หลัง “ปลดล็อกกัญชา” 1 ปีครึ่ง  จุดขายพุ่ง การใช้เพิ่ม แต่ผิดเป้าหลัก

หลัง “ปลดล็อกกัญชา” 1 ปีครึ่ง  จุดขายพุ่ง การใช้เพิ่ม แต่ผิดเป้าหลัก

หลัง"ปลดล็อกกัญชา" ศึกษาวิจัยพบ จุดขายพุ่ง ช่วง 7 เดือนเพิ่ม 2,000 จุด  พื้นที่กทม.-นนทบุรีมากที่สุด ผู้ใหญ่-เยาวชนใช้มากขึ้น 4-5 เท่า  60 %ใช้เพื่อนันทนาการ  จุดขายอยู่รอบบ้านเขาถึงใน 5 นาที  ชงเร่งออกกฎหมายควบคุม จำกัดวันเวลา สถานที่ขาย ห้ามโฆษณา

KEY

POINTS

  • หลังจากที่ประเทศไทยมีการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565 เป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่ง
  • ผลประเมินติดตามผบกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา พบจุดขายพุ่ง อยู่รอบบ้านเข้าถึงใน 5 นาที การใช้เพิ่ม โดย 60 %ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ 
  • ข้อเสนอต้องเร่งออกกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชากัญชง มาควบคุมการจำหน่าย กำหนดวันเวลา สถานที่จำหน่าย และห้ามโฆษณา อย่างน้อยต้องเหมือนควบคุมบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

 ล่าสุด มีการเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) เพื่อศึกษาสถานการณ์ ผลกระทบ และมาตรการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หลังมีการ"ปลดล็อกกัญชา" เป็นการศึกษาข้อมูลช่วง 1 ปีครึ่งก่อนปลดล็อก และหลังปลดล็อก 1 ปีครึ่ง โดยสรุปผลเบื้องต้นจาก 9 โครงการวิจัยย่อยเป็น 8 ประเด็นสำคัญ 

กัญชา จำหน่าย-โฆษณาเกลื่อนออนไลน์

เมื่อวันที่ 2พ.ค. 2567 ที่โรงแรมแมนดาริน ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า  1.เรื่องจุดจำหน่ายกัญชา พบเพิ่มมากขึ้น โดยช่วงส.ค.2566มีราว 5,600 จุด ส่วนเดือนเม.ย. 2567 มี 7,747 จุด มากที่สุดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 1,122 จุด นนทบุรี 1,114 จุด และภูเก็ตกว่า 700 ร้าน ราคาจำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 250-1,000 บาทต่อกรัม

นอกจากนี้  มีการจำหน่ายและโฆษณากัญชาในช่องทางออนไลน์ ทั้งยังมีการจำหน่ายและการโฆษณากัญชาในช่องทางออนไลน์ ทั้งTwitter เฟซบุ๊ก และไลน์ รวมไปถึงในแพลตฟอร์ม Shopee และ Lazada มีทั้งการขายกัญชา ผลิตภัณฑ์การเสพ รวมถึงขนมบราวนี่ผสมกัญชา

60 % ใช้เพื่อนันทนาการ 

2.การใช้กัญชาในประชากรวัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นและเยาวชน  พบว่า ประชาชน 60 % ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ด้านนันทนาการ , 34 % ใช้เพื่อผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับ และ 6 % ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์  

  • อัตราความชุกของการใช้กัญชาในประชากรทั่วไปในประเทศไทยก่อนปี  2565 อยู่ต่ำกว่า 5 % ทุกครั้ง  แต่ในปี 2565 อยู่ที่ 24.9 % และปี 2566-2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 20 % 
  • ส่วนกลุ่มเยาวชนก่อนปี  2565 ใช้สูงสุด 3.1 %  ในปี 2566 นักเรียนมัธยมฯใช้ 11.8 %  เยาวชนนอกสถานศึกษา 47.6%  นักศึกษาระดับปริญญาตรีใช้ 17.1 %  
  • สาเหตุอันดับต้นของการเริ่มใช้กัญชาในเยาวชนยังคงเป็นความอยากรู้อยากลอง

เข้าถึงจุดขายได้ใน 5 นาที

3.การใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดอื่นหรือไม่ ข้อมูลแสดงแนวโน้มไปในทิศทางว่า กัญชาไม่ได้ถูกใช้เป็นสารทดแทนสารเสพติดชนิดอื่น แต่กัญชามักถูกใช้ร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่น  เช่น สุรา ยาสูบ กระท่อม

 4.การเข้าถึงกัญชาภายในบ้านและรอบบ้าน โดยมีจุดขายกัญชาในรัศมี 400 เมตร  24 % เข้าถึงอย่างน้อย 1 จุดภายในเวลา 5 นาที รัศมี 800 เมตร 28 %  เข้าถึงอย่างน้อย 1 จุดในเวลา 10 นาที และรัศมี 1200 เมตร 31 % เข้าถึงอย่างน้อย 1 จุดในเวลา 15 นาที 

อีกทั้ง 1 ใน 11 คนอยู่ในครัวเรือนที่มีการปลูกกัญชาในบ้าน ซึ่งผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ปลูก มีโอกาสเป็นผู้ใช้กัญชามากกว่าผู้ที่อยู่ในครัวเรือนที่ไม่ปลูก 4.4 เท่า 

กัญชาเป็นเกมการเมือง

5.มุมมองของสังคมต่อกัญชา พบมีความเปลี่ยนแปลงไป โดยช่วงปี 2561-2562 มีมุมมองไปในทิศทางกัญชาป็นยาวิเศษและเป็นพืชแก้จน ต่อมาช่วงปี 2564-2566 มองว่ากัญชาเป็นเกมการเมืองและผลประโยชน์

 6.ความรู้และทัศนคติต่อกัญชาและนโยบายกัญชา โดยประชาชนไทยเกือบครึ่งหนึ่งมองว่ากัญชาเป็นสารเสพติดที่น่ารังเกียจน้อยกว่ายาเสพติดผิดกฎหมายชนิดอื่น และนักศึกษามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ทราบว่ากัญชาเสพติดได้ แต่มีเพียงน้อยที่ทราบว่ากัญชามีผลต่อสมอง หัวใจ และสุขภาพจิต

7.สาเหตุ ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้กัญชา   นักศึกษา 66.8 %  เริ่มใช้กัญชาครั้งแรกด้วยความอยากรู้อยากลอง ประมาณ 32.7 % ใช้พราะเพื่อนชวน 32.7 %  คิดว่าความเครียด 33.3 %คิดว่า ช่วยการนอน 29.1 คิดว่าเพิ่มความสุข  23.5 % คิดว่าช่วยการรับประทานอาหารให้ดีขึ้น  มีนักศึกษา 13.3 % เริ่มใช้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ 

หลัง “ปลดล็อกกัญชา” 1 ปีครึ่ง  จุดขายพุ่ง การใช้เพิ่ม แต่ผิดเป้าหลัก

และ8.ผลกระทบของการใช้กัญชาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยเฉพาะคดีอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการใช้กัญชาไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้เอง ครอบครัวยุ่งเหยิง ยังรบกวนชีวิตของคนอื่น เพื่อนบ้าน และเจ้าพนักงานฝ่ายต่างๆ

เร่งออกกม.คุมจำหน่าย-โฆษณา

“ข้อเสนอแนะ จำเป็นต้องปิดภาวะสูญญากาศต่างๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมการจำหน่ายและการโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชาอย่างครอบคลุมและชัดเจน ให้เหมือนบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด รวมถึงการให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องสร้างความตระหนักรู้ว่ากัญชาไม่ใช่สินค้าธรรมดาทั่วไป แต่เป็นสารเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสมอง จิตใจ ร่างกายและสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากมีการนำไปเป็นส่วนผสมในขนม เครื่องดื่ม และอาหาร จำเป็นต้องป้องกันจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาทุกชนิด”ศ.พญ.สาวิตรี กล่าว 

นำข้อมูลเสนอระดับนโยบาย

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะเห็นประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดล็อกเรื่องการใช้กัญชา หากแต่หลังจากการปลดล็อกในเชิงนโยบายแล้ว จำเป็นต้องมีองค์ความรู้มาประกบคู่ขนานกับการดำเนินงานตามนโยบาย เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

และข้อมูลจากงานวิจัยภายใต้ชุดโครงการดังกล่าว มีความสำคัญต่อการกำกับ ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อใช้ในการพิจารณาการกำหนดกฎหมายหรือการดำเนินมาตรการต่างๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ทางการแพทย์ควบคู่กับความปลอดภัยจากการใช้กัญชาเป็นสำคัญ ซึ่งสรุปจากงานศึกษาวิจัยนี้ จะนำเสนอต่อผู้บริหารในระดับนโยบายต่อไป