รู้ทัน"ฉลากเนื้อสัตว์ไม่แปรรูป" ปลอด "ยาปฏิชีวนะ” จริง-ไม่จริง

รู้ทัน"ฉลากเนื้อสัตว์ไม่แปรรูป" ปลอด "ยาปฏิชีวนะ” จริง-ไม่จริง

ส่อง "ฉลากเนื้อสัตว์ไม่แปรรูป" ความหมายต่าง “ไม่ใช้-ปลอดยาปฏิชีวนะ” และอันตรายที่อาจจะส่งมาถึงคน เชื้อดื้อยาจนไม่มียารักษา 

KEY

POINTS

  • ความเสี่ยงเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในไทย  จากที่มีการใช้ปีละกว่า  10,000 ล้านบาท คาดว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ประมาณปีละ 88,000 ราย เสียชีวิตประมาณปีละ 38,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
  • ผลกระทบต่อคนจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลในการเลี้ยงสัตว์ฟาร์ม เป็นปัจจัย เสี่ยงที่จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยา และยากต่อการรักษาหากมีการติดเชื้อ 
  • การศึกษาล่าสุดเรื่อง การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปและการโฆษณา ณ สถานที่ขายเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพ พบ มีการใช้คำรูปแบบหลากหลาย อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ระบุเนื้อสัตว์ไม่แปรรูป เป็นอาหารที่ไม่ต้องยื่นขอเลข อย. โดยมีข้อบังคับการแสดงฉลากและข้อยกเว้น

ความเสี่ยงเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในไทย  

ข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะในประเทศไทยมีมูลค่าปีละกว่า  10,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล จะส่งผลกระทบอย่างมากที่จะทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา” จนอาจ “ไม่มียารักษา”เมื่อคนเกิดการติดเชื้อ

ทั้งนี้  ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา ประมาณปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา ในปี 2593 คาดการณ์การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย คาดว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ประมาณปีละ 88,000 ราย โดยเสียชีวิตประมาณปีละ 38,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
นอกการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลในคนแล้ว การใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ฟาร์ม อย่างสุกร ไก่หรืออื่นอย่างไม่สมเหตุสมผลก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาเช่นกัน 

โดยคนมีโอกาสได้รับยาปฏิชีวนะทางอ้อมจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ
ตัวอย่างการสำรวจสถานการณ์การใช้ยาปฏิชีวนะ พฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์แต่ละชนิดในกลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์12 อำเภอ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 343 รายของจันทร์จรีย์ ดอกบัวและคณะ โรงพยาบาลปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ พบว่า  เฉพาะยาปฏิชีวนะ

  • ส่วนใหญ่ใช้เพื่อ รักษาโรค  74.73 %
  • บำรุงหรือป้องกันโรค 16.56 %
  • ถ่ายพยาธิ, 5.45%
  • เร่งการเจริญเติบโต 2.40 %
  • กระตุ้นการผสมพันธุ์ 0.87 %

เกษตรใช้ในการกำจัดภาชนะบรรจุยาปฏิชีวนะ ส่วนมากดำเนินการกำจัดโดยการฝังดิน 32.60 % รองลงมาคือ เผา 15.93  % ทิ้งลงถังขยะทั่วไป 15.93%  สัตวแพทย์/สัตวบาล/ปศุสัตว์เป็นผู้ดำเนินการทิ้งถัง14.46 % ขยะติดเชื้อ/ขยะอันตราย 6.13 %และขาย 5.39 %

ราคาเนื้อสัตว์พรีเมียมแพงกว่า 2 เท่า 

เมื่อมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ฟาร์ม จะส่งผลกระทบต่อคนโดยเฉพาะเรื่องเชื้อดื้อยา บางฟาร์มจึงมีการปรับเปลี่ยนการเลี้ยง โดยการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลยตลอดการเลี้ยง หรือมีการใช้แล้วหยุดช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่จะชำแหล่ะนำมาจำหน่าย และจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้นกว่าสัตว์ที่เลี้ยงโดยทั่วไป
ข้อมูลล่าสุดจาก ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ที่ระบุว่าเป็นสินค้าพรีเมียม มีการอ้างถึงขั้นตอนเลี้ยงด้วยกระบวนการพิเศษและปลอดภัยจากสารต่างๆ ทำให้ราคาขายแพงกว่าเนื้อสัตว์ในกระบวนการเลี้ยงปกติ

ช่วงเดือนก.ย.2566 เก็บเนื้อหมูส่วนสะโพก (สันนอก สันใน) และอกไก่ลอกหนัง จากซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นเนื้อหมูจำนวน 7 ตัวอย่าง อกไก่ 5 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อหมูส่วนสะโพกและอกไก่ แบบปกติที่บรรจุในภาชนะบรรจุอย่างละ 1 ตัวอย่างในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในช่วงเวลาเดียวกัน รวม 14 ตัวอย่าง

การเปรียบเทียบราคาพบว่า ราคาแพงกว่าราคาปกติประมาณ 2 เท่า

  • เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 290 – 500 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่เนื้อหมูส่วนสะโพกชนิดธรรมดา สันนอกคัด จำหน่ายภายในห้างฯ ราคาอยู่ที่ 225 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 สันนอกจะมีราคาอยู่ที่ 130 บาทต่อกิโลกรัม
  • เนื้ออกไก่ลอกหนังชนิดพรีเมียม ราคาอยู่ระหว่าง 215 – 400 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เนื้ออกไก่ชนิดธรรมดา จำหน่ายภายในห้างฯ อกไก่ลอกหนัง ราคาอยู่ที่ 208 บาทต่อกิโลกรัม  แต่ถ้าเทียบกับราคาในแหล่งจำหน่ายอื่นๆ ของเดือนกันยายน 2566 อกไก่จะมีราคาอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม

ฉลากใช้คำยาปฏิชีวนะอาจเข้าใจผิด

นอกจากนี้  มีการนำตัวอย่างเนื้อสัตว์ดังกล่าว  ไปวิเคราะห์ผลการสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ พบว่าา รูปแบบฉลากที่สำรวจชนิดพรีเมียม มีทั้งแจ้ง และ ไม่แจ้ง บนฉลาก ส่วนชนิดธรรมดา ไม่มีการแจ้งใดๆ 

 การวิเคราะห์ฉลาก ยังมีข้อสังเกต ดังนี้

  • มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก
  • การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ พบว่า เนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง หรือ 42.9% มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง
  • และ 6 ตัวอย่าง หรือ 42.9% ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’

ข้อสังเกตสำคัญ ประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ  ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า  มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้

 ดังนั้น ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์

อย.ระบุมีข้อยกแว้นแสดงฉลากเนื้อสัตว์

ขณะที่ ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า เนื้อสัตว์สด ไม่แปรรูป เช่น หมู ไก่ เนื้อ เป็นอาหารที่ไม่ต้องยื่นขอเลข อย. โดยมีข้อบังคับการแสดงฉลากและยกเว้น

รู้ทัน\"ฉลากเนื้อสัตว์ไม่แปรรูป\" ปลอด \"ยาปฏิชีวนะ” จริง-ไม่จริง

กรณีได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงฉลาก เนื่องจากผู้จำหน่ายสามารถให้ข้อมูลผู้ซื้อได้โดยตรง ได้แก่

1. เนื้อสัตว์สดที่ไม่ได้บรรจุในภาชนะบรรจุ เช่น หมูที่วางบนเขียงเนื้อหมูในตลาดสด หรือเนื้อหมูที่วางในถาดที่จำหน่ายในซูเปอร์มาเก็ต

2.เนื้อสัตว์สดที่ไม่ผ่านการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใด เช่น ปลาทั้งตัว ไก่ทั้งตัว

3.เนื้อสัตว์สด ที่ผ่านการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย และผู้ตัดแต่งจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค

กรณีต้องแสดงฉลาก

1.เนื้อสัตว์สด ที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด อยู่ในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย และส่งไปจำหน่ายสถานที่ต่าง ๆ

2. เนื้อสัตว์สดในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่ายที่ผู้ประกอบการต้องการแสดงฉลาก ทั้งนี้ การแสดงฉลากทั้งสองกรณี อย่างน้อยต้องแสดงข้อความ ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน

ส่วนการโฆษณาคุณประโยชน์ และคุณภาพอาหารสด ต้องขออนุญาตและห้ามไม่ให้ผู้ใดโฆษณาอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร

 ทั้งนี้ การใช้คำว่า “ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์” , “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” , “ออร์กานิก” , “ออร์แกนิค” หรือ “organic”  อาหารจะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ หรือหน่วยงานเอกชนที่รัฐรับรอง เช่น เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ภายใต้พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 (ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM (The International Federation of Organic Agriculture Movements)

และการใช้คำว่า premium /Gold/ Special/ Extra/ Supreme/ Selected หรือข้อความในทำนองเดียวกัน  ต้องมีหนังสือชี้แจงเกณฑ์คุณภาพของบริษัทผู้ผลิต รวมถึงการโฆษณาไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง 

หากไม่ขออนุญาตโฆษณา มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หากโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีแสดงฉลากไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

อ้างอิง : ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) ,คณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ