สาธารณสุข “สมศักดิ์ เทพสุทิน”มา กัญชาร่วง กระท่อมรุ่ง โคแสนล้านกับงานสุขภาพ
“สมศักดิ์ เทพสุทิน”รมว.สธ. เข้ากระทรวงวันแรก 7 พ.ค. งานด่วน “30บาทรักษาทุกที่ บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” เฟส 3 ภายในพ.ค.67 จับตากัญชาร่วง กระท่อมรุ่ง โคแสนล้านผนวกงานสุขภาพ
KEY
POINTS
- “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สธ. กำหนดการเข้ารับตำแหน่งทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) วันแรก 7 พ.ค.2567 ประเดิมงานแรกก่อนแล้วที่จ.สุโขทัย บ้านเกิด
- เรื่องด่วนที่รอ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สธ. มาประกาศให้ชัด สกัดงานสะดุด 30บาทรักษาทุกที่ บัตรประชาชนใบเดียว เฟส 3 , การแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่อเปิดเสรีเวลาขาย ปลดล็อกโฆษณาได้ และบุหรี่ไฟฟ้าที่ไทยห้ามนำเข้า จำหน่าย แต่กลับมีขายเกลื่อน
- จับตา! “สมศักดิ์ เทพสุทิน” นั่งรมว.สธ. นโยบายกัญชาร่วง กระท่อมรุ่ง และโคแสนล้านที่อาจจะนำมาเชื่อมโยงกับงานด้านสุขภาพ สาธารณสุขหรือไม่
“สมศักดิ์ เทพสุทิน”เข้าทำงานสธ.วันแรก
เมื่อ 28 เม.ย.2567 พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง “สมศักดิ์ เทพสุทิน" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) และเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฎิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.สธ.มีกำหนดการเข้ารับตำแหน่ง ทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)วันแรก ในวันที่ 7 พ.ค.2567 เวลา 13.39 น.
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2567 “นายสมศักดิ์”ได้ประเดิมลงพื้นที่งานแรกในฐานะรมว.สธ.แล้วที่จ.สุโขทัย โดยเปิดโครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่โรงพยาบาลบ้านด่านลานหอย อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย
ก่อนต่อด้วย เดินทางลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ จากกรณีโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อน ที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
และเมื่อวันที่ 6 พ.ค.2567 เป็นประธานพิธีเปิด”กุฏิชีวาภิบาลจังหวัดสุโขทัย” ที่วัดราษฎร์ศรัทธาราม ตำบลทับผึ้ง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย
นโยบายเร่งด่วนรอ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”
สำหรับงานด่วนในฐานะ รมว.สธ. ที่รอ “สมศักดิ์ เทพสุทิน”มาตัดสินใจโดยเร็วที่สุด คงจะเป็นนโยบาย “30บาทรักษาทุกที่ บัตรประชาชนใบเดียว” ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 2 เฟสใน 12 จังหวัด และไทม์ไลน์เดิมมีกำหนดจะเริ่มเฟส 3 ครอบคลุม 4 เขตสุขภาพรวม 27 จังหวัดในเดือนพ.ค.2567 ว่าจะยังเป็นไปตามห้วงเวลาเดิมและเพิ่มเติมจังหวัดในเฟส 3 เข้ามาหรือไม่ ในเมื่อฝ่ายปฏิบัติการเตรียมความพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว
รอเพียง “สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ.คนใหม่” มากดปุ่มเดินหน้า
การแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ยังคาราคาซังอยู่ในภาวะมีการเสนอร่างเข้าสู่สภาฯ 4 ฉบับ และแม้แต่ครม.ก็ไม่กล้าที่จะฟันธงแนวทางที่ชัดเจน ในประเด็นเรื่องของการ “ขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ที่อาจจะขยายเวลาให้สามารถขายได้นานกว่ากฎหมายเดิม รวมถึงปลดล็อกเรื่องโฆษณาและส่งเสริมการขายให้สามารถทำได้ จากเดิมที่มีข้อห้าม
เรื่องนี้ นายสมศักดิ์ รับรู้เรื่องดี เนื่องจากสมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และมีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาวิจัยประเด็นดังกล่าว ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
และท่าทีต่อเรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า” ของ “รมว.สธ.คนใหม่” เพราะปัจจุบันแม้กฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย แต่ก็มีการขายอย่างชัดแจ้ง และมีความพยายามที่จะปลดล็อกกฎหมาย เพื่อให้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถจำหน่ายได้ถูกกฎหมาย
กัญชา กระท่อม และโคแสนล้าน
ผลงานโดดเด่นของสมศักดิ์ เทพสุทิน ก่อนมานั่งรมว.สธ.นั้น สมัยเป็นรมว.ยุติธรรม รัฐบาลก่อนหน้า ได้ผลักดันจนสามารถ “ปลดล็อกกระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ประมาณการจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และสมาคมผู้ปลูกกระท่อมภาคเหนือแห่งประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทย มีแปลงปลูกพืชกระท่อม 13,912 แปลง พื้นที่ประมาณ 34,514.09 ไร่ ต้นกระท่อมมากกว่า 2 ล้าน 25 แสนต้น
นายสมศักดิ์ กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า ได้ประชุมเกี่ยวกับกระท่อมและพืชสมุนไพรเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ซึ่งพืชสมุนไพรถ้าไม่รวมกระท่อมสามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ 2 พันล้านบาท ถึง 4 พันล้านบาท ถ้านำกระท่อมเข้าไปรวมในพืชสมุนไพรด้วยโดยทำให้ถูกต้องครบถ้วน คาดว่าจะมีรายได้นับหมื่นล้านบาทกับประเทศไทย
ส่วนกัญชานั้น ปัจจุบัน ร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชง ที่ยกร่างโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว ซึ่งสาระสำคัญคือ “การห้ามใช้สันทนาการ”
“กระท่อมกับกัญชามีความแตกต่างกัน กระท่อมมีกฎหมายรองรับ มีอนุบัญญัติอธิบายแต่ละมาตราส่วนกัญชายังไม่มีกฎหมายรองรับ ต้องไปยืมเอากฎหมายอื่น เช่น พืชสมุนไพรตัวอื่นมาประกาศใช้บังคับ ซึ่งมันไม่ครบถ้วนกระบวนความ ต้องทำให้มีกฎหมายเป็นตัวเป็นตน”`นายสมศักดิ์เคยกล่าวไว้
เห็นเช่นนี้ ระหว่างกัญชาและกระท่อม หากจะวัดใจ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” คงจะบอกได้ไม่ยากว่า “ใจนั้นอยู่ที่กระท่อมมากกว่ากัญชา” และมีแนวคิดที่จะปลดล็อกให้ส่งออกใบกระท่อมได้
ทว่า ในฐานะรมว.สธ. หน่วยงานหลักของประเทศที่ดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ จะดำเนินนโยบายกัญชา และกระท่อมต่อไปอย่างไร
น้ำกระท่อมขายเกลื่อน กัญชาจุดขายเพียบ
ท่ามกลาง “น้ำกระท่อม” ที่มีการวางขายรายทางข้างถนนจำนวนมาก ทั้งที่ผิดกฎหมาย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ช่วงมี.ค.2567 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำกระท่อมจากทุกภูมิภาคในประเทศไทย จำนวน 52 ตัวอย่าง พบว่า
- น้ำกระท่อมทุกตัวอย่าง มีปริมาณสารไมทราไจนีนเกินค่าที่ อย. แนะนำ โดยพบในช่วงความเข้มข้น 22.5 - 352.6 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 109.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
- สารเสพติดและยาแผนปัจจุบันที่อาจมีการปลอมปนนั้น ไม่พบน้ำกระท่อมที่ผสมสารโคเดอีน แต่พบยาแผนปัจจุบัน ได้แก่ คลอเฟนิรามีน 10.3 % และ ไดเฟนไฮดรามีน 17.9 %
- ตรวจหาสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง 144 สาร พบการตกค้าง23.1 % ได้แก่ อะซีทามิพริด ซึ่งเป็นสารเคมีกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ ใช้ป้องกันและกำจัดเพลี้ย 19.2 % คาร์เบนดาซิม ซึ่งเป็นสารกลุ่มเบนซิมิดาโซล ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อรา 3.8 %
- และได้มีการวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา พบว่า 80% ของตัวอย่างทั้งหมด มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มมากที่สุด 79.2% รองลงมาคือ ยีสต์และรา พบในสัดส่วน 59.6% และเชื้ออีโคไล 19.2 %
ขณะที่กัญชา มีการเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) เพื่อศึกษาสถานการณ์ ผลกระทบ และมาตรการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หลังมีการ"ปลดล็อกกัญชา" เป็นการศึกษาข้อมูลช่วง 1 ปีครึ่งก่อนปลดล็อก และหลังปลดล็อก 1 ปีครึ่ง
พบว่า จุดขายพุ่ง ช่วงส.ค.2566มีราว 5,600 จุด ส่วนเดือนเม.ย. 2567 มี 7,747 จุดช่วง 7 เดือนเพิ่ม 2,000 จุด พื้นที่กทม. นนทบุรีมากที่สุด ผู้ใหญ่ เยาวชนใช้กัญชามากขึ้น 4-5 เท่า 60 %ใช้เพื่อนันทนาการ จุดขายอยู่รอบบ้านเขาถึงใน 5 นาที
“กระท่อม”ยังคุมการขายแบบ “น้ำกระท่อมบรรจุขวด”ไม่ได้ “กัญชา” ร่างพ.ร.บ.กัญชากัญชงยังไม่ผ่านสภาฯออกมาบังคับใช้!
โคแสนล้าน ผนวกงานเลิกเหล้า บุหรี่?
และผลงานล่าสุด รัฐบาลครม.เศรษฐา 1 สมัยเป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันเรื่อง โคล้านตัว จนเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2567 ครม.ได้เห็นชอบเรื่อง “โคแสนล้าน” ซึ่ง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นผู้
โครงการโคแสนล้าน นำร่อง ครม.ได้เห็นชอบกรอบวงเงินสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท เพื่อให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืม 100,000 ครอบครัว ครอบครัวละ 50,000 บาท เพื่อนำไปซื้อโค จำนวน 2 ตัว
- 2 ปีแรก ปลอดดอกเบี้ย เพราะรัฐจะช่วยชดเชยให้ในอัตราคงที่ร้อยละ 4.50 ต่อปี รวมเป็นเงิน 450 ล้านบาท
- ปีที่ 3 ปลอดชำระเงินต้น แต่ให้เริ่มชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี
- ปีที่ 4 ให้ชำระต้นเงินร้อยละ 50 ของวงเงินที่กู้ยืม พร้อมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี
- และปีที่ 5 ชำระต้นเงินส่วนที่เหลือทั้งหมด พร้อมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี
เมื่อ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” คือพ่องานในเรื่อง โคแสนล้าน ซึ่งหัวใจสำคัญระบุว่าต้องการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
ทว่า เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งมานั่งรมว.สธ. ต้องรอดูว่า พ่องานท่านนี้ จะมีไอเดีย นำเรื่อง โคแสนล้าน มาบูรณาการเข้ากับงานด้านสุขภาพ สาธารณสุข
อย่างเช่น เป็นเงื่อนไขหนึ่งของผู้เลี้ยงโค ที่จะต้องลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ เพราะการเลิกเหล้า บุหรี่ ก็ทำให้ประชาชนมีเงินเหลือมากขึ้น จากที่ไม่ต้องใช้จ่ายไปกับสารเสพติด ไม่ต่างจากความหวังโคแสนล้าน ที่อยากให้คนมีรายได้เพิ่ม!
เรื่องนี้ อาจมีความเป็นไปได้ เนื่องจากครั้งที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือบอร์ดสสส. “สมศักดิ์ เทพสุทิน”เคยเปรยว่า ตนกำลังขับเคลื่อนโครงการเลี้ยงวัว เพื่อเป็นรายได้เสริม และให้สามารถมีรายได้เพียงพอไปใช้หนี้สินได้ ซึ่งถ้าผู้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงวัว มีการให้ความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ในการเลิกสูบบุหรี่ จะยิ่งทำให้มีเงินเหลือมากยิ่งขึ้น