ไทย 1 ใน 3 ประเทศ ลดใช้ "อะมัลกัม" ทางทันตกรรม ที่มีปรอท
ไทย 1 ใน 3 ประเทศ เดินหน้าลดใช้ “อะมัลกัมทางทันตกรรม” ซึ่งมีส่วนผสมของปรอท ตามพันธกรณีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท
เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2567 ที่อาคารวายุภักษ์ เซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ มีการแถลงข่าวความร่วมมือ “โครงการเร่งรัดการดำเนินงานลดการใช้อะมัลกัมทางทันตกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท” ระหว่างกรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สถาบันบรมราชชนก ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ทันตแพทยสภาทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมทันตกรรมเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมทันตกรรมหัตถการ สมาคมทันตแพทย์เอกชน และชมรมทันตแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท
อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสู่บรรยากาศและการปล่อยสู่ดินและน้ำของปรอทหรือสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์
ประเทศไทยโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ ผ่านการจัดส่งภาคยานุวัติสารให้กับองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ส่งผลให้อนุสัญญาฉบับนี้มีผลกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2560 เป็นต้นมา
บทบัญญัติที่สำคัญประการหนึ่งของอนุสัญญามินามาตะฯ คือ ภาคีต้องดำเนินมาตรการลดการใช้อะมัลกัมทางทันตกรรม 2 มาตรการหรือมากกว่า จากมาตรการที่อนุสัญญากำหนดทั้งสิ้น 9 มาตรการ
ปัจจุบันประเทศไทยโดยความร่วมมือของกรมอนามัยและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินการลดการใช้อะมัลกัมทางทันตกรรมแล้ว 5 มาตรการ จึงถือได้ว่าประเทศไทยดำเนินการเกินกว่าบทบัญญัติของอนุสัญญาฯครอบคลุมถึง 5 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการที่ 1 การกำหนดวัตถุประสงค์ระดับชาติ เพื่อป้องกันฟันผุ และสนับสนุนการสร้างทันตสุขภาพที่ดี เพื่อลดความต้องการในการบูรณะฟัน ผ่านโครงการส่งเสริมทันตสุขภาพทุกกลุ่มวัย
- มาตรการที่ 3 ส่งเสริมการใช้วัสดุทางเลือกที่ไม่มีปรอทในการบูรณะฟัน ที่มีความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพทางคลินิก เช่น การบูรณะฟันด้วยเทคนิค SMART ในเด็กปฐมวัย หรือในกลุ่มวัยอื่น ๆ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา
- มาตรการที่ 5 สนับสนุนองค์กรทางวิชาชีพด้านทันตกรรม และสถาบันการศึกษาด้านทันตกรรม เพื่อการศึกษาและฝึกอบรมทันตแพทย์ และนักศึกษาทันตแพทย์ในการใช้วัสดุทางเลือกที่ปราศจากปรอท และส่งเสริมให้มีแนวปฏิบัติการจัดการที่ดีที่สุด
- มาตรการที่ 8 จำกัดการใช้อะมัลกัมในรูปแบบแคปซูล โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ออกมาตรการที่มีผลทางกฎหมาย ในการยกเลิกการผลิต นำเข้า และส่งออกอะมัลกัมชนิดเม็ดในประเทศไทย
- และมาตรการที่ 9 สนับสนุนการใช้แนวปฏิบัติทางสิ่งแวดล้อมในสถานบริการทันตกรรม เพื่อลดการปล่อยสารปรอทลงสู่น้ำ และดิน ผ่านการพัฒนาคู่มือการจัดการขยะติดเชื้อและขยะปนเปื้อนปรอทจากคลินิกทันตกรรม เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้ทันตบุคลากร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ไทย1 ใน 3 ประเทศลดใช้อะมัลกัมทางทันตกรรม
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อะมัลกัมถ้าอยู่ในแคปซูลที่ทันตแพทย์ใช้อยู่ไม่อันตราย แต่เมื่อมีการทำลายหรือกำจัดเป็นของเสีย จะเป็นขยะที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้องมีการกำจัดให้ดี แต่การกำจัดอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจหรือปลอดภัยได้ แต่ต้องลดการใช้ ซึ่งทุกวันนี้มีการใช้น้อยลงเพราะมีวัสดุอื่นมาทดแทน
กรมอนามัยได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินโครงการฯ จากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในการลดการใช้อะมัลกัมและลดการปลดปล่อยปรอทสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการจัดการขยะอะมัลกัมอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) และอีก 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐเซเนกัล และสาธารณรัฐบูรพาอุรุกวัย ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี คือ ระหว่างปี พ.ศ. 2566 – 2569
“ประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศภาคีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เห็นถึงศักยภาพและจัดให้เป็นประเทศต้นแบบเพื่อดำเนินกิจกรรมลดการใช้วัสดุอุดฟันอะมัลกัม ภายใต้อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท”พญ.อัจฉรากล่าว
ปี 2567 เร่งรัด 3 เรื่อง
สำหรับในปี 2567 กรมอนามัย โดยสำนักทันตสาธารณสุข ยังคงเดินหน้าเร่งรัดการดำเนินงานตามข้อกำหนดในอนุสัญญามินามาตะฯ และเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำโครงการดังกล่าว ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยกำหนดกิจกรรมสำคัญ ดังนี้
1. พัฒนามาตรการลดการใช้วัสดุอุดฟันอะมัลกัมในทุกกลุ่มวัย เน้นกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา
2.พัฒนากลไกการจัดการขยะอะมัลกัมจากคลินิกทันตกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชนที่รับกำจัดขยะอันตราย
3.พัฒนาคลินิกทันตกรรมต้นแบบ ในการลดการใช้วัสดุอุดฟันอะมัลกัม ส่งเสริมการใช้วัสดุทางเลือก และการจัดการขยะอะมัลกัมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4 เรื่องเน้นดำเนินงานตามอนุสัญญาฯว่าด้วยปรอท
น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ปฏิบัติหน้าที่ศูนย์ประสานงานระดับชาติของอนุสัญญาดังกล่าว จึงอาศัยกลไกการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญามินามาตะฯ เพื่อให้ประเทศไทยมีการจัดการปรอทที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
คณะอนุกรรมการชุดนี้มีองค์ประกอบของกรมอนามัยและอีกหลายหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกกฎหมายร่วมด้วย และมีการดำเนินงานโดยสรุป ดังนี้
1.พัฒนามาตรการทางกฎหมาย เพื่อควบคุมการผลิต นำเข้า และส่งออกปรอทและสารประกอบปรอท รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เติมปรอท และเพื่อห้ามมิให้บางกระบวนการผลิตมีการใช้ปรอทหรือสารประกอบปรอท ซึ่งรวมไปถึงการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้าน และขนาดเล็ก
2. ปรับค่ามาตรฐานหรือเพิ่มมาตรการ เพื่อควบคุมการปลดปล่อยปรอทสู่อากาศ และการปล่อยปรอทสู่ดินและน้ำ จากแหล่งกำเนิดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพื้นที่ปนเปื้อนปรอท
3.เสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดการปรอทได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการจัดประชุมชี้แจงและสัมมนา เพื่อให้ความรู้ต่อสาระสำคัญของบทบัญญัติของอนุสัญญามินามาตะฯ และการแก้ไขภาคผนวกอย่างต่อเนื่อง
และ 4. เผยแพร่ข้อมูลด้านเทคนิควิชาการที่เกี่ยวข้อง เช่น คู่มือและแนวปฏิบัติด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอกสารทางวิชาการอย่างง่ายในรูปแบบอินโฟกราฟิกผ่านทางเว็บไซต์ และสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์
ผลกระทบปรอทในอะมัลกัม
รศ.ทพ.ประทีป พันธุมวนิช องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สารปรอทในอะมัลกัมจะมีผลกระทบ ใน 3 ขั้นตอน คือ 1.ตอนผสม ถ้าเป็นอะมัลกัมที่ไม่ใช่แคปซูล ทำให้ปรอทระเหิดอยู่ในอากาศ ตอนนั้นจะอันตรายต่อทันแพทย์ ผู้ช่วยและคนไข้ 2.เมื่อใช้ไปแล้ว พออยากจะรื้อออก มีความร้อนในการรื้อจะมีปรอทระเหิดออกมาได้ และ 3.ที่อันตรายกว่านั้นมีการพบในบางประเทศ คือ พบว่าอะมัลกัมในฟันคนที่เสียชีวิตแล้วไปเผาทำให้สารปรอทในอะมัลกัมระเหิดในอากาศได้ จึงพยายามลดการใช้อะมัลกัม
“สารปรอทในอะมัลกัมจากอุดฟันไม่ได้ออกมา ยกเว้นการรื้อถึงจะมีปรอทออกมา ดังนั้น คนที่มีอะมัลกัมอุดฟันอยู่ไม่จำเป็นต้องรื้อออก แต่รายใหม่ที่ฟันผุไม่จำเป็นต้องอุดฟันด้วยอะมัลกัม สามารถใช้วัสดุทดแทนได้”รศ.ทพ.ประทีปกล่าว
อะมัลกัมใช้น้อยลง เอกชนเลิกใช้
รศ.ทพ.ประทีป กล่าวด้วยว่า อะมัลกัมเป็นวัดุที่แข็งมาก ไม่กลัวน้ำลายเวลาอุดฟัน จะไม่เสียง่าย สมัยก่อนเชื่อว่าวัสดุที่มีอยู่บางตัวไม่สามารถใช้ได้ แต่ปัจจุบันมีการวิจัยพัฒนามากขึ้น ในประเทศไทยก็มีการทำในโรงเรียนทันตแพทย์หลายแห่ง ก็สามารถพัฒนาวัสดุที่อุดฟันขณะมีน้ำลายมากก็ทำได้เหมือนกัน มีวัสดุทดแทนที่ใกล้เคียงอะมัลกัมมากขึ้น แต่ไม่ปล่อยสารปรอทในสิ่งแวดล้อมก้จะปลอดภัยมากขึ้น
"ทุกวันนี้มีการใช้น้อยลงมากแล้ว คนรุ่นใหม่จะไม่เจออะมัลกัมเท่าไหร่ ภาคเอกชนก็ไม่ใช้เลย ส่วนราชการบางแห่งหากว่าอะมัลกัมถูกกว่าวัสดุทางเลือก เลยซื้ออย่างถูกมาทำ ซึ่งไม่ควรเอาเรื่องเงินมาเป็นหลักการ ซึ่งปัจจุบันวัสดุทดแทนก็อยู่ในสิทธิเบิกจ่ายก็ควรจะต้องเปลี่ยนมาใช้วัสดุทดแทน แต่หากเทียบแล้วการอุดด้วยอะมัลกัมทำง่ายกว่า วัสดุทางเลือกทำให้ดีจะยากกว่า ทางคณะทันตแพทย์ทั้งหมดก็ไม่ให้สอนหรือสอบเรื่องวัสดุอะมัลกัม "รศ.ทพ.ประทีป