สภาเทคนิคการแพทย์ คาดแล็บเอกชนร่วม “ 30 บาทรักษาทุกที่” แตะหลักร้อย
สภาเทคนิคการแพทย์ คาดอีกไม่นานแล็บเอกชนเข้าร่วมโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” แตะหลักร้อย ชี้บางส่วนที่ไม่เข้าร่วมเพราะไม่มั่นใจเรื่องการส่งเคสจากโรงพยาบาลมาให้คลินิก
ทนพ.วิทยา เงาตะคุ อุปนายกสภาเทคนิคการแพทย์ คนที่ 1 กล่าวถึงภาพรวมการเข้าร่วมโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวของคลินิกเทคนิคการแพทย์เอกชนว่า คลินิกเทคนิคการแพทย์เอกชนมีประมาณ 900-1,000 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ 49 แห่ง และอยู่ระหว่างรอคิวอีก 30 แห่ง คาดว่าในระยะเวลาอีกไม่นานตัวเลขรวมน่าจะขึ้นไปถึง 100 แห่งได้
สำหรับการดำเนินงาน 4 จังหวัดนำร่องในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการเบิกจ่ายยังมีน้อย มีเพียง จ.แพร่ ที่ดีขึ้น รวมทั้งในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 คือ จ.นนทบุรี ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่นำร่องแต่ก็เริ่มดำเนินการก่อนและได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ส่วนการขยายพื้นที่นำร่องในเฟส 2 จากการลงพื้นที่ชี้แจงรายละเอียดโครงการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ได้รับความสนใจค่อนข้างดีเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สิทธิบัตรทอง ตรวจแล็บใกล้บ้าน 24 รายการ ฟรี
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หารือขยาย 'มะเร็งรักษาทุกที่' ครอบคลุมประกันสังคม
- สปสช. ร่วมคลินิกกายภาพบำบัด 58 แห่ง ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย บัตรทอง 4 กลุ่มโรค
อย่างไรก็ดี ในส่วนของคลินิกที่ยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนั้น พบว่าเป็นเพราะบางส่วนยังขาดความมั่นใจในเรื่องเคสที่จะส่งต่อจากโรงพยาบาลมายังคลินิก ดังนั้นจึงอยากให้ สปสช. เข้าไปชี้แจงผู้บริหารโรงพยาบาล ถ้าผู้บริหารโรงพยาบาลเข้าใจและมองเห็นประโยชน์ในเรื่องการลดความแออัด ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องการส่งข้อมูล ตั้งแต่การสั่งเคสเข้ามาตรวจและการส่งข้อมูลย้อนกลับไปที่โรงพยาบาล ซึ่งถ้ามีโปรแกรมกลางให้ใช้โดยที่แล็บเอกชนไม่ต้องลงทุน เชื่อว่าคลินิกน่าจะสนใจเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น โดยแนวโน้มในปัจจุบันก็ถือว่าดีเพราะมีแอปฯ หมอพร้อมที่เสนอตัวเข้ามาช่วยในเรื่องการส่งต่อข้อมูลการสั่งเคสจากโรงพยาบาลไปคลินิก และคลินิกส่งผลแล็บกลับเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล เชื่อว่าระบบการทำงานต่างๆ หลังจากนี้น่าจะดีขึ้น
“ตอนนี้เป็นช่วงของการปรับตัว ผมก็อยากประชาสัมพันธ์เชิญชวนคลินิกเทคนิคการแพทย์ให้เข้าร่วม ทางสภาฯยินดีสนับสนุนในเรื่องต่างๆ เช่น เกณฑ์การเข้าร่วม ทางสภาฯก็ผลักดันการสร้างเกณฑ์เฉพาะคลินิกเทคนิคการแพทย์โดยตรง มี Check List ประเมินศักยภาพตนเอง แล้วสภาฯจะตรวจสอบว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ ถ้าเข้าเกณฑ์ก็จะส่งรายชื่อให้ สปสช. เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมบริการ เป็นต้น ตอนนี้ สปสช. เปิดโอกาสแล้ว มันเป็นโอกาสของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ในการให้บริการประชาชน” ทนพ.วิทยา กล่าว
ทั้งนี้ คลินิกเทคนิคการแพทย์เอกชนที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมให้บริการตามโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชน ได้ที่ คลิก