ไฟไหม้โรงงานระยอง กรมอนามัยเปิดผลประเมินความเสี่ยง
กรมอนามัยเผยผลประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสะสมสารเคมีระยอง
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากเหตุไฟไหม้โรงงานรีไซเคิลและกำจัดกากของเสีย บริษัท วินโพเสส จำกัด ที่ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เมื่อวันที่22 เมษายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดควันพิษและกลิ่นเหม็นไหม้สารเคมีที่เก็บสะสมไว้ในโรงงานจำนวนมาก
โดยควันพิษฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ และส่งผลกระทบต่อประชาชนในชุมชน หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 11 ของตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 10 รายมีผลกระทบจากการได้รับสัมผัสควัน เขม่าที่ปนเปื้อนสารเคมี คือ มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย คันผิวหนัง แสบตา ระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ จากการสูดดมเขม่า ควันไฟเข้าตา และอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงบางรายได้รับบาดเจ็บ และหมดสติจากการสูดดมควันพิษสารเคมี ซึ่งผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ถูกนำส่งโรงพยาบาลทันที นอกจากนี้ หน่วยงานในพื้นที่ได้แจ้งเตือนประชาชนให้ออกจากพื้นที่เสี่ยงโดยด่วนไปยังศูนย์อพยพที่ปลอดภัย ทั้งหมด 3 จุด คือ พื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว และวัดหนองพวา
จากเหตุไฟไหม้โรงงานเก็บสะสมสารเคมีแห่งนี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง แพทย์หญิงอัจฉรานิธิ อภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย จึงส่งทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี สนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน ดังนี้
1.ประเมินความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารเคมีที่มาจากโรงงานที่เกิดไฟไหม้ในระบบน้ำประปา
โดยเก็บตัวอย่างน้ำประปาหมู่บ้านในพื้นที่หมู่ 8 และ หมู่ 4 ตำบลบางบุตร และหมู่ 11 ตำบลหนองบัวเพื่อตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในน้ำประปา
พบคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ประชาชนสามารถใช้น้ำประปาหมู่บ้านในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย
สำหรับประชาชนในพื้นที่ที่มีการนำน้ำประปาหมู่บ้านใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน ขอให้ประชาชนสังเกตสี กลิ่น ของน้ำประปา หากพบว่าผิดปกติให้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ทันที และหลีกเลี่ยงการนำมาใช้บริโภคโดยไม่ผ่านการกรองที่ได้มาตรฐาน
จากการตรวจสอบพบว่า น้ำที่เกิดจากการดับเพลิงถูกปล่อยลงสู่บ่อระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงาน ซึ่งเป็นระบบปิด ไม่มีการปล่อยออกสู่ภายนอก ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษจะได้มีการนำน้ำเสียดังกล่าวไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
2.การสำรวจและประเมินความเสี่ยงด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในศูนย์อพยพทั้ง 3 แห่ง พบว่ามีระบบการการจัดการขยะโดยมีการเก็บขนขยะไปกำจัดโดยองค์การบริหารส่วนตำบลทุกวัน ไม่มีขยะตกค้างเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์และแมลงโรค
ส้วมเป็นส้วมในอาคารที่มีโครงสร้างมีความสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย น้ำใช้เป็นน้ำประปาที่มีความสะอาดผ่านมาตรฐาน ส่วนน้ำดื่มเป็นน้ำบรรจุขวดได้มาตรฐาน นอกจากนี้ มีการตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อโรคในอาหารของศูนย์อพยพ
ไม่พบอาหารที่บูด เสีย และไม่พบเชื่อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย จึงมั่นใจปลอดภัยต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วงในศูนย์อพยพ ในช่วงที่ผ่านมาหลายจังหวัดเกิดภาวะฉุกเฉินจากโรงงาน หรือสถานประกอบกิจการทั้งไฟไหม้ สารเคมีรั่วไหล สารเคมีระเบิด หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องเร่งกำหนดมาตรการในการสำรวจ ตรวจสอบ และเฝ้าระวังโรงงานดังกล่าว โดยเฉพาะโรงงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรงงานที่เกิดเหตุ เช่น โรงงานเก็บสะสมสารเคมี โรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานผลิตดอกไม้ไฟ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ หมั่นตรวจตราโรงงานของตนเองทั้งกระบวนการผลิต พื้นที่จัดเก็บสารเคมี รวมทั้งระบบความปลอดภัยต่าง ๆ
นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น อุตสาหกรรมจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันกำหนดให้มีระบบการแจ้งเตือนภัยสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่รอบโรงงานที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทราบสถานการณ์อย่างรวดเร็ว และอพยพออกจากพื้นที่ได้ทันต่อเหตุการณ์ เป็นการลดความเสี่ยงการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ทั้งนี้ ประชาชนต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของโรงงานเสี่ยงใกล้บ้าน หากมีความผิดปกติ รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาดำเนินการระงับเหตุทันที ป้องกันการลุกลามจนเกิดภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง