ บางคนไม่มีเงินก็ต้องหยุดยาที่รับอยู่
ฉะนั้น เมื่อรัฐมีแนวคิดจะตั้งกองทุนมะเร็ง จึงอยากให้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการรักษามากขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่ยังไม่ครอบคลุมในสิทธิประโยชน์ของประกันสุขภาพภาครัฐ ไม่เพียงเพิ่มโอกาสทางการรักษาของคนไข้ แต่ยังช่วยให้มีกำลังใจมากขึ้น ไม่ต้องเครียดจากความกังวลในเรื่องที่ต้องหาเงินจากไหนมารักษาตัวเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม
ขอสิทธิได้รับยาที่อยู่นอกสิทธิ
สำหรับมุมมองของผู้ป่วยมะเร็ง ชื่นชมอย่างมากถึงนโยบายของ รมว.สธ. ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องมะเร็ง ทว่าสิ่งที่ปรารถนาอย่างยิ่งสำหรับคนไข้ คือ การเข้าถึง ยากลุ่มใหม่ได้ทันเวลารักษาโดยเฉพาะผู้ป่วยระยะลุกลาม เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไม่เหลื่อมล้ำ
“เมื่อได้ยินว่าคุณหมอชลน่านมีแนวคิดเรื่องของการจัดตั้งกองทุนมะเร็ง รู้สึกชื่นชมและขอบคุณอย่างมาก เพราะเชื่อว่าจะสามารถทำให้คนไข้มะเร็ง สามารถเข้าถึงยาใหม่ๆการรักษาได้อย่างเท่าเทียมและครอบคลุมมากขึ้น” ขนิษฐา เรืองศรี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมวัย 53 ปีกล่าว
ก่อนจะเล่าย้อนให้ฟังว่า เมื่อ 2 ปีก่อนได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งเต้านม ขนาดก้อนมะเร็งราว 4-5 เซนติเมตร แพทย์ทำการรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัด และยามุ่งเป้า จนก้อนเล็กลง แพทย์คลำไม่เจอ จึงผ่าตัดผ่านมาแล้ว 1 ปีและยังคงติดตามอาการกับแพทย์ตามนัดอยู่เสมอ
“ทันทีที่รู้ว่าป่วยเป็นมะเร็ง ความคิดที่ผุดขึ้น ฉันจะตายไหม จะอยู่ได้นานแค่ไหน จะตายเมื่อไหร่ จะรักษายังไง จะเอาเงินที่ไหน จิตใจหดหู่ไปหมด” ขนิษฐากล่าว
มะเร็งต้องรักษาเหมาะสม ถูกเวลา
สอดรับกับ ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society : TCS) อดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้ายในหัวใจ เจ้าของเฟสบุ๊กแฟนเพจ “เรื่องจริงกะเบลล์ JingaBell” ซึ่งตรวจพบตอนอายุ 26 ปี ถือเป็นมะเร็งชนิดที่หายยากและแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิตเลย แต่ปัจจุบันโรคสงบมาเป็นปีที่ 7 ผ่านการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดประมาณ 26 ครั้ง ฉายแสง 18 ครั้ง ยามุ่งเป้า และผ่าตัด ใช้เวลารักษา 4 ปีเต็ม โดยใช้สิทธิรักษาที่มีอยู่ ส่วนที่ไม่ครอบคลุมก็จ่ายเพิ่ม
“โรคมะเร็งถ้าเจอระยะแรกหรือระยะท้ายอย่างตัวเองก็รักษาได้ อยู่ที่การปฏิบัติตัวและแนวทางการรักษา หากรักษาได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา เพราะเป็นโรคที่มีเวลาจำกัดราว 5-6 เดือนที่จะหาแนวทางรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสมกับเราและอยู่ในช่วงเวลาที่สามารถสู้กับมะเร็งได้ ไม่ได้อยู่ที่โชคชะตา” ศิรินทิพย์กล่าว
ปัจจุบันการรักษามะเร็งในผู้ป่วยทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐทั้งบัตรทอง 30 บาท ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ครอบคลุมยามาตรฐาน เช่น ยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ยารักษาตัวใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งการรักษาด้วยยาเหล่านั้นมักจะเบิกไม่ได้ แม้ว่าจะช่วยยืดอายุและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ตาม
ส่วนคนที่โรคมีความซับซ้อน เป็นระยะท้าย คุณภาพชีวิตไม่ค่อยดี แพ้ยาเคมีบำบัด บางกลุ่มก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้ เพราะยาใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีถึงจะถูกบรรจุเข้าไป “ตรงนี้เป็นช่องว่างของการได้รับการรักษา คนไข้มะเร็งมีเวลาทองที่รอไม่ได้
เพราะก้อนจะโตขึ้นเรื่อยๆ ระยะลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งสำคัของการต่อสู้กับโรคมะเร็งจึงอยู่ที่เวลาและแนวทางที่เหมาะสม จะให้รอจนยาบรรจุเข้าบัญชียาหลักคนไข้รอไม่ได้ และหากจะมองถึงความคุ้มค่าของตัวเงินอย่างเดียว วัดกับชีวิตคนหนึ่งคน ก็เป็นสิ่งที่วัดกันไม่ได้”
หนุนจัดตั้งกองทุนมะเร็ง
หากมีการจัดตั้งกองทุนมะเร็ง โดยเฉพาะนำมาใช้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับคนไข้ ในเรื่องการรักษานอกเหนือจากที่สิทธิประโยชน์ครอบคลุม แต่แพทย์เห็นว่าควรได้รับแนวทางการรักษานี้ มีประสิทธิภาพที่ดี คุ้มค่าต่อการมีชีวิตอยู่ต่อ จะช่วยให้เข้าถึงยากลุ่มใหม่ได้ทันเวลารักษา เป็นวงกว้างและเท่าเทียม ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง 1 คนมีค่าใช้จ่ายหลายแสนหรือหลักล้านบาท และจะต้องจัดทำแนวทางในการพิจารณาให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่เหมาะสมอย่างชัดเจน
“กองทุนมะเร็ง น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้มากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถกลับมาทำงานช่วยเหลือประเทศได้เหมือนเดิม” ศิรินทิพย์ กล่าว
กองทุนต้องยั่งยืน
ที่สำคัญ ศิรินทิพย์ มองว่า กองทุนมะเร็งที่จัดตั้งขึ้นจะต้องแยกออกมาจากงบประมาณของประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักฯ รวมไปถึงกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนรับยามุ่งเป้า เช่น การตรวจยีนพันธุกรรรมด้วย
เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้กองทุนมีความยั่งยืน ไม่ใช่มีเพียง 6 เดือน 1 ปี หรือ 10 ปี อาจจะมีการประสานความร่วมมือกันทั้งรัฐ เอกชนและประชาชน โดยมีสัดส่วนการสนับสนุนจากรัฐมากที่สุด ประชาชนอาจไม่ได้ให้เงินแต่มีส่วนร่วมเรื่องของการเสนอแนะข้อดีข้อเสีย เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงกองทุน
ขณะที่ นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูงสาขามะเร็ง รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี กล่าวว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งแยกเป็น ค่าใช้จ่ายทางตรงที่ระบบสุขภาพจ่ายให้ (Direct medical cost) เช่น ผ่าตัด ให้ยา ฉายแสง
แต่ก็มีการรักษาอีกมากมายที่เป็นสมัยใหม่ที่สิทธิประกันสุขภาพภาครัฐยังไม่ได้ครอบคลุม และ ค่าใช้จ่ายทางตรงที่ผู้ป่วยแบกรับ (Direct non-medical cost) เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พักในการมารับการรักษารพ. โดยคนไข้จำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้
ช่องว่างการ‘เข้าถึง-รักษา’ของผู้ป่วย
จากที่เคยสอบถามคนไข้มะเร็ง พบว่า ต้องใช้เงินราวเดือนละมากถึง 20,000 บาท ใช้เวลา 2-3 เดือนในการหาเงิน โดยที่ระยะของโรคก็เปลี่ยนไปแล้ว และคนไข้อาจต้องใช้หนี้ไปอีก 1-2 ปี
“ช่วง 1 ปีแรก คนไข้ต้องวนเวียนอยู่กับโรงพยาบาลตลอด เมื่อหนึ่ง คนเป็นมะเร็ง ทั้งครอบครัวมักจะได้รับผลกระทบ โดยบางคนต้องลาออกจากงานมาดูแลผู้ป่วย การจะดูแลมะเร็งให้ครบวงจร จึงควรดูแลครอบครัวด้วยบางส่วน และแม้สิทธิภาครัฐจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายเพียงส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ทำให้คนไข้เข้าไม่ถึงการรักษา” นพ.ภาสกรกล่าว
การมีกองทุนเฉพาะเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งมีความจำเป็น เนื่องจากที่ผ่านมา เงินสนับสนุนจากรัฐยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายจากการรักษาด้วยยา เพียงแต่จะต้องจัดทำเกณฑ์การพิจารณา และตั้งคณะกรรมการ เพื่ออนุมัติในการใช้ยาหรือแนวทางรักษาใหม่ๆ