สธ. เดินหน้า 'มะเร็งครบวงจร' ปิดช่องว่าง การดูแลรักษาโรคมะเร็ง
สธ. จัดงานกิจกรรมวันมะเร็งโลก 2567 โดยในปีนี้ WHO ให้ความสำคัญกับ 'Close the care gap' การปิดช่องว่างในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง เดินหน้า มะเร็งครบวงจร ครอบคลุม ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และบำบัดฟื้นฟู
Key Point :
- ประเทศไทยแต่ละปี มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 1.4 แสนคน เสียชีวิต 8.3 หมื่นคน โดยอันดับหนึ่งมะเร็งที่พบในไทย คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2050 ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ จะมีมากกว่า 35 ล้านคนทั่วโลก จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2022 จะมี 20 ล้านคน
- สธ. เดินหน้า นโยบาย มะเร็งครบวงจร ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และบำบัดฟื้นฟู จัดตั้งทีมเชิงรุก ‘นักรบสู้มะเร็ง’ บูรณาการร่วมกับ Service Plan สาขาโรคมะเร็ง เพื่อการแก้ปัญหาได้อย่างเห็นผล
โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของทั่วโลก โรคมะเร็งที่พบ 5 อันดับแรกของโลก คือ
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งปากมดลูก
สำหรับประเทศไทย สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 1.4 แสนคน เสียชีวิต 8.3 หมื่นคน โดยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก คือ
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
เมื่อวันที่ 5 กุมพาพันธ์ 2567 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในงานแถลงข่าว วันมะเร็งโลก ปี 2567 โดยระบุว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรคมะเร็งในลำดับต้น โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ หรือ Service Plan สาขาโรคมะเร็ง เป้าหมาย คือ ลดอัตราการเสียชีวิต ลดอัตราป่วย และลดระยะเวลาการรอคอยการรักษา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ปิดช่องว่าง ‘คัดกรองมะเร็งปอด’ ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้ รู้เร็วรักษาทัน
- ‘มะเร็งปอด’ มีโอกาสพบใน ‘ผู้หญิง’ มากกว่าผู้ชาย แม้ไม่เคยสูบบุหรี่
- 'มะเร็ง' ไม่ได้เท่ากับตาย รู้ทัน 'มะเร็งปอด' คัดกรองไว รักษาทัน
ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย มะเร็งครบวงจร เป็นหนึ่งในนโยบายครอบคลุม ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย รักษา และบำบัดฟื้นฟู จัดตั้งทีมเชิงรุกด้านโรคมะเร็ง คือ ‘นักรบสู้มะเร็ง’ (Cancer Warrior) ที่เป็นรูปธรรม ทำงานบูรณาการร่วมกับ Service Plan สาขาโรคมะเร็ง ในพื้นที่ ทำให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งเห็นผลมากยิ่งขึ้น
องค์การอนามัยโลก (WHO) โดยสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล ได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น วันมะเร็งโลก หรือ World Cancer Day เพื่อให้คนทั่วโลก ร่วมมือร่วมใจกัน ต่อสู้กับโรคมะเร็ง ลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง
กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย จึงจัดกิจกรรม วันมะเร็งโลก ขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือในการสร้างทีมต่อสู้โรคมะเร็งระดับประเทศที่เข้มแข็ง ทั้งระดับผู้นำประเทศ ระดับกระทรวง ระดับเขตสุขภาพ ระดับจังหวัด และระดับประชาชน อันจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ป่วยมะเร็ง มีความหวังและมีกำลังใจต่อสู้กับโรคต่อไป
โลกเผชิญ สึนามิมะเร็ง
รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งเป็นเรื่องสำคัญ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นวันมะเร็งโลก เนื่องจากโรคมะเร็งพบได้บ่อย นำมาสู่การสร้างแรงกระตุ้นเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักรู้โรคมะเร็งที่ถูกต้องและมีทัศนคติที่ดี
โดยเฉพาะปีนี้เรียกว่าเป็น สึนามิมะเร็งโลก มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2050 ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ จะมีมากกว่า 35 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 77% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2022 จะมี 20 ล้านคน จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะผู้สูงวัย การสูบบุหรี่ แอลกอฮอลล์ ความอ้วน และมลพิษทางอากาศ
สำหรับในปีนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ให้ความสำคัญกับการ 'Close the care gap' หรือ การปิดช่องว่างในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง เรามีการพัฒนารักษาโรคมะเร็งมากมาย ในบางประเทศใช้งบประมาณในการดูแลสุขภาพเพียง 5% เปรียบเทียบกับในบางประเทศ ใช้การดูแลเรื่องมะเร็งกว่า 80% แต่เทคโนโลยีไม่กระจายทั่วโลก
ขณะที่ประเทศไทยโชคดีที่มีการดูแลทั่วถึง เป็นเรื่องสำคัญ และอีกเรื่องที่มีการพูดถึง คือ ผู้ที่มีอำนาจการตัดสินใจด้านนโยบายมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข มีการขับเคลื่อน 13 นโยบาย Quick Win และมะเร็งเป็นหนึ่งในนโยบายที่มีการขับเคลื่อนภายใต้ มะเร็งครบวงจร
ทั้งการคัดกรอง ป้องกันได้ และมียาที่ทันสมัยในการรักษา ลดความรุนแรง เพื่อให้ผู้ป่วยดีขึ้น โดยมีทีม Cancer Warrior รวมถึงการดำเนินการเกี่ยวกับโรคมะเร็งใน 100 วันแรก คือ การฉีดวัคซีน HPV จำนวน 1 ล้านโดส โดยในระยะเวลาเพียง 1 เดือนกว่า ฉีดไปแล้ว 1.4 ล้านโดส
“ที่สำคัญ คือ การรักษาผู้ป่วยซึ่งต้องมีสถานดูแล ชีวาภิบาล เป้าหมาย 13 เขต 137 แห่ง ใน 44 จังหวัด โรคมะเร็งเป็นเรื่องท้าทาย การประกาศเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุน WHO ในการ 'Close the care gap' ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ขับเคลื่อนโรคมะเร็งในทุกด้าน ไม่ว่าจะการคัดกรอง วินิจฉัย รักษา ดูแล ฟื้นฟู ตามนโยบาย มะเร็งครบวงจร ที่ได้ประกาศไว้” รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวทิ้งท้าย