บัตรทอง 30 บาท คัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด

บัตรทอง 30 บาท คัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด

บัตรทอง 30บาท สิทธิประโยชน์การคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด แพทย์สถาบันสุขภาพเด็กฯชี้  ช่วยให้เข้าถึงการรักษา ไม่มีอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่าย ยิ่งตรวจพบ ฟื้นฟูได้เร็ว ก็จะช่วยให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้

พญ.นาฏยพร จรัญเรืองธีรกุล แพทย์เชี่ยวชาญ ด้านหู คอ จมูก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า สิทธิประโยชน์การคัดกรองการได้ยินในเด็กทารกแรกเกิดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเรื่องที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก โดยทั่วไปแล้ว เด็กแรกคลอดทุก 1,000 คน จะพบเด็กที่มีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน 1 คน หรืออัตราส่วน 1:1,000

ขณะที่เด็กที่มีภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน เช่น การติดเชื้อไวรัสตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือตั้งแต่เกิด หรือป่วยต้องอยู่ในห้อง ICU นาน จะมีอัตราส่วนมากขึ้น 10 เท่า ซึ่งเด็กที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินอาจเกิดปัญหาเรื่องการสื่อสาร การเรียน การเข้าสังคม เช่น หูตึงจะพูดไม่ชัด หรือถ้าหูหนวกก็อาจจะไม่เกิดพัฒนาการทางภาษาเลยหากไม่ได้รับการฟื้นฟูตั้งแต่แรกเริ่ม

บัตรทอง 30 บาท คัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด

นอกจากนี้ ผลต่อเนื่องเมื่อโตขึ้นก็อาจมีปัญหาการประกอบอาชีพที่ทำได้จำกัด ขณะที่ผลกระทบระดับประเทศก็คือจะมีอัตราการพึ่งพาของประชากรมากขึ้นและมีผลต่อการพัฒนาของประเทศได้

ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีในการตรวจการได้ยินที่ผู้ปกครองจะพาเด็กมาตรวจเข้าถึงได้ง่าย ทำให้สามารถคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด เมื่อคัดกรองเบื้องต้นแล้วพบความผิดปกติ เด็กจะเข้าสู่ขั้นตอนการวินิจฉัย รักษา ฟื้นฟูได้ทันท่วงที โดยอายุ 1-3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการทางภาษา การฟื้นฟูการได้ยินที่ล่าช้าเมื่ออายุเกิน 3 ขวบขึ้นไปแล้ว พัฒนาทางภาษาก็จะน้อยลงหรืออาจจะพูดไม่ได้จนต้องใช้ภาษามือแทน

การสูญเสียการได้ยินจะมี 3 แบบ คือ

1.การนำเสียง

2.เส้นประสาทการรับเสียง

และ 3.ผสมทั้งการนำเสียงและเส้นประสาทเสียง

ถ้าเป็นเรื่องปัญหาการนำเสียง เช่น มีภาวะของหูอักเสบ การมีน้ำคั่งหูชั้นกลางตามหลังการเป็นหวัด หรือหูอักเสบ ขี้หูอุดตัน แบบนี้รักษาหายได้ แต่เส้นประสาทหูที่สูญเสียแบบถาวร จะต้องช่วยดูแลฟื้นฟูการได้ยิน โดยการใส่เครื่องช่วยฟัง

"การวินิจฉัยที่เร็วและใส่เครื่องช่วยฟังได้เร็ว จะสามารถรับรู้เสียงเข้าไปที่สมองได้เร็วตั้งแต่อายุน้อยๆ  เมื่อมีข้อมูลเสียงอยู่ในสมองจะแปลผลออกมาเป็นภาษาพูดออกมา จึงเกิดพัฒนาการทางภาษา ดังนั้น การฟื้นฟูที่รวดเร็ว มีโอกาสที่จะทำให้เด็กพูดไม่ได้สามารถพูดได้ หรือ พูดไม่ชัดก็จะพูดชัดขึ้นได้" พญ.นาฏยพร กล่าว

การคัดกรองการได้ยินเป็นนโยบายระดับประเทศมาตั้งแต่ปี 2565 โดยจะช่วยให้เด็กแรกเกิดทุกคนได้เข้าถึงการคัดกรอง เมื่อคัดกรองแล้วพบความผิดปกติก็จะมีระบบส่งต่อไปสู่โรงพยาบาลที่สามารถวินิจฉัยรักษาฟื้นฟูได้ทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ และ สปสช. ได้จัดสิทธิประโยชน์สนับสนุนค่าค่าใช้จ่ายในการตรวจการคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิดให้เด็กและประสาทหูเทียม

รวมถึงสิทธิประโยชน์สนับสนุนเครื่องช่วยฟังในเด็กที่หูพิการ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกฟัง ฝึกพูด และค่าตรวจวินิจฉัยต่อเนื่อง การตรวจติดตามผล ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนอย่างมาก ทำให้เข้าถึงการรักษาได้ไม่โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่าย เด็กก็จะสามารถดำรงชีวิตได้อยู่ในอยู่ในสังคมกับเด็กปกติได้