PM2.5เชียงใหม่ สูดฝุ่นพิษเข้าปอด 7 วันรวด จุดปัญหาที่ "ภาคเอกชน"ต้องช่วยแก้
คนเชียงใหม่สูดฝุ่นพิษ PM2.5เข้าปอดต่อเนื่องอย่างน้อย 7 วันเต็ม ช่วงมี.ค.จุดพีคแพทย์รพ.สวนดอกเผยคนไข้เข้ารักษาผู้ป่วยนอก-ในเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว พร้อมมาตรการที่พื้นที่ทำเพื่อแก้ปัญหา ไฟป่า-เผาเกษตร วอนภาคเอกชนร่วมแก้ฝุ่นควันข้ามแดน
KEY
POINTS
- ต่อเนื่องอย่างน้อย 7 วันเต็มนับตั้งแต่13มี.ค.-19 มี.ค.2567 ที่คนเชียงใหม่ต้องหายใจ เอาฝุ่นพิษ PM2.5 เข้าปอด จากที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน
- กรมควบคุมมลพิษคาดการสถานการณ์ฝุ่นละออง 7วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 20- 26 มี.ค.2567 ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มลดลงในวันที่ 20-25 มีนาคม 2567 และยังคงต้องเฝ้าระวังในบางพื้นที่
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรพ.สวนดอก ช่วงมี.ค.ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในเข้ารักษาเพิ่มขึ้นเท่าตัว และPM2.5 ทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ทำให้คนเชียงใหม่เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.6 %
- มาตรการต่างๆที่เชียงใหม่ ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา แต่ยังมีจุดที่พื้นที่ยากจะแก้ได้เอง วอนภาคเอกชนร่วมแก้ปัญหา สร้างเงื่อนไขช่วยลดPM2.5 ข้ามแดน ก่อนรับซื้อผลผลิต
PM 2.5 เชียงใหม่ เกินเกณฑ์ต่อเนื่อง 7 วัน เมื่อย้อนดูรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ของศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รอบ 7 วันตั้งแต่ 13มี.ค.-19 มี.ค.2567 พบว่า เชียงใหม่และพื้นที่อีกหลายจังหวัดใน ภาคเหนือ ปริมาณ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดประจำวันที่ 19 มีนาคม 2567 ณ 07:00 น ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐาน ใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.ปราจีนบุรี จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.อำนาจเจริญ จ.ชัยภูมิ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และ จ. สุรินทร์
- ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 45.3 - 158.6 ไมโครกรัม(มคก.)/ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 40.7 - 77.9 มคก./ลบ.ม.
- ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 28.0 - 53.6 มคก./ลบ.ม.
- ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 21.8 - 43.9 มคก./ลบ.ม.
- ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 10.7 - 27.0 มคก./ลบ.ม.
- กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ตรวจวัดได้ 22.2 - 36.5 มคก./ลบ.ม.
แต่ในความเป็นจริงนั้น คนเชียงใหม่ต้องจมอยู่กับฝุ่นพิษ PM2.5 มานานกว่านั้น
ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ ระบุผลการคาดการสถานการณ์ฝุ่นละออง 7วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 20 - 26 มีนาคม 2567
- พื้นที่กทม.และปริมณฑล มีแนวโน้มลดลงวันที่ 20-21 มีนาคม 2567 และยังคงต้องเฝ้าระวังในบางพื้นที่
- 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มลดลงวันที่ 20-26 มีนาคม 2567 และยังคงต้องเฝ้าระวังในบางพื้นที่
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มลดลงระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม 2567
- ภาคตะวันออก ดีอย่างต่อเนื่องและยังคงต้องเฝ้าระวังระบางพื้นที่
- ภาคใต้ ดีอย่างต่อเนื่อง
มี.ค.จุดพีคคนป่วยเข้ารักษาเพิ่มเท่าตัว
ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และทรวงอก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 มีปัญหามาตั้งแต่เดือนพ.ย. เรื่อยมา จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงพีคในเดือน มี.ค. โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ 2 พุ่งสูงมาก มีผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเกี่ยวกับ PM 2.5 อาการปานกลาง เข้ารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก เช่น ภูมิแพ้กำเริบ เลือดกำเดาไหล เป็นเลือด หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูกโตขึ้น หอบหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้น
“มีผู้ป่วยมารับบริการตรวจรักษาทุกวัน เมื่อเทียบกับฤดูที่หมดฝุ่นไปแล้วจะมีมากกว่าหลายเท่าตัวต่อวัน ส่วนผู้ป่วยหนักที่ต้องนอนไอซียู หรือมาที่ห้องฉุกเฉิน ใส่เครื่องช่วยหายใจ เช่น สโตรก ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากขึ้นหลายเท่าตัวเช่นกัน ส่วนผู้ป่วยต้องนอนรพ. อยู่ไอซียู แต่ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ พบเพิ่มขึ้นด้วยอาการปอดอักเสบ หอบหืดกำเริบ ไอเป็นเลือด ติดเชื้อในปอด และผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะเสียชีวิตก่อนมาถึงไอซียูด้วยซ้ำ”ศ.นพ.ชายชาญกล่าว
PM2.5ทำคนเชียงใหม่ตายเพิ่ม 1.6 %
เมื่อนำข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์ปีแล้วปีเล่า แยกให้ชัดเจนหรือตัดปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยในลักษณะเดียวกัน เพื่อแสดงว่า ผู้ป่วยรายนั้นเจ็บป่วยจากอย่างอื่น หรือ PM 2.5 โดมีการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้วพบชัดเจนว่า
1. ทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะทำให้คนเชียงใหม่เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.6 % ภายใน 1 สัปดาห์หลัง PM 2.5 เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้เป็นการเสียชีวิตทันที เพราะอาจจะได้รับการรักษาด้วยยาต่างๆ
แต่เมื่อการอักเสบไปถึงจุดหนึ่ง จะทำให้เขาเสียชีวิตจากสโตรก เส้นเลือดสมองแตก หรือตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ โรคปอดกำเริบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตตามมา นี่คือข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่ได้แตกต่างไปจากงานวิจัยของทั่วโลก
2. มาห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้นชัดเจนจากพิษภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ของทุกปี มากบ้าง น้อยบ้างตามแต่ปัญหา PM 2.5 แต่ปีที่ผ่านมาและปีนี้ถือเป็นปีที่แล้ง โดยเฉพาะเดือนมี.ค.ชัดเจนมาก มีจุดเผาในเชียงใหม่สูงขึ้นกว่ามี.ค. 2566 กว่า 40% ส่วนม.ค.-ก.พ. ที่รัฐบาลบอกว่าจุดเผาลดลง 40% นั้น ก็เป็นเพียงข้อมูลของ 2 เดือนนั้น แต่มี.ค.นี้จุดเผาเพิ่มขึ้น 40% ยังไม่นับรวมจุดเผาจากจังหวัดรายรอบ และประเทศเพื่อนบ้าน
ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวด้วยว่า PM2.5 เป็นฆาตรกรที่ฆ่าได้หลายรูปแบบ ฆ่าด้วยโรคหลายโรค ทำให้ภูมิแพ้กำเริบ หอบหืดกำเริบ ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ แตก ตัน เป็นสโตรกเสียชีวิต หรือป่วยคาไอซียูได้ PM2.5 ทำให้เส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ แตก ตัน
ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว เสียชีวิต ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เนื้อปอดอักเสบ ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดอย่างรุนแรง แล้วทำให้โลหิตเป็นพิษ เสียชีวิตได้ แล้ว PM 2.5 ยังทำให้ไตเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ทำให้เบาหวานควบคุมได้ยาก ระยะยาวทำให้เกิดมะเร็งปอดแม้แต่คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ก็เป็นมะเร็งปอดได้
7 กลุ่มป่าป้องกันถูกเผาก่อPM2.5
ที่ผ่านมาเชียงใหม่มีการดำเนินหลากหลายมาตรการ เพื่อแก้ปัญหา PM2.5มาอย่างต่อเนื่อง กรณีการป้องกันไฟไหม้ป่า ได้มีการแบ่งพื้นที่ป่าเป็น 7 กลุ่มสำหรับเฝ้าระวังการเกิดไฟไหม้ได้อย่างทั่วถึง จัดตั้งอาสาสมัครไฟป่า 1 แสนคนทั่วทั้งจังหวัด รวมถึง การเปลี่ยนที่พื้นที่เผาให้เป็นแหล่งคาร์บอนเครดิต ประกอบด้วย
1.กลุ่มพื้นที่ป่าดอยสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ -อ.หางดง -อ.แม่วาง -อ.สะเมิง พื้นที่ป่าทั้งหมด 537,496.52ไร่
2.กลุ่มพื้นที่ป่าอ.แม่แจ่ม-อ.กัลยาณิวัฒนา พื้นที่ป่าทั้งหมด 2,099,398ไร่
3.กลุ่มพื้นที่ป่าดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง-อ.ฮอด พื้นที่ป่าทั้งหมด1,131,768 ไร่
4.กลุ่มพื้นที่ป่าอ.อมก่อย พื้นที่ป่าทั้งหมด 2,229,431.6 ไร่
5.กลุ่มพื้นที่ป่าดอยหลวงเชียงดาง อ.เชียงดาว-อ.เวียงแหง-อ.ไชยปราการ-อ.ฝาง พื้นที่ป่าทั้งหมด 1,027,710ไร่
6.กลุ่มพื้นที่ป่าศีลานนา อ.พร้าว-อ.แม่แตง พื้นที่ป่าทั้งหมด 727,261ไร่
7.กลุ่มพื้นที่ป่าอ.สันทราย-อ.ดอยสะเก็ด-อ.แม่ออน-อ.สันกำแพง พื้นที่ป่าทั้งหมด 719,229ไร่
นอกจากนี้ มีการจัดทำแอฟพลิเคชัน หรือระบบการแจ้งล่วงหน้าก่อนการเผาทางการเกษตร เพื่อจะได้บริหารจัดการไม่ให้เกิดการเผาพร้อมกันจำนวนมาก จัดตั้งศูนย์รับซื้อวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรจ.เชียงใหม่ และการณรงค์ไม่ให้มีการเผาเศษซากพืชในภาคครัวเรือน ด้วยการนำเสนอแนวทางการจัดทำเป็นถ่านอัดแท่ง ปุ๋ยหรืออื่นๆ โดยไม่ต้องเผา
PM2.5ข้ามแดน จุดปัญหาที่“ภาคธุรกิจ”ต้องช่วย
ทว่า สิ่งที่ยังเป็นปัญหาและยากที่พื้นที่จะจัดการได้เอง คือ กรณี “PM2.5ข้ามแดนมาจากต่างประเทศ”
เรื่องนี้ ศ.นพ.ชายชาญ กล่าวว่า เมื่อปัญหา PM2.5 เป็น วาระแห่งชาติ ระดับนโยบายต้องใส่ใจให้ความสำคัญ และควรเจรจรากับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเกษตร ในการยกเลิกการนำเข้าพืชเชิงเดี่ยววที่ข้ามจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าประเทศไทย โดยไม่เสียภาษี ซึ่งทำให้เกิดการทำลายป่า ปลูกข้าวโพด เผาแล้วนำเข้าสู่ประเทศไทย แถม PM 2.5