'มะเร็ง'โรคร้าย รู้เร็ว รักษาได้ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือก
‘โรคมะเร็ง’ เป็นโรคร้ายที่คนทั่วโลกต่างหวาดกลัว ซึ่งตามรายงานแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2561-2565) ระบุว่า มะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก และถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศ
Keypoint:
- ‘โรคมะเร็ง’เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของประชากรไทยและผู้คนทั่วโลก ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง
- มะเร็งตับในระยะแรกจะดำเนินไปอย่างช้าๆ และมักไม่แสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตรวจพบในระยะที่เริ่มแสดงอาการแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อมะเร็งแบ่งตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ
- 'มะเร็ง'ควรรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันก่อนแล้วค่อยมารักษาแพทย์บูรณาการ หรือแพทย์ทางเลือกร่วมด้วย เพื่อใช้เป็นการรักษาเสริมให้ผลการรักษาดีขึ้น
สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control : UICC) ได้กำหนดให้ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น ‘วันมะเร็งโลก’ หรือ World Cancer Day เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยของโรคมะเร็ง อันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งผลักดันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างเท่าเทียม
โดยในปีนี้มีจะมีการจัดเสวนา ว่าด้วยเรื่อง Close the care gap ลดวิกฤติปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา
สำหรับสถานการณ์โรคมะเร็งของไทย จากข้อมูลล่าสุดจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ปัจจุบันคนไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี และเสียชีวิตวันละ 221 คน หรือ 80,665 คนต่อปี โดยข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งรายงานว่า อุบัติการณ์โรคมะเร็งในไทย พบโรคมะเร็งในเพศหญิง 151 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และพบในเพศชาย 169.3 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไม่อยากเสี่ยง 'โรคมะเร็ง' ลดอาหารกลุ่มเสี่ยง ช่วยได้ 30-40 %
'มะเร็งตับ' มะเร็งอันดับ 1 ที่พบมากสุดในคนไทย
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก ได้แก่
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มะเร็งปากมดลูก
‘มะเร็งตับและท่อน้ำดี’ เป็นมะเร็งอันดับ 1 ของมะเร็งทั้งหมดที่คร่าชีวิตคนไทย โดยมะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1ในผู้ชาย และเป็นอันดับ 3ในผู้หญิง รองจากมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม
อย่าง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดัง หนึ่งในผู้ป่วยมะเร็งตับระยะที่ 4 หรือมะเร็งตับสุดท้าย โดยหมอระบุว่ามะเร็งตับหากรู้ก่อนและรักษาอย่างถูกวิธีจะทำให้ก้อนเนื้อร้ายไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต แต่เมื่อรู้อีกทีก็อาการหนักแล้ว ปัจจุบันได้เดินทางไปเพื่อรักษาตัวและพักฟื้นร่างกายที่ประเทศสก็อตแลนด์
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2563 มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในคนไทย เป็นจำนวนมากถึง 27,394 ราย หรือคิดเป็น 14.4% ของโรคมะเร็งทั้งหมด ในจำนวนนี้ผู้ป่วย 26,704 รายเสียชีวิต ซึ่งคิดเป็น 21.4% ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั้งหมด
การพยากรณ์โรคมะเร็งตับขึ้นอยู่กับระยะที่ตรวจพบ เมื่อเริ่มวินิจฉัย โดยทั่วไปแล้วอัตราการอยู่รอดที่ 5 ปีคือ 20% โดยผู้ที่มีระยะของโรคที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งออกไปนอกตับแล้วจะมีโอกาสอยู่รอดที่ 3 เปอร์เซ็นต์ที่ 5 ปี ในขณะผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยในระยะที่โรคมีขนาดไม่ใหญ่ จะมีอัตราการอยู่รอดที่ 34% ที่ 5 ปี
ชนิดและสาเหตุมะเร็งตับ ที่พบมากในประเทศไทย
ส่วน ข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย ปี 2561 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับ รายใหม่ 22,213 คน/ปี ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,650 คน/ปี (Cancer in Thailand Vol.X (2016-2018)
ชนิดของมะเร็งตับ มีดังนี้
1.มะเร็งของเซลล์ตับ (hepatocellular carcinoma) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก และพบมากที่สุดในประเทศไทย
2.มะเร็งตับอื่นๆ เช่น มะเร็งของท่อน้ำดีในตับ (intrahepatic cholangiocarcinoma) มะเร็งของเส้นเลือดในตับ (angiosarcoma and hemangiosarcoma) และมะเร็งตับที่พบในเด็ก (hepatoblastoma)
สาเหตุของการเกิดมะเร็งตับ สามารถเกิดได้ดังนี้
1.การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่เกิดจากการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ส่วนปัจจุบันมักเกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งตับมากกว่าคนปกติถึง 200 เท่า ส่วนการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับมากกว่าคนปกติ 50 เท่า โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับส่วนมากเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี
2.โรคตับแข็ง
- ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับร้อยละ 80 - 90
3. สารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxins)
- สารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในถั่วลิสง กระเทียม พริกแห้ง ข้าวโพด โดยเชื่อว่าไวรัสตับอักเสบบี เป็นปัจจัยนําของการเกิดมะเร็งตับ และอะฟลาท็อกซินเป็นปัจจัยเสริม นอกจากนั้นแอลกอฮอล์ บุหรี่ โรคไขมันในตับ และสารพิษอื่นๆ ที่สะสมในร่างกาย เช่น การใช้ยาคุมกําเนิดเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ก็ยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับด้วย
มะเร็งตับเกิดขึ้นได้โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ
1. เกิดขึ้นที่ตับโดยตรง
2. เซลล์มะเร็งลุกลามมายังตับ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับ
รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อธิบายว่า การเกิดมะเร็งตับนั้นมาจากหลายสาเหตุ ไม่ใช่เพียงการดื่มสุรา หรือแอลกอฮอล์ เท่านั้น อาจจะเกิดจาก เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี รวมถึงการได้รับสารอะฟลาท็อกซินที่มาจากถั่วลิสง ข้าวโพด เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับได้ มีดังนี้
- เพศชาย
- ประชากรในประเทศเอเชียตามมาด้วยกลุ่มลาตินอเมริกา
- ผู้ป่วยที่มีประวัติไวรัสตับอักเสบบีหรือซี
- ผู้ป่วยที่มีโรคตับแข็งจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น ภาวะไขมันเกาะตับจนทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ, กลุ่มโรคที่มีการอักเสบของท่อน้ำดีเรื้อรัง, หรือกลุ่มโรคพันธุกรรมที่ทำให้มีเหล็กพอกตับ
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- การสูบบุหรี่
- โรคอ้วน เบาหวานและกลุ่มโรคเมตาบอลิก
- การได้รับสารพิษชนิด Aflatoxins
- การได้รับสาร vinyl chloride และ thorium dioxide ที่พบในอุตสาหกรรมพลาสติกมาเป็นเวลานาน
- การใช้ฮอร์โมนประเภท anabolic steroids เช่น ฮอร์โมนเพศชายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างผิดวิธี
เช็กอาการให้ชัวร์ รู้เร็ว รักษาได้
สำหรับ มะเร็งตับในระยะแรกจะดำเนินไปอย่างช้าๆ และมักไม่แสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตรวจพบในระยะที่เริ่มแสดงอาการแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อมะเร็งแบ่งตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว และลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ
โดยอาการที่พบเมื่อเป็นมะเร็งตับมากขึ้น
- ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หลังหรือไหล่
- ท้องบวมขึ้น
- น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
- คลำพบก้อนที่บริเวณตับ
- ตัวเหลืองและตาเหลือง
- หากพบมะเร็งตับในระยะแรก มีอัตราการรอดที่ประมาณ 5 ปี
- ขณะที่หากตรวจพบในระยะกลางและระยะท้ายจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงครึ่งหนึ่ง
- ส่วนคนไข้ที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่มาในระยะท้ายๆ เช่น ระยะที่ 3-4 เนื่องจากระยะแรกของมะเร็งตับมีก้อนขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร เลยยังไม่มีการแสดงอาการทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์
แต่ละระยะมะเร็งตับ มีอาการอย่างไร
มะเร็งตับสามารถแบ่งระยะได้เป็น 4 ระยะหลักๆ ตามขั้นตอนการแพร่กระจายของโรคและความรุนแรงของมะเร็งตับเอง
ระยะที่ 1 (ระยะเบื้องต้น): มะเร็งตับยังคงอยู่ในตับและยังไม่ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ มักจะไม่มีอาการชัดเจนในขณะนี้ และอาจไม่เป็นอันตรายมากต่อชีวิตของผู้ป่วย
ระยะที่ 2 (ระยะที่มะเร็งขยายขนาด): มะเร็งตับเริ่มขยายขนาดมากขึ้นและอาจเริ่มแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการเหล่านายและความผิดปกติทางร่างกาย
ระยะที่ 3 (ระยะที่มะเร็งแพร่กระจาย): มะเร็งตับแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในระยะนี้มะเร็งตับอาจไปยังอวัยวะใกล้เคียงเช่น ไตหรือลำไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นและต้องการการรักษาที่มากขึ้น
ระยะที่ 4 (ระยะที่มะเร็งแพร่กระจายอย่างรุนแรง): มะเร็งตับได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะหลายแห่งและมีความรุนแรงมาก เช่น สมองหรือปอด ในระยะนี้มักจะมีโอกาสรักษาหายยากมากและมักจะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพของผู้ป่วย
วินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งตับ
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ ดังต่อไปนี้
- การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
- การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ไวรัสตับอักเสบ และสารบ่งชี้มะเร็งตับ (alpha-fetoprotein)
- การตรวจทางรังสีที่ตับและช่องท้อง เช่น การตรวจอัลตร้าซาวด์ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา
แนวทางในการรักษาโรคมะเร็งตับ
การรักษามะเร็งตับ จะขึ้นกับสภาวะความรุนแรงของโรค ขนาดและลักษณะของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรคและการแพร่กระจายของมะเร็ง รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย หากมองที่แผนการรักษาจะสามารถแบ่งระยะของโรคได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ภาวะที่สามารถผ่าตัดได้หรือปลูกถ่ายตับได้ ภาวะที่ผ่าตัดไม่ได้แต่โรคยังไม่กระจาย และภาวะที่โรคได้กระจายไปนอกตับและอวัยวะอื่นแล้ว โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
- การผ่าตัด การรักษาด้วยการผ่าตัด
สามารถทำได้หลายแบบ เช่น การผ่าตัดตัดออกบางส่วน และการปลูกถ่ายเปลี่ยนตับ การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ จะทำได้ในกรณีที่ก้อนในตับมีขนาดน้อยกว่า 5 เซนติเมตร และผู้ป่วยต้องมีอายุน้อยกว่า 70 ปี
- การรักษาด้วยวิธีการทำลายเนื้อเยื่อมะเร็งตับ
สามารถทำได้หลายวิธี เช่นการใช้ความร้อนแบบ radiofrequency ablation หรือ microwave ablation , การรักษาด้วยการใช้ความเย็น, และการรักษาด้วยการใช้แอลกอฮอล์
- การรักษาด้วยหัตถการทางรังสีวิทยา
เช่น การใส่ยาคีโม (trans-arterial chemoembolization, TACE) หรือใส่ยาอื่นๆ (drug-eluting bead chemoembolization, DEB-TACE) รวมไปถึงการใส่สารรังสี (radioembolization) เพื่อทำให้เกิดการทำลายชิ้นเนื้อมะเร็งตับ
- การรักษาด้วยการฉายรังสีจากภายนอกลำตัว
โดยมีเทคนิคใหม่ๆเพื่อทำให้แสงรังสีมุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงต่อเนื้อเยื่อมะเร็งตับ โดยไม่ให้เกิดภาวะข้างเคียงต่ออวัยวะรอบข้าง โดยเทคนิคที่เรียกว่า stereotactic body radiation therapy
- การรักษาด้วยยาแบบมุ่งเป้าที่เรียกว่า targeted therapy
สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆได้แก่ kinase inhibitor และ monoclonal antibodies
- การรักษาผ่านระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยเอง
สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆอันได้แก่ PD-1 and PD-L1 inhibitors และ CTLA-4 inhibitor การรักษาด้วยคีโม ซึ่งมียากลุ่มหลักๆได้แก่ gemcitabine, oxaliplatin, cisplatin, doxorubicin, 5-fluorouracil, capecitabine, mitoxantrone
ป้องกัน 'มะเร็งตับ' ก่อนจะเกิดโรค
- การป้องกันและลดความเสี่ยงของมะเร็งตับทำได้หลายวิธีเช่น
- การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี
- การจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของสารพิษเช่น Aflatoxins
- การรักษาโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้มีความเสี่ยงของการเกิดตับแข็งเช่น โรคเหล็กพอกตับ
- ตรวจยีนในผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งตับ
"การป้องกันและตรวจคัดกรองหามะเร็งตับ เนื่องจาก 90% ของมะเร็งตับเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีจึงมีโอกาสเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับสูง หากมีมะเร็งตับเกิดขึ้น มะเร็งตับจะโตขึ้นเป็น 2 เท่าภายในเวลา 3-6 เดือน ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีควรต้องเข้ารับการตรวจการทำงานของตับและตรวจคัดกรองมะเร็งตับโดยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (alpha-fetoprotein) และตรวจอัลตร้าซาวด์ตับทุก 3-6 เดือน"
การแพทย์แผนปัจจุบัน 'รักษามะเร็ง' ครบวงจร
ทั้งนี้ การรักษามะเร็งในปัจจุบันนั้น มีการให้บริการ ให้บริการตรวจวินิจฉัยรักษาโรคมะเร็งสำหรับประชาชนอย่างครบวงจร อย่าง ศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยได้พัฒนายกระดับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล ด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ประสิทธิภาพขั้นสูง และพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรทุกระดับ ให้สามารถประเมินความเสี่ยง ตรวจคัดกรอง วินิจฉัย ประเมินระยะของโรค และการติดตามค้นหารอยโรคที่กลับเป็นซ้ำได้อย่าง รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ รวมทั้งการกำหนดแผนการรักษาโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ (Tumor Board) เพื่อร่วมกันพิจารณาตัดสินแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) การตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หัตถการรักษามะเร็ง และการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยทีมสหสาขาวิชาชีพที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
บริการทางการแพทย์ด้านการตรวจรักษาโรคมะเร็ง
ศูนย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งครบวงจรด้วยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามมาตรฐานสากล ควบคู่กับการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมการแพทย์ที่ก้าวหน้า ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชาเพื่อร่วมกันวางแผนวินิจฉัยรักษาโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพที่ผู้ป่วยมะเร็งทุกสิทธิ์การรักษาสามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้งมีหน่วยงานสนับสนุนที่ให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งก่อนการรักษา ระหว่างการรักษา และหลังการรักษา
บริการทางการแพทย์ครบวงจรเพื่อการตรวจรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- การตรวจสุขภาพและประเมินความเสี่ยงโรคมะเร็ง
- การตรวจทางรังสีวินิจฉัยและการใช้รังสีร่วมรักษา
- การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทสแกน
- การตรวจวินิจฉัยทางโมเลกุลโรคมะเร็ง
- การผ่าตัดรักษามะเร็งชนิดที่สามารถผ่าตัดได้
- การให้ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า ภูมิคุ้มกันบำบัด
- การฉายรังสีรักษามะเร็ง
- การตรวจรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- การวางแผนรักษาโรคมะเร็ง (Tumor Board) โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ
- การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็ง และการฟื้นฟูผู้ป่วยก่อนการรักษามะเร็ง (Preventive Rehabilitation)
- การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยการแพทย์ผสมผสานและการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care)
รักษามะเร็ง ด้วยแพทย์ทางเลือก
การรักษาโรคมะเร็งนั้น หากการรักษาหลัก หรือการรักษาในแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้ง การผ่าตัด การฉายรังสี การให้เคมีบำบัด การให้ยาพุ่งเป้า และการให้ยาภูมิต้านทานบำบัด ซึ่งอาจเกิดอาการข้างเคียงตามมาและอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ แทรกซ้อน
การให้บริการการแพทย์บูรณาการ หรือ แพทย์ทางเลือก สามารถช่วยลดผลข้างเคียงบางอย่างของการรักษาแผนปัจจุบันอีกทั้งยังสามารถใช้เป็นการรักษาเสริมเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น โดยการแพทย์บูรณาการแบ่งเป็น การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีนและกัญชาทางการแพทย์ เพื่อตอบวัตถุประสงค์การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง 2 ด้าน ได้แก่
1.ป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ป้องกันอาการช่องท้องและทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อด้วยยาขิง การนวดเพื่อลดอาการบวมน้ำเหลืองในมะเร็งเต้านม
2.เพื่อลดอาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น ลดอาการอาเจียน เบื่ออาหารจากการทำเคมีบำบัด ลดอาการปวดจากการผ่าตัด
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลว่า โรคมะเร็งความหมายในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หมายถึง เนื้องอกชนิดร้าย เกิดขึ้นจากการแบ่งตัวของเซลล์อย่างรวดเร็ว ควบคุมไม่ได้ แทรกไปตามเนื้อเยื่อข้างเคียง สาเหตุเกิดจากสิ่งแวดล้อม จากพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งมาตรฐานการรักษา ผู้ป่วยมะเร็ง ในแผนปัจจุบัน คือ การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด และการใช้รังสีรักษา เป็นต้น บางครั้งอาจใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมรักษาได้ ในกรณีที่หมอแผนปัจจุบันให้ความเห็นชอบ
ในทางการแพทย์แผนไทย มะเร็ง หมายถึง โรคเรื้อรังกลุ่มหนึ่ง ผู้ป่วยมักมีแผล ผื่น ตุ่ม ก้อน เกิดขึ้นตามร่างกาย การแพทย์แผนไทยเน้นในเรื่องของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม มุ่งรักษาคนเป็นหลัก เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตไม่ใช่รักษาตัวโรคอย่างเดียว เป็นการรักษาดูแลผู้ป่วยทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สังคม และให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้ป่วยสามารถกินได้ นอนหลับ ขับถ่ายสะดวก สุขภาพจิตดี อยู่กับสังคมและโรคมะเร็งได้อย่างมีความสุข
ส่วนการใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งมีหลายชนิดทั้งยาตำรับและสมุนไพรเดี่ยว เช่น ยาเบญจอำมฤตย์ ยาเอ็นศูนย์สี่ศูนย์ (N040) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังใช้สมุนไพรสำหรับการรักษาแบบประคับประคอง ลดความทุกข์ทรมานต่าง ลดอาการข้างเคียงจากการรักษาแผนปัจจุบัน เช่น ยาขิงหรือชาชงขิงลดอาการคลื่นไส้อาเจียน มะระจีน มะระขี้นก ยอดหรือดอกสะเดา หรือแกงขี้เหล็กเป็นอาหารรสขมช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ยาหอมสุขไสยาสน์ หรือยาหอมตำรับอินทจักร์ช่วยให้นอนหลับ
หรือกรณีที่มีแผลจากรังสีรักษา ใช้เจลว่านหางจระเข้ ครีมบัวบก ครีมหรือเจลพญายอช่วยรักษาแผลและบรรเทาอาการอักเสบ งดของแสลงต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของหมักดอง ห้ามสูบบุหรี่ ส่วนการบำรุงรักษาร่างกายให้แข็งแรงนั้น ควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ กินผักพื้นบ้าน อาหารเป็นยา ใช้สมาธิบำบัดเพื่อช่วยรักษาทางจิตใจ และการออกกำลังกายที่เหมาะสม
ดังนั้น เมื่อตรวจพบเป็นโรคมะเร็งระยะเริ่มแรก ควรบำบัดรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการรักษา และสามารถเลือกใช้สมุนไพรเพื่อช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงได้ ส่วนกรณีผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น การรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วย แต่ต้องปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน
สเต็มเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด ที่ได้รับรองรักษาโรคมะเร็ง
ขณะที่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาแนะแนวทางในการการนำเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (Stem cell) มาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง
ผศ.ดร.นพ. นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์สเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งว่า สเต็มเซลล์คือเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้อย่างไม่จำกัดและสามารถให้กำเนิดเซลล์ร่างกายชนิดต่าง ๆ ได้ โดยในร่างกายของเรามีสเต็มเซลล์หลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติไม่เหมือนกันให้กำเนิดเซลล์ต่างชนิดกัน ขึ้นอยู่กับสเต็มเซลล์นั้นมาจากเนื้อเยื่อชนิดใด ปกติ
สเต็มเซลล์ของแต่ละเนื้อเยื่อจะทำหน้าที่สร้างเซลล์ใหม่ของเนื้อเยื่อชนิดนั้นขึ้นทดแทนที่สูญเสียไปในแต่ละวัน หรือหลังจากที่เนื้อเยื่อนั้นได้รับบาดเจ็บ สเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อหนึ่งไม่สามารถเปลี่ยนไปสร้างเซลล์ของอีกเนื้อเยื่อหนึ่งได้ เช่น สเต็มเซลล์เลือดไม่สร้างเซลล์สมองหรือเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ
การนำสเต็มเซลล์ไปใช้ทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับคือ การปลูกสเต็มเซลล์แทนสเต็มเซลล์ชนิดที่เสียไปให้สร้างเซลล์ของเนื้อเยื่อนั้น ๆ ในร่างกาย เช่น การปลูกสเต็มเซลล์เลือดจะทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดใหม่ขึ้นเป็นเวลายาวนานหลังปลูกถ่าย
การใช้สเต็มเซลล์ผิวหนังสร้างแผ่นผิวหนังในผู้ป่วยแผลไหม้ เพื่อให้สร้างชั้นผิวหนังใหม่หลังปลูกถ่ายหลายปี อย่างไรก็ดีนอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น การปลูกสเต็มเซลล์ระบบอื่นยังทำได้ยากเนื่องจากสเต็มเซลล์แต่ละชนิดจะทำงานได้ต่อเมื่ออยู่ในบริเวณที่เหมาะสมจำเพาะเท่านั้น สเต็มเซลล์ของเนื้อเยื่ออื่น ๆ เมื่อฉีดเข้าเลือดไม่มีความสามารถที่จะเดินทางไปบริเวณที่เหมาะสมได้เอง มักถูกทำลายโดยไม่เกิดประโยชน์
นอกจากสเต็มเซลล์ที่พบในร่างกาย นักวิทยาศาสตร์ยังพบสเต็มเซลล์พิเศษ ซึ่งสามารถสร้างเซลล์ร่างกายได้ทุกชนิด ได้แก่ สเต็มเซลล์ตัวอ่อน (embryonic stem cells) หรือวิธีเปลี่ยนเซลล์ร่างกายทั่วไป ให้เป็นสเต็มเซลล์ที่มีความสามารถคล้ายสเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่เรียกว่า ไอพีเอส (iPS cells) ซึ่งนำมาสู่ความหวังในการรักษาโรคที่ไม่มีทางรักษาในปัจจุบันหลายชนิด เพราะสามารถสร้างเซลล์ชนิดที่ร่างกายไม่สามารถสร้างใหม่ได้อย่างไม่จำกัดในหลอดทดลอง เช่น เซลล์ท่อไต เซลล์สมอง เซลล์ตับอ่อน
อย่างไรก็ดี ทั้ง ES และ iPS cells นั้นยังอยู่ในช่วงการทดลองขั้นต้นในผู้ป่วยทั้งโลกน้อยกว่า 10 ราย จึงยังไม่พร้อมจะนำมาใช้ในผู้ป่วยทั่วไป ที่สำคัญการนำไปใช้ต้องนำ ES และiPS cells มาเปลี่ยนเป็นเซลล์ชนิดจำเพาะก่อนปลูกถ่าย ไม่ใช่ปลูกถ่าย ES และ iPS cells โดยตรงเพราะจะกลายเป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการแทน กระบวนการเปลี่ยนเป็นเซลล์ชนิดจำเพาะต้องอาศัยเวลาหลายเดือนในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่มีความพร้อมซึ่งยังมีไม่มากทั่วโลก
"การฉีดสเต็มเซลล์เพื่อหวังสรรพคุณอื่น ๆ สเต็มเซลล์ ซึ่งไม่ใช่การสร้างเซลล์ชนิดจำเพาะ อาทิ การลดการอักเสบ เพิ่มการเกิดเส้นเลือดใหม่ ลดความเสื่อมของร่างกาย แก้สมองพิการ ความสวยงาม ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้เพียงพอว่าจะเกิดประโยชน์เพียงพอ จนสามารถนำไปใช้ในเวชปฏิบัติทั่วไป ยังไม่ใช่การรักษาที่แพทยสภารับรอง การนำไปใช้ในโรคมะเร็งที่เป็นที่ยอมรับเป็นเพียงการใช้สเต็มเซลล์เลือดปลูกสร้างระบบเลือดให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดจนระบบเลือดเสียไป ไม่ใช่ใช้สเต็มเซลล์ไปฆ่ามะเร็งโดยตรง ในทางตรงข้าม สเต็มเซลล์บางชนิดเป็นเซลล์พี่เลี้ยงที่ดีทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยโดยไม่เกิดประโยชน์" ผศ.ดร.นพ. นิพัญจน์ กล่าว
นอกจากการใช้สเต็มเซลล์แล้วในทางการแพทย์ มีการวิจัยมีการใช้เซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อรักษามะเร็ง เช่น NK cells T-cells ไปจนถึงเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ดัดแปลงพันธุกรรมเช่น CAR T-cells แม้มีแนวโน้มจะพัฒนาจนใช้งานได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการวิจัยไม่ใช่การรักษามาตรฐาน ซึ่งตามหลักจริยธรรมไม่สามารถเก็บค่าบริการได้ เซลล์ภูมิคุ้มกันบางชนิดมีผลข้างเคียงที่รุนแรง จนถึงปัจจุบันมีมะเร็งน้อยชนิดที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลในระยะยาว
ขณะที่ในมะเร็งหลายชนิดมีข้อมูลว่าวิธีที่ใช้กันในปัจจุบันยังไม่ได้ผล การจะตัดสินใจรับภูมิคุ้มกันบำบัดควรศึกษาข้อมูลให้ดีจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เช่น สมาคมโลหิตวิทยา สำหรับการฉีดเซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อหวังป้องกันมะเร็งรักษาสุขภาพไม่มีข้อมูลรองรับว่าได้ผล
"ประชาชนพึงตระหนักว่า ปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ แม้แต่ในยุโรปและอเมริกา มีคลินิกและโรงพยาบาลที่หวังกำไรให้บริการสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัดอื่น ๆโดยไม่ถูกหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวนไม่น้อย มีการโฆษณาอย่างกว้างขวาง ทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย ซึ่งความจริงนอกจากจะไม่ได้ผล เสียเงินจำนวนมากแล้ว ยังอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งมีรายงานถึงพิการและแก่เสียชีวิตมาแล้ว นอกจากนั้นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งการหยุดการรักษามาตรฐานไปพึ่งคลินิกในลักษณะดังกล่าว ยังเปิดโอกาสให้มะเร็งลุกลามทำให้เสียโอกาสในการรักษามะเร็งที่ควรจะรักษาได้ไปอีกด้วย" ผศ.ดร.นพ. นิพัญจน์ กล่าว
ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง
- งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี การสูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่มือสองบ่อยๆ จะส่งผลร้ายโดยตรงต่อปอด และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อตับ และทั้งสองพฤติกรรมยังส่งผลเสียต่ออวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น ช่วยรักษาสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย ออกกำลังกายให้ได้วันละ 30-45 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้
- อย่าละเลยอาการเจ็บปวดต่างๆ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดกับร่างกายของตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการเจ็บปวดบริเวณต่างๆ ของร่างกายต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย หรือหากร่างกายปกติดีก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปี หากมีความเสี่ยงหรือเมื่อถึงวัยอันควร ก็ควรค้นหาความเสี่ยงโรคมะเร็งเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง หรือตามคำแนะนำของแพทย์
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด อาหารปิ้งย่าง ไหม้เกรียม หมักดอง แปรรูป เน้นการทานผักผลไม้ที่ไม่หวาน และดูแลระบบขับถ่ายให้ดี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีอันตราย หากจำเป็นต้องทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำการเกษตร หรืออยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นควันเป็นประจำ ควรแต่งกายให้มิดชิด และใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นในการปกป้องร่างกายและการสูดดม
อ้างอิง: ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ,ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ , กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก