“ออทิสติกเทียม” เด็กไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่เกิดจากการเลี้ยงดูลูก
"ออทิสติกเทียม" ภาวะที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม ไม่ได้เป็นตั้งแต่กำเนิด แต่เกิดจากรูปแบบการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ รีบเช็กสัญญาณพฤติกรรมลูกที่เข้าข่าย พาพบแพทย์ รับการบำบัด โอกาสหายกลับมาพัฒนาการสมวัย
KEY
POINTS
- ออทิสติกเทียม ภาวะที่ไม่ได้เกิดจากสมองเด็ก ไม่ใช่พันธุกรรม ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่เกิดเหมือนออทิสติกที่เด็กจะเป็นแต่กำเนิดและสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์
- สาเหตุ สัญญาณพฤติกรรมเด็ก ที่เข้าข่ายอาการออทิสติกเทียมที่สังเกตได้ การรักษาบำบัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กกลับมามีพัฒนาการสมวัยได้
- ออทิสติกเทียม รูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ไม่ส่งเสริมพัฒนาการลูก ซึ่งไม่ได้เพียงส่งผลให้เด็กเกิดออทิสติกเทียม แต่ยังทำให้เสี่ยงต่ออาการอื่นๆด้วย
การเลี้ยงดูทำให้เด็กเป็นออทิสติกเทียม
ภาวะออทิสติกเทียม เป็นภาวะที่เด็กขาดการกระตุ้นในการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way Communication) ส่งผลให้เกิดความล่าช้าทางการสื่อสารและมีพัฒนาการทางสังคมที่ไม่ปกติหรือพฤติกรรมคล้ายออทิสติก
ภาวะนี้เด็กไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของสมอง ไม่ได้เกิดจากตัวโรค แต่เกิดจากการเลี้ยงดู ที่ไม่ปล่อยหรือส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย และใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงดู ปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอนานเกินไป ไม่ว่าจะเป็นจอทีวี แท็บเล็ต มือถือ เพราะรู้สึกว่าเด็กอยู่นิ่ง ควบคุม ดูแลง่าย
การเลี้ยงดูลักษณะดังกล่าว เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการเท่าที่ควร ทำให้พัฒนาการต่างๆล่าช้าไม่เป็นไปตามวัย
ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ หรือหมอวิน แห่งเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ อธิบายไว้ว่า ทีวี หรือ ยูทูป ก็แล้วแต่ ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี ด้วยภาพและเสียงที่น่าสนใจ แต่นั่นคือ การสื่อสารทางเดียว สนใจไม่ใช่ว่ามีสมาธิอย่างที่หลายคนเข้าใจ ทีวี หรือ ไอแพด พร้อมจะดึงลูกของเราออกจากเราไปสู่ ภวังค์
อาการเข้าข่ายออทิสติกเทียม
อาการของเด็กที่มีภาวะออทิสติกเทียมจะเริ่มสังเกตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงอายุ 2 ปี ซึ่งอาการที่เข้าข่ายออทิสติกเทียม’ ได้ดังนี้
- เด็กจะไม่สบตาเวลาพูดคุย ไม่สนใจเวลาคนมาพูดด้วยตรงๆ ไม่มีความสนใจร่วมกับผู้อื่น
- เด็กไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ มักแสดงออกด้วยการโวยวาย และอาละวาดแทน
- ไม่พูด พูดช้า พูดภาษาการ์ตูน พูดภาษาต่างดาว หรือพูดตามโดยไม่เข้าใจความหมาย
- เด็กจะติดอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน โดยไม่สนใจกิจกรรมอื่น
- พฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆ เป็นแบบแผน ไม่ยืดหยุ่น สนใจบางอย่างแบบหมกมุ่น
- พูดซ้ำ พูดตาม พูดเหมือนทำนองเพลง ท่องเนื้อเพลง ตัวอักษรต่างๆได้แต่ไม่เข้าใจความหมาย
- เล่นของเล่นในรูปแบบเดิมๆ ชอบเล่นคนเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน
- เด็กมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเด็กวัยเดียวกัน เช่น ร้องไห้งอแงโดยไม่มีเหตุผล หรือมีพฤติกรรมรุนแรงเวลาไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ
ออทิสติกเทียม การบำบัดรักษา
หากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูสังเกตุเห็นพฤติกรรมของเด็กที่เข้าข่ายภาวะออทิสติกเทียม ให้รีบพาพบแพทย์ เนื่องจากอาการของภาวะออทิสติกเทียม จะดีขึ้นและหายได้ โดยการปรับการเลี้ยงดู ประมาณ 6 เดือนก็จะเริ่มเห็นผล และถ้าทำอย่างต่อเนื่อง เด็กก็จะกลับมามีพัฒนาการและพฤติกรรมสมวัยได้ เช่น
- งดสื่อหน้าจอทุกชนิดในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หากอายุมากกว่า 2 ปี ให้ดูจอได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
- ต้องไม่ใช้จอเป็นเงื่อนไขให้เด็กทำอะไร เช่น ดูจอได้ระหว่างกินข้าว
- เล่นกับเด็กให้มากขึ้น พูดคุยโต้ตอบแบบ 2 ทาง พูดคุยกับเด็กและเว้นจังหวะให้เด็กโต้ตอบ
- ฝึกให้เด็กมองหน้าสบตาเวลาพูดด้วย
- การเล่นบทบาทสมมติ เช่น เป็นคุณครู คุณหมอ เชฟ เป็นต้น
- ให้เด็กหมั่นออกกำลังกาย เช่น จักรยานขาไถ เล่นสนามเด็กเล่น
- ฝึกกิจกรรมบำบัดเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ และปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม
- เปิดโอกาสให้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อเรียนรู้ที่จะเข้าสังคม
การเลี้ยงดูลูกที่ไม่ส่งเสริมพัฒนาการ
- ใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงลูก
- พ่อแม่รู้ใจ ทำให้ลูกแทบทุกอย่าง โดยไม่มีการฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตนเอง
- พ่อแม่ไม่ปล่อยให้ทำอะไรหรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง มักมีคำพูดติดปาก เช่น ห้ามแตะนะ ,เดี๋ยวแม่ทำให้
- พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาพูดคุยเล่นกับลูก
- พ่อแม่ไม่ค่อยให้เด็กออกไปเล่นนอกบ้าน ทำให้เด็กไม่รู้จักการอยู่ร่วมในสังคมกับเพื่อนวัยเดียวกัน
ลูกติดจอ ไม่ได้เสี่ยงแค่ออทิสติกเทียม
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครองมักปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่อเทคโนโลยี เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือให้ดูโทรทัศน์ทั้งวัน เพื่อไม่ให้ลูกดื้อ ซน ร้องไห้ ซึ่งจะส่งผลเสียตามมา โดยเฉพาะเรื่องพัฒนาการช้า ปัญหาด้านการสื่อสาร รวมทั้งปัญหาด้านสายตา
"เด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุด ในการเรียนรู้ เนื่องจากสมองของเด็กจะพัฒนาสูงสุด ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมโดยรอบจะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองในช่วงต้น"พญ.อัจฉรากล่าว
หากปล่อยให้เด็กใกล้ชิดสื่อเหล่านี้มากเกินไปโดยไม่กำหนดเวลาดูหรือเลือกสื่อ ที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลเสียหลายด้าน คือ
1. ด้านการสื่อสาร พูดช้า พูดไม่ชัด ขาดความคิดสร้างสรรค์ และ การจ้องมองจอภาพเป็นเวลานานจะส่งผลเสียกับดวงตาได้ เช่น ทำให้สายตาสั้น ดวงตาแห้ง
2. ด้านร่างกาย จะไม่แข็งแรง เหนื่อยง่าย ขาดการเคลื่อนไหว ออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็นหรืออาจส่งผลให้เป็นเด็กขี้เกียจได้
3. ด้านอารมณ์ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เพราะเด็กแยกแยะโลกของอินเทอร์เน็ตกับความจริงไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น เด็กขาดสมาธิไม่จดจ่อหรือตั้งใจทำกิจกรรมใด
4. ด้านพฤติกรรม จะก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก ดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง
อ้างอิง : รพ.จุฬารัตน์ 9 ,รพ.เปาโลสมุทรปราการ ,รพ.รามคำแหง