บริษัทยาสูบข้ามชาติ ผลกำไรและการแพร่ระบาดของการเสพติด นิโคติน
มติหนึ่งจากการประชุมรัฐภาคีองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ ๑๐ (COP 10) ณ กรุงปานามา ระหว่างวันที่ ๕-๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ คือไม่รับพิจารณาข้อเสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา ‘ผลิตภัณฑ์ลดอันตราย’ ซึ่งบริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวาร มีการเตรียมการมาตลอด ๒ ปี
บริษัทยาสูบข้ามชาติและเครือข่ายบริวารพยายามวิ่งเต้นกับฝ่ายการเมืองในประเทศต่างๆ รวมทั้งในประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศส่วนใหญ่ในจำนวน ๑๘๓ ประเทศภาคีสมาชิกองค์การอนามัยโลก ปฏิเสธข้ออ้างว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ลดอันตราย เพราะไม่มีหลักฐานใดๆ สนับสนุน
ในสัปดาห์เดียวกัน องค์การสหประชาชาติ มีการประชุมระดับโลกเกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการควบคุมยาสูบ ซึ่งประเด็นสำคัญคือมีการขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคม (Corporate Accountability) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ดำเนินการทางกฎหมายให้บริษัทยาสูบรับผิดชอบในการจ่ายค่าเสียหาย ที่เป็นผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากยาสูบ
เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ สหพันธ์นิสิต นักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (สพท.) สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ได้ยื่นหนังสือถึงท่านประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมาย และมาตรการควบคุม กำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากภัยของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการคงไว้ซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและบารากู่ไฟฟ้า รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยาสูบเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตนับล้านในแต่ละปี ถึงแม้มาตรการต่างๆ ที่มีประสิทธิผลได้ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศ และช่วยลดจำนวนการเสียชีวิต แต่มาตรการเหล่านี้ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง และถูกบ่อนทำลาย / แทรกแซง โดยอุตสาหกรรมยาสูบ
กรณีศึกษาเมื่อไม่นานมานี้คือ การต่อต้านสหภาพยุโรปในการห้ามขายบุหรี่รสเมนธอล ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติมุ่งเน้นกำไรเชิงธุรกิจอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้นต่อผู้บริโภค
ผลกำไรเปรียบเสมือนสิ่งเสพติด เมื่อผู้ผลิตได้กำไรมหาศาลจากการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ถึงแม้จะต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตก็ตาม ปี ค.ศ. ๒๐๑๘ บริษัทยาสูบ ๖ แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีกำไร (ก่อนเสียภาษี) มากกว่า ๕.๕ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งมากกว่าผลกำไรของบริษัท โคคา โคล่า เป็บซี่โค เนสเล่ มอนเดเลซ เฟดเอ็กซ์ เจนเนรัล มิลส์ สตาร์ บัคส์ ไฮเนเก้น และ คาล์สเบิร์ก รวมกัน (๕.๑ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีผลิตภัณฑ์สินค้าสำหรับใช้ในครัวเรือนหลากหลายชนิดและเป็นที่นิยมในระดับโลก
ผลกำไรมหาศาลเช่นนี้ เป็นเพราะต้นทุนต่ำทำให้มีกำไรสูง ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. ๒๐๑๘ ตราสินค้า อิมพีเรียล รายงานผลกำไรจากการประกอบการทั่วโลกคือ ร้อยละ ๔๖ และเพิ่มเป็นร้อยละ ๖๓ ในสหราชอาณาจักร และเพิ่มเป็นร้อยละ ๗๑ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๙
ดังนั้น ทุกๆ ๑๐๐ ปอนด์ ที่บริษัทขายสินค้าและจ่ายภาษีแล้ว ๔๖ ปอนด์เป็นกำไร สัดส่วนของกำไรมหาศาลเช่นนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภคอื่นๆ มีผลประกอบการที่เป็นกำไรประมาณร้อยละ ๑๕-๑๖ โดยต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ ๖.๕ (Fedex) และสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ ๒๖.๗ (Coca-Cola)
บริษัทยาสูบต่างๆ มีผลประกอบการที่เป็นกำไรมหาศาล เพราะขายสินค้าที่มีฤทธิ์เสพติดสูง และต้นทุนต่ำ ไม่มีค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยและพัฒนา (หรือมีน้อยมาก) แต่ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในราคาที่สูง
นอกจากนี้ บริษัทยาสูบข้ามชาติไม่มีคู่แข่ง เนื่องจากมีมาตรการต่างๆ ในการควบคุมยาสูบ เช่น การห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย ทำให้เป็นอุปสรรคสำหรับบริษัทใหม่ที่จะเข้ามาสู่ตลาด ส่งผลให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นและทำให้กำไรลดลง ลักษณะเงื่อนไขเช่นนี้ทำให้บริษัทยาสูบต่างๆ สามารถชดเชยปริมาณที่ขายได้น้อย ด้วยการขายในราคาที่สูงได้
แนวทางใหม่ที่เป็นไปได้สำหรับ ‘การรุกฆาต’ ผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์
การที่ได้รับกำไรมหาศาล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้บริษัทยาสูบข้ามชาติไม่เพียงแต่มีแรงจูงใจอย่างมุ่งมั่นในการดำรงไว้และคงอยู่ในตลาด โดยมีทรัพยากรเหลือเฟือในการต่อสู้กับมาตรการต่างๆ และนโยบายใหม่ๆ ในการควบคุมยาสูบ เพื่อให้ได้รับกำไรมหาศาลต่อไป
หากมีนโยบายและมาตรการที่สามารถทำให้ปริมาณของกำไรเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น หากไม่ได้กำไรจากการขายบุหรี่ บริษัทยาสูบก็อาจจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นแทน
การจะเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น ย่อมต้องใช้จินตนาการ และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบริบทของตลาด และกฎหมาย จุดเริ่มต้นที่ดีคือ จำกัดพลังอำนาจทางธุรกิจของบริษัทยาสูบด้วยการกำหนดราคาขายปลีก ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิผลเพิ่มขึ้นสำหรับภาษีสรรพสามิตยาสูบ
แนวทางอีกทางเลือกหนึ่งคือ การเพิ่มภาษีเงินได้ให้สูงขึ้นมากๆ สำหรับกำไรที่ได้ เพื่อไม่ให้ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการขายสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เชิงนโยบาย ไม่เช่นนั้นการควบคุมยาสูบจะไม่ประสบความสำเร็จ
บริษัทยาสูบข้ามชาติบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ โดยกระทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เด็กและเยาวชนในประเทศต่างๆ อยู่ภายใต้ฤทธิ์ของสารเสพติด “นิโคติน”
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีหน้าที่และบทบาทสำคัญ ด้วยการเสนอแนวทางนโยบาย มาตรการ และกฎหมายใหม่ๆ ที่จะช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากอันตรายของผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และควบคุมบริษัทยาสูบข้ามชาติ รวมทั้งเครือข่ายบริวาร ไม่ให้หลอกลวงสังคมอีกต่อไป.