"AI ทางการแพทย์" รพ.บำรุงราษฎร์ อ่านฟิล์ม วิเคราะห์เลือด ตรวจติ่งลำไส้ใหญ่
รพ.บำรุงราษฎร์โชว์เคส AI ทางการแพทย์ 1 ปี อ่านฟิล์มเอกซเรย์กว่า 1 แสนเคส แมมโมแกรมกว่า 20,000 เคส อนาคตใช้ร่วม CT-Scan ตรวจโรคสำคัญ ย้ำ AI ไม่มาทดแทนแพทย์ เป็นแค่ผู้ช่วยสนับสนุนตรวจวินิจฉัยแม่นยำ - รวดเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพดูแลคนไข้
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2567 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ภายในงาน AI REVOLUTION 2024 : TRANSFORMING THAILAND ECONOMY จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ภก.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บรรยายพิเศษ: Showcase การนำนวัตกรรม AI มาใช้ประโยชน์ในโลกธุรกิจว่า เฮลท์แคร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทรานสฟอร์ม
ในเรื่องของการแพทย์ AI เข้ามาช่วย
1.ในการวินิจฉัยและการรักษา โดยมีเฮลท์ดาต้าในฐานข้อมูลของ รพ.รวมถึงมีการนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้มากขึ้น ซึ่งมีการแจ้งข้อมูลสุขภาพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตสูง การนอนหลับ เป็นต้น สามารถนำมาใช้ประมวลผล วินิจฉัย และการป้องกัน
2.Real time recommendations and Clinic decision support สามารถสนับสนุนแพทย์ทางคลินิกได้ 3.Increased Efficiency ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลคนไข้ และ 4.Drug Discovery and Development การพัฒนาและวิจัยยา ในระดับโมเลกุล และสามารถนำข้อมูลไปใช้พัฒนายาใหม่ได้ ที่เรียกว่า targeted therapy
“ตั้งแต่ปี 2010 ถึงปัจจุบัน AI เข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของ Precision Medicine ในการนำข้อมูลมาประมวลผล ในปี 2015 แพทย์โรคมะเร็งของบำรุงราษฎร์ได้ใช้ AI ช่วยวินิจฉัย และใช้ข้อมูลในการรักษาคนไข้มะเร็งเกือบ 4,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี” ภก.อาทิรัตน์ กล่าว
AI ใช้ร่วม CT Scan
ปัจจุบันการนำ AI ทางการแพทย์มาใช้ของ รพ.บำรุงราษฎร์ ในแผนกเอกซเรย์ แมมโมแกรมของผู้หญิง มีการนำ AI มาใช้ 100% เกี่ยวกับการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ และแมมโมแกรม และจะมีแพทย์อ่านพร้อมกับ AI ด้วย และวิเคราะห์ร่วมกันว่าเป็นความผิดปกติที่แท้จริงหรือไม่ เพื่อที่แพทย์จะได้ค้นหา และวางแผนแนวทางการรักษาต่อ
ซึ่งก่อนที่นำมาใช้จริงในปี 2022 รพ.มีการวิจัยให้มีความมั่นใจว่า AI มีข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ และแพทย์ยอมรับ โดยข้อมูลที่ AI รายงานกับความเห็นแพทย์ต้องตรงกัน ในปี 2023 AI มีการอ่านฟิล์มเอกซเรย์กว่า 1 แสนเคส และแมมโมแกรม เกือบ 20,000 เคส
อนาคตอันใกล้จะนำ AI เข้ามาใช้ร่วมกับCT Scan ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีความสำคัญมาก เช่น เส้นเลือดโป่งพองในสมอง ก้อนเลือดอุดตันที่ปอด เส้นเลือดตีบในสมอง และโรคประหลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งอาการเหล่านี้ นาทีที่อ่าน และพบเจอสำคัญต่อชีวิตของคนไข้
AI มีความเร็วมากในการอ่านเอกซเรย์ ลดเวลาจาก 15 นาทีเหลือ 5 นาที ส่วน CT Scan ที่ศึกษาอยู่ลดจาก 10 นาที เหลือ 5 นาที เพราะฉะนั้น หาก AI ช่วยอ่าน และเจอความผิดปกติ แพทย์จะสามารถช่วยคนไข้ได้ทันท่วงที เหล่านี้เป็นสิ่งที่ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพการรักษา และความปลอดภัยของคนไข้
AI ช่วยวินิจฉัยติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่
เทคโนโลยี AI ช่วยวินิจฉัยติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ เพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเป็นการทำงานแบบ real-time ร่วมกับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาติ่งเนื้อถึง 95% และสามารถระบุประเภทของติ่งเนื้อได้ว่าเป็นชนิด neoplastic หรือ hyperplastic
ภก.อาทิรัตน์ กล่าวด้วยว่า จากที่มีการพูดคุยกับแพทย์ที่เป็นผู้ใช้ AI ยอมรับว่าเมื่อมาถึงจุดหนึ่งจากที่มีการใช้สายตามากๆ ก็มีโอกาสเกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะมีความเชี่ยวชาญขนาดไหนก็ตาม ดังนั้น การมี AI เป็นเครื่องมือสนับสนุนช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้นในการวินิจฉัย และให้การรักษาของแพทย์ ซึ่ง AI จะนำมาใช้จริงๆ สิ่งสำคัญก็คือ การยอมรับของผู้ใช้ มากกว่าเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้
AIวิเคราะห์เม็ดเลือด
นอกจากนี้ ในส่วนของห้องแล็บ AI เกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลเลือด ในการอ่านเซลล์เม็ดเลือด บอกถึงความแข็งแรงของร่างกาย ออกซิเจนในเลือดเพียงพอหรือไม่ รวมถึง AI สำหรับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ช่วยแพทย์ในการแจ้งเตือนโรค และอนาคตจะมีการนำมาใช้ตรวจอุจจาระเพื่อ หามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ไม่ต้องเข้าห้องส่องกล้อง ซึ่งการมี AI ก็จะมาช่วยเรื่องของการทำนาย และป้องกันโรคต่างๆ
บำรุงราษฎร์ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชันของ รพ. เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนไข้ ในการค้นหาแพทย์โดยระบุอาการโรค หรือแพ็กเกจที่ต้องการ ก็จะมีข้อมูลนำทางให้เข้าไปดูรายละเอียดได้
“AI ทางการแพทย์ การมี dataต่างๆ จะไปถึงการตรวจระดับยีนได้ จะทำให้มีแพ็กเกจที่สามารถป้องกันได้รวดเร็ว สามารถตรวจยีนแล้วรู้ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไรที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น หัวใจ มะเร็ง อนาคต precision และ prevention medicine จะมาอย่างแน่นอน”ภก.อาทิรัตน์ กล่าว
AIไม่มาทดแทนแพทย์
คำถามสำคัญเรื่อง AI ทางการแพทย์จะมาแทนแพทย์หรือไม่ ภก.อาทิรัตน์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ไม่มีทางที่จะมาแทนแพทย์ได้ เนื่องจาก AI ต้องใช้ Data ในการประมวลผล ขณะที่การตรวจร่างกาย การพูดคุยกับคนไข้แพทย์ก็จะยังเป็น Data สำหรับ AI ด้วย ฉะนั้นแล้ว AI จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยแพทย์ และสนับสนุนแพทย์ให้มีความแม่นยำ และแนวทางการดูแลรักษาคนไข้ได้เร็วขึ้น และทำให้แพทย์มีความมั่นใจมากขึ้น
“ AI ไม่ได้มาแทนแพทย์ แต่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้มีความแม่นยำ รวดเร็วขึ้นในการดูแลคนไข้และจะมาช่วยยกระดับขีดความสามารถของแพทย์ ซึ่งอนาคตอันใกล้การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ จะเป็นปัญหาต่อวงการสาธารณสุข การมี Al จึงจะมาช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ลด overload ของบุคลากร ”ภก.อาทิรัตน์ กล่าวย้ำ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์