“บัตรทอง 30บาท กทม.” วัวพันหลัก เรื่องวุ่น"ใบส่งต่อผู้ป่วย- รูปแบบจ่ายเงิน"

“บัตรทอง 30บาท กทม.” วัวพันหลัก เรื่องวุ่น"ใบส่งต่อผู้ป่วย- รูปแบบจ่ายเงิน"

บัตรทอง 30 บาทกทม. อาจต้องใช้คำว่า วัวพันหลัก เมื่อแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งก็เกิดปัญหาเรื่องหนึ่ง จากจุดเดิม ผู้ป่วยกระทบจากใบส่งตัว คลินิกฯกระทบจากรูปแบบเบิกจ่าย 

KEY

POINTS

  • “บัตรทอง 30บาท กทม.” จุดเริ่มของการใช้สิทธิเมื่อเจ็บป่วยแทบทั้งหมด จะอยู่ที่ “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ซึ่งเป็นภาคเอกชน หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดกรุงเทพมหานคร ที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ เมื่อเกินขีดความสามารถในการรักษาจึงจะส่งต่อไปยังรพ.
  • รพ.เอกชนในพื้นที่กทม.มีกว่า 100 แห่ง เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการ บัตรทอง 30บาท ราว 17 แห่ง ส่วนรพ.รัฐมี 36 แห่ง ที่จะรับการส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ
  • ตั้งแต่ปี 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)มีการปรับรูปแบบการเบิกจ่ายให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นเป็น “แบบจ่ายตามจริง” แทน “แบบเหมาจ่าย” แต่ได้รับคำร้องเรียนจากคลินิกฯ
  • เมื่อ 1 มี.ค.2567 สปสช.จึงปรับการจ่ายให้เป็น “แบบเหมาจ่าย”ตามเดิม จนเกิดเสียงร้องเรียนจากผู้ป่วยเรื่อง “ปัญหาเรื่องการส่งตัว”
  • แนวทางแก้ปัญหาบัตรทอง 30บาท กทม. ล่าสุดสปสช.ย้ำแล้วย้ำอีกว่า “ผู้ป่วยมีใบส่งตัวเดิมไปรพ.ที่ส่งต่อได้เลย” ส่วนระยะยาวจะต้องมีการหารือและวางระบบส่งต่อที่เห็นชอบร่วมกัน

หน่วยบริการบัตรทอง 30บาท กทม.

บริบทของสถานพยาบาลพื้นที่กทม.มีความเฉพาะแตกต่างจากพื้นที่ต่างจังหวัด กล่าวคือรพ.ส่วนใหญ่สังกัดภาคเอกชน โดยมีราว 100 แห่ง  ในจำนวนนี้ข้อมูลเมื่อปี  2566 เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการที่ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30บาท เพียง 17 แห่ง 

ส่วนรพ.รัฐ มีอยู่ 36 แห่ง  สังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง  หากเป็นรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)หรือ รพ.ของโรงเรียนแพทย์ ก็จะเป็น รพ.ระดับตติยภูมิ

ดังนั้น ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30บาท ซึ่งอ้างอิงข้อมูลปี 2565 ประชากรที่ลงทะเบียนระบบบบัตรทอง 30 บาทกทม.มีถึง 7.8 ล้านคน 

หากเจ็บป่วยแทบทั้งหมด จะต้องเริ่มต้นจากการเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ คือ คลินิกชุมชนอบอุ่นที่เป็นของภาคเอกชน มีกว่า 200 แห่ง หรือศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดกรุงเทพมหานคร  69 แห่ง 

กรณีอาการเจ็บป่วยเกินขีดความสามารถของคลินิกฯ ก็จะต้อง “ส่งต่อ” ผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาในรพ.ที่เป็นหน่วยบริการบัตรทอง 30บาทตามที่กำหนดไว้ของการรับส่งต่อแต่ละพื้นที่ 

เบิกจ่ายตามจริง คลินิกชุมชนอบอุ่นร้อง

ในการเบิกจ่ายเงินกรณีผู้ป่วยนอกให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นนั้น ก่อนหน้าปี 2564  สปสช.จ่ายตาม “โมเดล 2 แบบเหมาจ่าย” จนเมื่อปี  2564 มีการปรับมาจ่ายตาม “โมเดล 5 แบบจ่ายตามจริง”

กระทั่ง ช่วงต้นเดือนก.พ.2567 ได้รีบการร้องเรียนจากสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่นว่า  “ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิมีการปรับระบบบริการที่ผิดพลาดจากโมเดล 2 เป็นโมเดล 5 ในปีงบประมาณ 2564 ส่งผลกระทบให้มูลค่าการบริการเกินกว่าการบริการเกือบ 300 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น สปสช.จ่ายบริการชดเชยค่าบริการผู้ป่วยนอกแก่คลินิกชุมชนอบอุ่น เพียง 57 % 57 ของค่าบริการจริง”
ตั้งแต่ 1 มี.ค.2567 สปสช.จึงปรับรูปแบบการจ่ายมาเป็น “แบบเหมาจ่าย” เช่นเดิม

กลับมาเป็นแบบเหมาจ่าย ผู้ป่วยร้อง  

แต่แล้วก็เกิดปัญหา เมื่อมีเสียงร้องเรียนจากผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30บาท กทม. ว่า “ได้รับผลกระทบเรื่องของการส่งตัว” ผู้ป่วยที่มีใบส่งตัวเพื่อรับบริการที่ รพ.รับส่งต่อใช้ไม่ได้ โดยรพ.แนะนำให้ผู้ป่วยกลับไปขอใบส่งตัวที่คลินิกฯ ที่ได้ลงทะเบียนไว้ ขณะที่คลินิกฯ ขอประเมินผู้ป่วยก่อนและจะออกใบส่งตัวให้ผู้ป่วยที่เกินศักยภาพดูแลเท่านั้น

“เรื่องนี้จะไม่เกิดปัญหา หากการส่งต่อผู้ป่วยดำเนินไปตามปกติ เพียงแต่คลินิกบางแห่งได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวไปแล้วตามโมเดล 2 ก็ไม่อยากที่จะตามจ่าย เพราะคิดว่ารักษาได้ จึงไปเรียกคนที่เคยส่งต่อไปแล้วกลับมาใหม่ ทำให้กระทบผู้ป่วยที่ออกใบส่งต่อไปแล้ว” นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าว

แนวทางส่งต่อผู้ป่วยบัตรทอง 30บาท กทม.

อีกทั้ง มีประชาชนใช้ช่องทางสายด่วน สปสช. 1330 จำนวนมากเพื่อให้แก้ไขปัญหา แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มผู้ป่วยที่ถึงวันนัดแล้วแต่รับบริการที่ รพ.ไม่ได้ เพราะใบส่งตัวที่เคยใช้ไม่สามารถใช้ได้แล้ว มีประมา 10% ถือเป็นกลุ่มเร่งด่วนที่ต้องดูแล

2.กลุ่มมีนัดเข้ารับการรักษาในระยะเวลาอันใกล้ และเกิดความกังวลว่าจะไม่สามรถเข้ารับบริการได้

3.กลุ่มที่ยังไม่มีนัด แต่โทรมาสอบถามข้อมูลก่อน

ล่าสุด เมื่อวันที่  15 มี.ค.2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. ขอความร่วมมือในช่วงนี้

  • ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนเข้ารับบริการโทรเข้ามาสอบถามที่สายด่วน 1330 ก่อน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะแก้ไขปัญหาโดยเร็ว และสปสช.ได้รับการประสานจากหน่วยบริการภาคเอกเชนเพื่อขอเข้าร่วมจัดเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่ว กทม. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกเพิ่มขึ้น

ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สปสช. เขต 13 ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์ หลังเริ่มระบบใหม่ และได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้แนวทางการส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. เร่งทำการสื่อสารไปยังโรงพยาบาลและคลินิกชุมชนอบอุ่นแล้ว โดยเน้นไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการ

ประชาชนทุกท่านยังสามารถเข้ารับบริการได้เหมือนเดิม แม้จะเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ แต่ระบบการให้บริการไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ผู้มีสิทธิบัตรทองได้ลงทะเบียนไว้อยากจะขอดูแลท่านก่อน เพื่อประเมินอาการ หากเกินศักยภาพก็จะมีการส่งต่อ รพ.

 “ขอย้ำว่าประชาชนท่านที่มีใบนัด มีใบส่งตัวเดิม ท่านไม่ต้องกังวล ขอให้ไปที่ รพ.รับส่งต่อได้เลย สามารถรับบริการได้ตามปกติ ที่ผ่านมา สปสช. ได้ทำการชี้แจง และ รพ.รับทราบแนวทางแล้ว โดยสามารถเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ ส่วนกรณีที่มีใบนัด แต่ไม่มีใบส่งตัวก็ให้ รพ.พิจารณาให้การรักษาแล้วแต่กรณี ซึ่งก็สามารถเบิกกับ สปสช. ได้เช่นกัน”  ทพญ.น้ำเพชรกล่าว    

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว  พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จะต้องมีการจัดทำกลไกระบบส่งต่อ เพื่อรองรับประชาชนที่จำเป็นต้องเข้ารักษาที่ รพ. ช่วยลดความขัดแย้งกรณีการส่งต่อ โดยเฉพาะประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่มีความซับซ้อนหรือต้องใช้ยาราคาแพง ซึ่งเกินศักยภาพการดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่น

จัดระบบเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่เห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้ผู้สามารถเข้ารับบริการได้ตามระบบ โดยไม่ต้องรอดุลยพินิจของหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือขอใบส่งตัว นอกจากนี้ในอนาคตจะมีการเสนอตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อชี้ขาดกรณีผู้ป่วยไม่ได้รับใบส่งตัวด้วย

เช่นนี้แล้ว เป้าหมายรัฐบาล "30บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่" ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี  2567 ในส่วนของ "30บาท กทม." จะเป็นเช่นไร