เปิดสถิติผู้สูงอายุไทยเหลือฟันต่ำ 10 ซี่ เสี่ยงสำลักอาหาร ท้องอืดท้องเฟ้อ
นึ่งในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่มักถูกมองข้าม จนอาจเปรียบได้กับฝุ่นใต้พรมที่รอการมองเห็น นั่นก็คือ ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน
ปี 2566 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เต็มรูปแบบ ข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับโรคต่างๆ ในผู้สูงอายุ อาทิ เบาหวาน ความดัน โดยหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่มักถูกมองข้าม จนอาจเปรียบได้กับฝุ่นใต้พรมที่รอการมองเห็น นั่นก็คือ ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน
องค์การอนามัยโลก (WHO ) กำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ต้องมีจำนวนฟันเหลือในช่องปากอย่างน้อย 20 ซี่ เพื่อใช้ในการรับประทานอาหารให้เป็นปกติ รวมถึงการพูด การยิ้ม ให้เกิดผลดีต่อบุคคลิกภาพ ขณะที่คนวัยทำงาน 35-44 ปี มีฟันเหลือเฉลี่ย 28 ซี่ -อายุ 56 ปี เหลือแค่ 18 ซี่ และในที่สุดเมื่ออายุ 80 ปี จะเหลือฟันไว้ใช้งานได้จริงเพียง 10 ซี่เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากในการได้ใช้ประโยชน์
การดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสุขภาพในช่องปาก ซึ่งนับเป็นความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสุขภาพผู้สูงวัยไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เพราะเมื่อสุขภาพในช่องปากดี ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องเจ็บปวด ทุกข์ใจ ช่วยในการรับประทานอาหารให้เป็นปกติส่งผลต่อสุขกาย สุขภาพจิตก็จะดีตาม
รณรงค์80 ปี ฟันดี 20 ซี่
“ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย” อดีตรองอธิบดีกรมอนามัย และที่ปรึกษาสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย เปิดเผยถึงโครงการรณรงค์ “80 ปี ฟันดี 20 ซี่” ว่า สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินงานในพื้นที่ 10 แห่ง ได้แก่ แพร่, ลำพูน, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, นครปฐม, สิงห์บุรี, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี และ กรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละแห่งมีกลยุทธ์ วิธีขับเคลื่อนโครงการโดดเด่น แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
“เมื่อเทียบกับวัยทำงานที่มี 28 ซี่หรือเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ พอ 60 ปีขึ้นไป มีเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่มีฟันเหลือ 20 ซี่ การรณรงค์การรักษาฟันแท้ให้ได้ 20 ซี่ในวัย 80 ปี จึงเป็นตัวเลขที่ท้าทาย เพราะความจริงแล้วการสูญเสียฟัน ไม่ว่าจะฟันผุ ปริทันต์ เหงือกอักเสบ เป็นโรคพื้นฐาน ที่ทำให้ผู้สูงวัยไทยมีฟันเหลือไม่ถึง 20 ซี่” นพ.สุธา กล่าว
การที่ผู้สูงวัยอายุ 80 แล้วมีฟันไม่เพียงพอ จะทำให้ขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน ที่เกิดจากการบดเคี้ยวก็จะมีได้ไม่เพียงพอ จากที่จะรับประทานของสด ๆ ก็อาจจะต้องนำไปต้มไปนึ่งให้เกิดความนิ่มสามารถรับประทานได้ แต่ก็ทำให้สูญเสียวิตามินและเกลือแร่หายไปจากความร้อน หรือถ้าเคี้ยวไม่ละเอียดก็จะส่งผลต่อกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารท้องอืด ท้องเฟ้อ อีกอย่างคือ การกินไม่ละเอียด สำลักได้ง่าย มีเชื้อโรคเยอะ เกิดการอักเสบในปอด หรือถุงลม ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
ตามหลักแล้วในช่องปากอย่างน้อยจะต้องมีฟัน4คู่ ที่สบกันเพื่อให้บดเคี้ยวทานอาหารได้เราได้มีการณรงค์การดูแลสุขภาพในช่องปากในทุกกลุ่มวัย ทุกรูปแบบ เพื่อให้การดูแลสุขภาพในช่องปากที่ถูกวิธีเข้าถึงคนกลุ่มวัย ตัวอย่างง่าย ๆ คือ ส่งเสริมตัวเลข 2-2-2 คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยคือ เช้าและก่อนนอน แปรงฟันครั้งละ 2 นาที และหลังจากนั้นใน 2 ช.ม. ต้องไปกินอะไรเลย เพื่อให้ฟลูออไรด์ได้เคลือบฟันอย่างเต็มที่
"การรณรงค์การใช้สิทธิขั้นพื้นที่เพื่อการรักษาสุขภาพในช่องปาก ส่งเสริมความรู้ การสื่อสารด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงวัยเข้าถึงระบบบริการมากขึ้นและง่ายขึ้น เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งคือการเดินทางเข้ารับบริการ ซึ่งผู้สูงวัยอาจจะไม่สะดวก เช่นอยู่ไกลสถานบริการ หรือจะต้องมีคนใกล้ชิดพาไป ซึ่งเป็นอุปสรรคในเข้ารับบริการ” ทพ.สุธา กล่าว
สิงห์บุรี ต้นแบบผู้สูงอายุฟันดี
พื้นที่ จ.สิงห์บุรี เป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น ตำบลพิกุลทอง ที่มีประชากรทั้งหมด 3,000 คน แต่มีผู้สูงอายุมากถึง 600 คน จึงได้ขยายงานดูแลสุขภาพฟันด้วยการสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสะดวกต่อการเข้ารับการบริการด้านสุขภาพช่องปาก ส่งสริมให้กลุ่ม อสม. มีศักยภาพความสามารถ ความรู้ด้าน เป็นเครือข่ายทันตกรรม สามารถคัดกรองเก็บข้อมูลและส่งคืนข้อมูลได้อย่างเข้าถึง ตรงจุด ถูกต้องและรวดเร็ว และเป็นบัดดี้ดูแลไปตลอดการรักษา
“งามจิต พระเนตร” พยาบาลวิชาชีพ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี พิกุลทอง กล่าวว่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยการขยายเครือข่ายบุคคลากร เพื่อให้ อสม.เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม จำนวน 25 คน ลงพื้นที่สำรวจด้วยกระบวนการคัดกรองผู้สูงวัยกับสุขภาพในช่องปาก ได้มากถึง 95 เปอร์เซ็นจากจำนวนผู้สูงอายุจำนวน 600 คนที่รับผิดชอบ จนได้กลุ่มสีเขียว ร้อยละ 40 จำนวน 236 ราย สีเหลืองร้อยละ 32.71 จำนวน 193 ราย และสีแดงร้อยละ 27.28 จำนวน 161 ราย
สีเขียว ถือว่ามีสุขภาพในช่องปากที่ดี กลุ่มสีเหลือง เช่นฟันปลอมหลวม ซ่อมฟันปลอม รากฟันเทียม และสีแดงคือกลุ่มที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ปริทันต์ ฟันโยก ฟันคลอน หรือบางรายเป็นฝีมาหลายเดือนไม่ได้รับการรักษา เราพบเคสก็พามารักษาจนหายกลับมาใช้ปากได้ปกติ
"การส่งเสริมให้ครอบครัวมองเห็นสุขภาพในช่องปากเป็นเรื่องใกล้ตัว ด้ายการพาคนในครอบครัวพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งมีการคัดกรองให้เร็ว เพื่อรับการรักษาเนิ่นๆ และต่อเนื่อง ผู้สูงวัย 80 ปี จะมีฟัน 20 ซี่การดูแลมาอย่างสม่ำเสมอ ลดต้นทุนการดูแลรักษาสุขภาพ”งามจิต กล่าว
การตรวจใช้เพียง ไม้ไอติม 1 ไม้ กับไฟฉาย 1 กระบอก ใน 1 บ้านจะมีทีม อสม. 5 คนในการตรวจ จะแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ตรวจสุขภาพฟัน จดบันทึก สาธิตวิธีการแปรงฟันที่ถูกวิธี รวมถึงชวนญาติผู้สูงอายุพูดคุยสร้างความตระหนักถึงการดูแลรักษาฟันเนิ่นๆ และต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้สูงวัย 80 ปี จะมีฟัน 20 ซี่ การดูแลมาอย่างสม่ำเสมอ ลดต้นทุนการดูแลรักษาสุขภาพ
การรณรงค์การดูแลสุขภาพในช่องปากในทุกกลุ่มวัย ทุกรูปแบบ ง่าย ๆ คือ ส่งเสริมตัวเลข 2-2-2 คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อยคือ เช้าและก่อนนอน แปรงฟันครั้งละ 2 นาที และหลังจากนั้นใน 2 ช.ม. ต้องไปกินอะไรเลย เพื่อให้ฟลูออไรด์ได้เคลือบฟันอย่างเต็มที่ หรือ การรณรงค์การใช้สิทธิขั้นพื้นที่เพื่อการรักษาสุขภาพในช่องปาก ส่งเสริมความรู้ การสื่อสารด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงวัยเข้าถึงระบบบริการมากขึ้นและง่ายขึ้น
“สูงวัยไร้ฟัน” ฝุ่นใต้พรม
"รศ.ดร.ทพ.ชูชัย อนันต์มานะ" หัวหน้าภาควิชาทันตกรรมประดิษฐ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าสาเหตุที่กว่า 58 % ของผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีอายุระหว่าง 60-74 ปี ต้องเผชิญกับปัญหาการสูญเสียฟัน ส่งผลให้มีฟันตามธรรมชาติเหลือน้อยกว่า 20 ซี่ เพราะขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพในช่องปากและฟันอย่างถูกวิธีตั้งแต่ในวัยเด็ก ทำให้ละเลยต่อการใส่ใจในสุขภาพช่องปากและฟัน ส่งผลให้ต้องสูญเสียฟันอย่างถาวรเมื่อมีอายุมากขึ้น
การ“ไร้ฟัน” ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพกายและใจ เพราะผู้สูงอายุจะขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม การใช้ชีวิตประจำวัน ไม่กล้าพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงหรือครอบครัวอย่างที่เคยเป็น เนื่องจากรู้สึกอายที่จะพูดหรือยิ้ม ผู้สูงอายุหลายคนจึงเลือกที่จะใช้เวลากับตัวเองและอยู่บ้านเพียงลำพัง จนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตตามมาในภายหลัง
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมมือกับ เฮลีออน ในประเทศไทย (Haleon) ต่อยอดแคมเปญ “เพราะรอยยิ้มไม่ควรต้องรอ ความสุขก็เช่นกัน” (Smiles Can’t Wait) เปิดรับบริจาคทุนเพื่อจัดทำฟันเทียมให้กับผู้สูงอายุที่ขาดโอกาส จากปีที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ขาดโอกาสและค่าใช้จ่ายในการทำฟันเทียมได้เป็นอย่างดี
โดยจะเปิดรับบริจาควันแรกในวันผู้สูงอายุ 13 เม.ย. 2567 ผู้ที่สนใจสมทบทุนได้ด้วยการสแกน QR CODE คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กองทันตกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือมูลนิธิ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ปีที่ผ่านมาโครงการ Smiles Can’t Wait ได้ช่วยให้ "อุบลรัตน์ สุนทรพิทักษ์กุล" วัย 67 ปี ได้ใส่ชุดฟันเทียมของตัวเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กลับมายิ้มกว้างได้ทานผลไม้ที่ชอบอย่าง แอปเปิ้ล ฝรั่ง ใช้ชีวิตง่ายขึ้น มีความสุขมากขึ้น เช่นเดียวกับ "สุรเดช ปลื้มจิตร" หรือพี่โอม ซึ่งมีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันตั้งแต่อายุ 30 ปีต้นๆ
เนื่องจากความไม่ใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน ทำให้มีฟันผุสะสม ส่งผลต่อรากฟัน ประกอบกับพฤติกรรมส่วนตัวในการบริโภคที่ไม่ระมัดระวังในการบดเคี้ยวอาหาร ชอบแทะของแข็งอย่างกระดูกไก่ ทำให้เกิดปัญหาฟันแตก จึงต้องเข้ารับการรักษา โดยการอุดฟัน รักษารากฟัน ครอบฟัน และถอนฟันบางส่วนออก ใส่ฟันเทียมใหม่ 4 ซี่ เพื่อไม่ให้ฟันซี่อื่นล้ม