เปลี่ยนรมว.สธ. เปลี่ยน “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่”?

เปลี่ยนรมว.สธ. เปลี่ยน “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่”?

ครม.เศรษฐา2 เปลี่ยนรมว.สธ.จาก “หมอชลน่าน” เป็น “สมศักดิ์”  แล้วนโยบาย “30บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” ที่ดำเนินการมาแล้ว 2 เฟส และมีกำหนดเดินหน้า เฟส 3 ในพ.ค.นี้ จะยังคงเดิม?

KEY

POINTS

  • นโยบาย “30บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” ไทม์ไลน์เดิมก่อนครม.เศรษฐา2 เปลี่ยนรมว.สธ. ระยะ 3 ขยายครอบคลุม 27 จังหวัด 4 เขตสุขภาพ ในพ.ค.นี้
  • 30บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” เมื่อเป็นรัฐบาลเดิม แต่เปลี่ยนรมว.สธ.เป็น “สมศักดิ์ เทพสุทิน” จะยังเดินหน้าต่อไปในทิศทางใดหรือไม่ 
  • เตรียมพร้อมหน่วยบริการเชื่อมต่อข้อมูล ผ่านระบบ “ไฟแนนซ์เชียล ดาต้า ฮับ (Financial Data Hub)” เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลรองรับ “30 บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2567 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยนายชลน่าน ศรีแก้ว พ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน  พ้นจากรองนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ในส่วนของการปรับครม.เศรษฐา2 เปลี่ยนรมว.สธ. นโยบายสำคัญที่ประชาชนรอความชัดเจนมากที่สุด  คงหนีไม่พ้น “30บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 2 ระยะรวม 12 จังหวัดและมีแผนจะเดินหน้าระยะที่ 3 ในช่วงเดือนพ.ค.นี้ ครอบคลุม27 จังหวัด 4 เขตสุขภาพ จะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป

บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ ไทม์ไลน์(เดิม)

ช่วงที่นพ.ชลน่านเป็นรมว.สธ.นั้น มีการกำหนดไทม์ไลน์ของการดำเนินงานนโยบาย “30บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่”ไว้เป็น 4 ระยะ โดยดำเนินการไปแล้ว 2 ระยะ เหลืออีก 2 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 นำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส
  • ระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 มี.ค.2567 มีการขยายพื้นที่ 30บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว นครราชสีมา อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู และพังงา 
    เปลี่ยนรมว.สธ. เปลี่ยน “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่”?
  • ระยะที่ 3 กำหนดหนดจะเริ่มดำเนินการในพ.ค. 2567 ครอบคลุม 27 จังหวัดใน 4 เขตสุขภาพ คือ

เขตสุขภาพที่ 1 เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง และลำพูน

เขตสุขภาพที่ 4 นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และนครนายก

เขตสุขภาพที่ 9 นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

เขตสุขภาพที่ 12 ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

  • ระยะที่  4 ภายในสิ้นปี 2567 จะครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ และมีเป้าหมายที่จะให้ “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” ครอบคลุมในสิทธิประกันสังคมและสิทธิรักษาพยาบาลอื่นด้วย ไม่เพียงแต่ 30บาท

30 บาท บัตรประชาชนใบเดียว เมื่อเปลี่ยนรมว.สธ.

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2567 ภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่อง30บาท รักษาทุกที่หรือบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ กับนพ.จเด็จ  ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า  เรื่องนี้ต้องสอบถามรัฐมนตรี แต่เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาล ท่านคงมีรายละเอียดอะไรของท่านหรือไม่ 

“กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนดว่าเฟสจะเดินหน้าอย่างไร และได้มีการกำหนดเฟสต่างๆมาก่อนตั้งแต่ต้นปี  2567 เนื่องจากเป็นผู้ปฏิบัติก็ต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อน  ส่วนนโยบายต่างๆคงต้องรอรัฐมนตรี”นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า 

อย่างไรก็ตาม นพ.จเด็จ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ในการหารือร่วมกับสธ.ในวันนี้เป็นการอัปเดตเรื่อง30 บาทรักษาทุกที่ ,การเชื่อมข้อมูล หรืออปุสรรคในพื้นที่ต่างๆ โดยสาระสำคัญคงเป็นเรื่อง เดินหน้า 30บาทรักษาทุกที่ ในเฟสต่อไป และพื้นที่ที่ยังไม่ได้นำร่องเข้าใจผิดว่าเมื่อมีการเชื่อมข้อมูลแล้วอยู่ในพื้นที่นำร่องแล้ว ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ โดยการดำเนินงานจะต้องขยับไปตามเป็นเฟสที่จะขยาย   แม้ว่าขณะนี้จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลครบทุกจังหงัดแล้ว แต่การจะดำเนินเรื่อง30บาท รักษาทุกที่จะต้องเป็นไปตามเฟสที่สธ.ประกาศ 

ไฟแนนซ์เชียล ดาต้า ฮับ รองรับเบิกจ่าย 30บาท

นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมด้วย การเชื่อมข้อมูลนี้หมายถึงผ่านระบบ ไฟแนนซ์เชียล ดาต้า ฮับ (Financial Data Hub)ที่สธ.พัฒนา  ซึ่งขณะนี้สปสช.ได้ปิดระบบที่จะส่งเบิกค่าบริการโดยตรงมาที่สปสช.แล้ว ก็จะไปเอาข้อมูลจากไฟแนนซ์เชียล ดาต้า ฮับมาประมวลเพื่อเบิกจ่าย ทำให้หน่วยบริการไม่ต้องกังวลในการเบิกจ่าย 

ส่วนการดำเนินการ30บาท บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ ที่ยังเป็นปัญหา คือ เนื่องจากการเชื่อมข้อมูลเข้าระบบ ไฟแนนซ์เชียล ดาต้า ฮับ เป็นการเชื่อมข้อมูลทั้งหมด ไม่ได้เชื่อมเฉพาะหน่วยบริการในจังหวัดที่ขับเคลื่อนนโยบายตามเฟสแล้วเท่านั้น  ทำให้จังหวัดที่ยังไม่ได้อยู่ในเฟสนำร่อง เกิดคำถามว่าทำไมไม่ได้ ก็มีการทำความเข้าใจว่าจังหวัดนั้นยังไม่ได้เพราะยังไม่ได้เข้าระบบจึงยังไม่ได้มีการเชื่อมข้อมูลบริการ  ซึ่งข้อมูลเรื่องการเบิกจ่ายการเงินก็จะติดตามข้อมูลบริการไปด้วย 

เปลี่ยนรมว.สธ. เปลี่ยน “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่”?
นอกจากนี้ การส่งเบิกจ่ายค่าบริการ ซึ่งบางครั้งหน่วยบริการกักข้อมูลไว้แล้วมาส่งข้อมูลเบิกในช่วงกลางคืน ระบบล่มก็มี จึงต้องพูดคุยทำความเข้าใจว่าระบบเชื่อมข้อมูลนั้น จะต้องส่งข้อมูลเข้ามาให้ไหลตลอดเวลา  จะคิดว่าไว้ก่อนแล้วใกล้เที่ยงคืนค่อยส่งข้อมูล หากเป็นแบบนี้แล้วมาทำส่งพร้อมกัน ระบบก็ไปม่ไหว  ต้องเพิ่มระบบรองรับ 

“ส่วนเรื่องบริการไม่ค่อยมีปัญหา ประชาชนส่วนใหญ่ไปรับบริการในหน่วยนวัตกรรมที่วางไว้ เพราะไม่อยากให้คนไปแออัดที่รพ.ใหญ่ ก็ต้องหาหน่วยนวัตกรรมเข้ามา ตอนนี้โจทย์คือทำให้หน่วยนวัตกรรมเข้ามาร่วมกับสปสช.มากขึ้น ซึ่งขณะนี้เข้ามาประมาณ 50 %ของที่มีอยู่ของแต่ละจังหวัด”นพ.จเด็จกล่าว 

ยกระดับ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียว

ทว่า แม้จะเปลี่ยนรมว.สธ. แต่ยังคงเป็น “รัฐบาล”ชุดเดิม และนายกรัฐมนตรีชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน”คนเดิม เมื่อพิจารณาจากนโยบาบรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 ด้านสาธารณสุข ซึ่งระบุว่า 
 “สร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุข ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคต รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศในระยะยาว  จะยกระดับ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค”ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ประชาชนจะได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วยบริการพื้นฐานใกล้บ้าน  ลดความแออัด และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์

รวมถึงการบริการสาธารณสุขจะสามารถเข้าถึงได้ผ่านบัตรประชาชนใบเดียว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อบนฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถ เข้ารับบริการได้ทุกที่ทั่วประเทศไทย”

เมื่อถูกบรรจุอยู่ในนโยบายรัฐบาลเช่นนี้แล้ว อย่างไรเสีย “30บาท บัตรประชาชนใบเดียว”ก็จะยังเดินหน้าต่อไป ถึงจะเปลี่ยนรมว.สธ.เป็นคนใหม่ก็ตาม ประชาชนผู้มีสิทธิรักษาพยาบาล 30บาท 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เดิมจะมีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาะแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) ที่มีรมว.สาธารณสุขเป็นประธาน ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรมว.สธ.ใหม่ จึงจะมีการกำหนดวันประชุมใหม่อีกครั้ง