วันความสุขสากล คนไทย “ใจป่วยเพิ่ม” 9 วิธีสร้างความสุขง่ายๆได้เอง 

วันความสุขสากล คนไทย “ใจป่วยเพิ่ม” 9 วิธีสร้างความสุขง่ายๆได้เอง 

20 มีนาคมวันความสุขสากล คนไทย “ใจป่วยเพิ่ม” เครียด ซึมเศร้า ภาวะหมดไฟ ส่วนอันดับความสุขดีขึ้น  กรมสุขภาพจิตแนะ 9 วิธีสร้างความสุขง่ายๆได้ด้วยตัวเอง 

KEY

POINTS

  • ดัชนีความสุขโลกปี 2566 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 60ของโลก  ดีขึ้นจากปี  2565 แต่คะแนนลดลง ส่วนปี2567 อันดับที่ 58 ของโลก เป็นอันดับ 7 ในเอเชีย 
  • ภาพรวมปี 2566 คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิต เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ผู้มีปัญหาความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และมีภาวะหมดไฟ
  • กรมสุขภาพจิตแนะนำ 9 วิธีสร้างความสุขให้ตัวเอง ช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี และ3 สิ่งสำคัญที่จะทำให้อาการป่วยจิตเวชไม่กำเริบ

คะแนนความสุขของไทย 

20 มีนาคมของทุกปี เป็น ‘วันความสุขสากล’ (International Day of Happiness) รายงานความสุขโลกประจำปี 2566 (World Happiness Report 2023)  ซึ่งเป็นการจัดอันดับความสุขของแต่ละประเทศในโลก  

ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 60 ได้คะแนนอยู่ที่ 5.843 คะแนน แม้อันดับจะขยับขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ที่อันดับ 61  แต่คะแนนที่ได้กลับลดลงจากที่เคยอยู่ที่ 5.891 คะแนน

ส่วนรายงานความสุขโลกประจำปี 2567 (World Happiness Report 2024)  ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก รองลงมาเป็นเดนมาร์ก และไอร์แลนด์ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 58 ของโลก ได้5.976 คะแนน และเป็นอันดับที่ 7 ของเขตเศรษฐกิจในเอเชีย รองจากสิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ปัจจัยที่ผู้เชี่ยวชาญนำมาวิเคราะห์ความสุข ได้แก่ ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัว, อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี, การสนับสนุนทางสังคม, เสรีภาพ, ความเอื้ออาทร และการรับรู้การทุจริต ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เก็บรวบรวมจากหลายองค์กร เช่น ธนาคารโลก, องค์การอนามัยโลก และ Gallup World Poll

คนไทยเครียด เสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย 

ในรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสสี่และภาพรวม ปี2566 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุถึง สถานการณ์สุขภาพจิตคนไทย ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต 256,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษา 28,775 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ภาพรวมทั้งปี 2566 คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิต 29.9 %เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 12.8 %

เฉพาะในไตรมาส 4 ของปี 2566 ผลการประเมินสุขภาพจิตคนไทย (Mental Health Check In: MHCI) พบว่า จากผู้เข้ารับการประเมิน 1.7 แสนราย ผู้มีปัญหาความเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และมีภาวะ หมดไฟ มีสัดส่วน 17.4 % เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วน 12.9 %  โดยผู้ที่เสี่ยงซึมเศร้ามีจำนวนสูงสุด รองลงมา คือ มีความเครียดสูง  เสี่ยงฆ่าตัวตาย และมีภาวะหมดไฟ

ผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น 

สำหรับการเฝ้าระวังการใช้ความรุนแรงของผู้ป่วยจิตเวช จากข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า

  • ผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการคัดกรองและลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มี ความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงมีจำนวน 9,639 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ราว 46.4 %
  •  ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยก่อความรุนแรงซ้ำ 470 ราย และได้รับการติดตาม ดูแล และเฝ้าระวัง 6,100 ราย หรือคิดเป็น 63.3% โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่อยู่ในช่วงอายุ 26 - 45 ปี

เมื่อพิจารณาผู้ป่วยจำแนกตามกลุ่มโรค พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคความผิดปกติทางจิต ที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (สารเสพติด) มากที่สุด รองลงมาเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคจิตเภท พฤติกรรม แบบโรคจิตเภท/โรคหลงผิด

จำแนกตามลักษณะของความรุนแรง พบว่า ผู้ป่วยที่มีประวัติทำร้ายตัวเอง ด้วยวิธีรุนแรงมุ่งหวังให้เสียชีวิต มีจำนวนสูงสุด 4,673 ราย คิดเป็น 50.7 %

  • รองลงมา คือ ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติก่อคดี อาชญากรรมรุนแรง ฆ่า พยายามฆ่า ข่มขืน และวางเพลิง จำนวน 2,237 ราย คิดเป็น 23.2%
  •  ผู้ป่วยที่มีประวัติทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง/ก่อเหตุรุนแรงในชุมชน 1,786 ราย คิดเป็น 17.04 % และผู้ป่วยที่มีอาการหลงผิด มีความคิดทำร้ายผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิต 943 ราย คิดเป็น 9.1 %

3 สิ่งสำคัญอาการจิตเวชไม่กำเริบ 

นพ.พงศ์เกษม  ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลักการรักษาโรคทางจิตเวชทุกโรค คือ รู้เร็ว รักษาเร็ว รักษาต่อเนื่อง ทำให้ผลการรักษาดี ซึ่งส่งผลต่อการกลับสู่ความสามารถปกติของผู้ป่วย ในด้านความคิด การตัดสินใจ อารมณ์ สังคม การเรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน โดยครอบครัวต้องร่วมสอดส่องการมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนให้เข้าสู่ระบบการรักษาก่อนจะสายเกินไป

วันความสุขสากล คนไทย “ใจป่วยเพิ่ม” 9 วิธีสร้างความสุขง่ายๆได้เอง 

กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญ และเน้นย้ำการป้องกันปัญหาของผู้ป่วยโรคจิตเวช ที่สำคัญคือ เพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาโดยใช้ยา บำบัดทางจิต และฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อคืนสู่ชีวิตปกติของเขา

"โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคจิตเวชส่วนใหญ่สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การดูแลของญาติหรือบุคคลใกล้ชิดที่บ้านและชุมชน โดยใช้ยาปรับสมดุลการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้อาการทางจิตดีขึ้นหรือหาย สามารถใช้ชีวิตและทำงานได้"นพ.พงศ์เกษมกล่าว 

ทั้งนี้ 3 สิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ป่วยจิตเวชไม่เกิดอาการกำเริบในระยะยาว คือ

1.กินยาต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดเอง แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว

2.ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ ยาบ้า ฯลฯ

และ 3.ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อปรับการรักษาให้สามารถชีชีวิตได้อย่างปกติ

กรมสุขภาพจิต ขอให้ประชาชนทุกคนเข้าใจและให้โอกาสผู้ป่วยจิตเวช ให้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างเป็นปกติ เพราะผู้ป่วยจิตเวชเป็นเพียงผู้ที่มีอาการการเจ็บป่วยชนิดหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงเป็นผู้ที่ไร้ความสามารถ หากได้รับการดูแลสนับสนุนและได้รับโอกาสดี ๆ จากญาติ ผู้นำชุมชนและคนรอบข้าง ก็สามารถที่จะใช้ชีวิตตามปกติได้และหากเมื่อใด ที่มีอาการกำเริบก็นำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ปรับการรักษาก็จะทำให้คนในชุมชนและสังคมมีความสุขและปลอดภัย

9วิธีสร้างความสุขให้ตัวเอง 

กรมสุขภาพจิตแนะนำ 9 วิธีสร้างความสุขให้ตนเอง เพื่อช่วยประชาชนไทยให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
1.ทบทวนถึงสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

2.มีอารมณ์ขันและส่งยิ้มให้กันอยู่เสมอ

3.กล่าวคำขอบคุณให้เป็นนิสัยและขอโทษเมื่อทำผิด

4.ตั้งเป้าหมายถึงสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข

5.หยุดคิดเล็ก คิดน้อย ยอมรับข้อบกพร่องของผู้อื่น

6.ใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

7.ออฟไลน์ออกจากโลกโซเชียล แล้วหันมาพูดคุย ทำกิจกรรมต่างๆ

8.ทำงานอดิเรกที่ชอบหรือทดลองทำอะไรใหม่ๆ

9.ยึดหลักความพอเพียงในการดำเนินชีวิต