คำตอบ "ดื่มชา" ลดน้ำหนัก ลดเสี่ยงโรค? "ชาขาว ชาเขียว ชาดำ” ไม่ได้ต่างกันที่สี
วันที่ 21 พฤษภาคม วันชาสากล ไขคำตอบ “ดื่มชา” ลดน้ำหนัก ลดไขมัน ลดความเสี่ยงโรค พร้อมเปิดวิธีดื่มให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย โทษที่ต้องระวัง ความต่างของ "ชาขาว ชาเขียว ชาดำ” ไม่ได้อยู่ที่สี
KEY
POINTS
- ตลาดชา ภายในปี 2568 การดื่มชานอกบ้านจะสูงขึ้น 5% คาดการณ์จะมีปริมาณชา 7.4 พันล้านกิโลกรัม ซึ่ง 8 ประเทศที่มีตลาดค้าใหญ่ที่สุดในโลก ไทยอยู่อันดับ 7
- ชาขาว ชาเขียว ชาดำ ไม่ได้ต่างกันเพราะสีของชา มารู้จัก 2 สายพันธุ์ชาที่ปลูกหลักในประเทศไทย และประเภทของชาที่แตกต่างกันตามวัตถุดิบหลัก และตามกระบวนการผลิต
- คำตอบเรื่อง "ดื่มชา" ช่วยลดน้ำหนัก ลดไขมัน ลดความเสี่ยงโรค ตามหลักวิชาการเป็นจริงหรือไม่ พร้อมวิธีดื่มให้ได้ประโยชน์ และโทษที่ต้องระวัง
วันที่ 21 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันชาสากล (International Tea Day) ซึ่งกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO มาส่องดูตลาดชาที่มีการประเมินว่าภายในปี 2568 การดื่มชานอกบ้านจะสูงขึ้น พร้อมวิธี การดื่มชาให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย และไขคำตอบเรื่อง ดื่มชา ช่วยลดน้ำหนัก ลดไขมัน ลดความเสี่ยงโรค
ตลาดชาแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ผศ.ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หัวหน้าสถาบันชาและกาแฟ แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย กล่าวว่า มีการประเมินว่าภายในปี 2566 ตลาดชาจะเพิ่มสูงขึ้น 6-7% และภายในปี 2568 วัฒนธรรมการดื่มชานอกบ้านจะสูงขึ้น 5% คาดการณ์จะมีปริมาณชา 7.4 พันล้านกิโลกรัม
ในปี 2565 การประเมินยอดขายชา 8 ประเทศที่มีตลาดค้าชาใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่
1. จีน มีมูลค่า 99,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.4 ล้านล้านบาท)
2. อินเดีย มีมูลค่า 15,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (540,276 ล้านบาท)
3.ญี่ปุ่น มีมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (498,981 ล้านบาท)
4.สหรัฐ มีมูลค่า 13,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (461,127 ล้านบาท)
5. บราซิลมีมูลค่า 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (406,067 ล้านบาท)
6.ตุรกี มีมูลค่า 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (406,067 ล้านบาท)
7.ไทย มีมูลค่า 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (196,151 ล้านบาท)
8. อินโดนีเซีย มีมูลค่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (144,532 ล้านบาท)
สายพันธุ์ชา ที่ปลูกในไทย
พันธุ์ชาที่ปลูกโดยทั่วๆ ไปในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ ๆ ได้แก่
1.กลุ่มพันธุ์ชาอัสสัม (Assam Tea) ลักษณะเป็นลำต้นเดี่ยว ต้นใหญ่ สูงประมาณ 6-18 เมตร
2.กลุ่มพันธุ์ชาจีน (Chinese Tea) ลักษณะลำต้นเป็นพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 2-6 เมตร
ประเภทของชา
สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ตามวัตถุดิบหลัก ดังนี้
1. ชาคาเมลเลีย (Camellian) การนำยอดอ่อนชามาผ่านกระบวนการผึ่ง หมัก คั่ว นวด และอบที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งประเภทของชา ออกเป็น 4 ประเภท ตามกระบวนการผลิต ดังนี้
- ชาขาว (White Tea) คือ ชาที่ผลิตจากยอดอ่อนของต้นชา โดยการเลือกเก็บยอดอ่อนชาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นนำมาตากให้แห้งด้วยวิธีธรรมชาติอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาขาวยังคงปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในใบชาได้มากกว่าชาชนิดอื่นๆ
- ชาเขียว (Green Tea) เป็นชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก (Non-fermented tea) โดยการนำยอดอ่อนของชาไปอบแห้งทันที ทำให้ได้ใบชาที่ยังมีสีเขียว มีรสชาติ สี และ10 กลิ่นใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ชาเขียวแบ่งประเภทออกได้หลักๆ 2 ประเภท คือ ชาเขียวญี่ปุ่นซึ่งไม่ผ่านการคั่ว และชาเขียวแบบจีนที่ผ่านการอบ การคั่ว ด้วยกระทะร้อน
- ชาอู่หลง (Oolong Tea) เป็นชาประเภทกึ่งหมักหรือชาที่ผ่านการหมักเพียงบางส่วน (Semi-fermented tea) ทำให้มีสี กลิ่นหอม และรสชาติอยู่ระหว่างชาเขียวและชาดำ ผลิตโดยการนำยอดใบชาไปผึ่งแห้งด้วยแสงอาทิตย์เพื่อให้ใบชาคายน้ำ หลังจากนั้นทำไปผึ่งในที่ร่มภายใต้ การควบคุมอุณหภูมิ และความชื้น ซึ่งเป็นการหมักใบชาเพียงบางส่วน จากนั้นนำมานวดอัดเป็นเม็ด
- ชาดำ (Black Tea) เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์ (Completely-fermented tea) ด้วยวิธีการบ่มเพาะอาศัยแบคทีเรียเป็นตัวทำปฏิกิริยา หากยิ่งบ่มนานยิ่งได้รสชาติมากขึ้น ชาดำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อาทิ ชาอัสสัม ชาซีลอน ชาดาจีลิ่ง ยังนิยมนำมาผสมแต่งกลิ่นเป็นรสชาติใหม่ๆ อาทิ ชาเอิร์ลเกรย์ (Earl Grey) ชาอิงลิชเบรกฟาสต์ (English Breakfast) ชาผู่เอ๋อ (Puer Tea) เป็นต้น
2.ชาแต่งกลิ่น เรียกว่า Flavored Tea ชาที่มีการแต่งกลิ่น ไม่ว่าจะเป็น ชาเขียว ชาอูหลง หรือชาดำ โดยผสมใบชากับดอกไม้ ผลไม้ เครื่องเทศ น้ำมันหอมระเหยต่างๆ หรือสมุนไพร อาทิ มะลิ มะนาว พีช กลีบกุหลาบ ลงไปในใบชาก่อนบรรจุ ทำให้เกิดชารสชาติใหม่ ที่ หรือ
ไขคำตอบดื่มชา ลดน้ำหนัก ลดเสี่ยงโรค
ในส่วนของการดื่มชาเพื่อให้ได้สุขภาพนั้น มีคำถามมากมายหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่อง การลดน้ำหนัก ลดไขมัน และลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ ซึ่งนักกำหนดอาหาร แผนกโภชนาการ รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ระบุถึงความเชื่อเรื่องการดื่มชาเพื่อสุขภาพไว้ 6 ข้อ ได้แก่
1. ชามีสารต้านอนุมูลอิสระจริงหรือไม่ จริง เพราะในชามีสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่า คาเทชิน(Catechins) โดยในชาเขียว (Green tea) จะมีมากกว่าชาดำ(Black tea) เนื่องจากไม่ผ่านกระบวนการหมัก
2. ดื่มชาช่วยป้องกันโรคมะเร็งจริงไม่ มีการศึกษาในหลอดทดลอง พบว่าสารโพลีฟีนอล(Polyphenols) ในชาเขียวมีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และลดความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม และมะเร็งกระเพาะอาหาร
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาในคนถึงชนิดชา ปริมาณที่เหมาะสม และความปลอดภัยในระยะยาว
3. ดื่มชาช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ มีการศึกษาในหลอดทดลอง พบว่าสารโพลีฟีนอล(Polyphenols) ในใบชา มีส่วนช่วยในการย่อย และการดูดซึมไขมัน และคาร์โบไฮเดรต และช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมัน โดยสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) จากชาดำ (Black tea) มีประสิทธิภาพมากกว่าสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ในชาเขียว (Green tea)
แต่การดื่มชาในปัจจุบันที่มีการผสมน้ำตาลหรือนมข้นในปริมาณมาก มีพลังงานสูงทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
4. ดื่มชาช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองจริงหรือ มีการศึกษาพบว่าการดื่มชาดำ (Black tea) หรือชาเขียว (Green tea) อย่างน้อย 3 แก้วต่อวัน อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้ 21%
ทั้งนี้ การเติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานอื่นๆ อาจลดประสิทธิภาพของสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ได้ รวมถึงน้ำตาล และสารให้ความหวานอาจทำให้เบาหวานคุมได้ยาก และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
5. ดื่มชาช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานได้จริงหรือ การศึกษาในหลอดทดลอง พบว่าสารโพลีฟีนอล(Polyphenols) ในชา มีคุณสมบัติเป็นสารต้านการอักเสบ และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ตับอ่อน และอาจช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคเบาหวานได้ ซึ่งมีผลต่อความต้านทานภาวะดื้ออินซูลิน
การศึกษาในคนมักใช้เป็นสารสกัดจากชาเขียวในปริมาณมาก หรือดื่มชาดำที่ไม่ใส่น้ำตาล ตั้งแต่ 500 - 1500 มิลลิลิตรต่อวัน และยังไม่มีการศึกษาในระยะยาวถึงความปลอดภัย
6. ดื่มชาช่วยลดไขมันในเลือดจริงหรือไม่ มีการศึกษาพบว่าการรับประทานสารสกัดจากชาเขียวช่วยลดคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และไขมันไม่ดี (LDL) ในเลือดได้ ในการทดลองส่วนใหญ่ใช้เป็นสารสกัดชาเขียวเข้มข้นสูง
หากต้องการให้ได้ผลตามงานวิจัยอาจจะต้องดื่มชาเขียวกว่าวันละ 160 แก้ว และยังไม่มีการศึกษาในระยะยาวถึงความปลอดภัย ดังนั้น การปรับวิธีการเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอาจเป็นแนวทางที่ยั่งยืนและปลอดภัยมากกว่า
วิธีดื่มชาให้ดีต่อสุขภาพ
1. ไม่ดื่มชาที่ร้อนเกินไป หรืออุณหภูมิมากกว่า 55 – 65 องศาเซลเซียส เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า การดื่มชาที่ร้อนมากเกินไป เพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร
2. เลือกชาใส เลี่ยงการเติมน้ำตาล ครีมเทียม หรือนมเนื่องจากลดประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระในชาได้สามารถปรุงแต่งกลิ่นวานิลลา หรืออบเชยเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบความหวานได้ หรือหากชอบออกรสหวานแนะนำเป็นชาสมุนไพรรสผลไม้ เนื่องจากชาบางชนิดมีรสหวานจากธรรมชาติโดยไม่ต้องเติมสารให้ความหวาน
3.ผู้ที่นิยมดื่มน้ำชาร้อนๆ สารสำคัญที่เป็นประโยชน์คือ คาเทชิน (Catechins) จะถูกความร้อนทำลายไปเกือบหมด ถ้าต้องการให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย ควรดื่มน้ำชาที่เข้มข้น จะทำให้มีปริมาณสารคาเทชินที่เข้มข้น หลงเหลืออยู่ ที่พอจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง
4.ชาเขียวหรือสารสกัดจากใบชาสด หากนำมาเตรียมเป็นเครื่องดื่มแช่เย็น ความเย็นจะช่วยรักษาคุณค่าของสารสำคัญในใบชาไว้ได้ดี อย่างไรก็ตามหากขบวนการผลิตเครื่องดื่มชาเขียวที่ต้องผ่านขบวนการต้มหรือทำให้ร้อนในขบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อนบรรจุลงในขวด ปริมาณสารสำคัญในน้ำชาก็จะถูกทำลายหรือลดน้อยลงไป
5.ผู้ที่รับประทานวิตามินเสริม เช่น ธาตุเหล็ก เกลือแร่ หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาร่วมด้วย เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
โทษของดื่มชาต่อร่างกาย
โทษของการดื่มชาต่อร่างกายก็มีรายงานเช่นกัน
1.สารสำคัญแทนนิน จะไปตกตะกอนโปรตีน และแร่ธาตุต่างๆ จากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลดการดูดซึมของสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย
2.ใบชายัง มีองค์ประกอบของฟลูออไรด์ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง การที่ร่างกายได้รับเข้าไปทุกวันจากการดื่มน้ำชามากเป็นประจำ จะเกิดการสะสม มีผลให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน (Osteofluorosis) โรคข้อ และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกระดูก
3. สารออกซาเรต oxalate แม้มีปริมาณน้อยแต่หากดื่มชามากๆ และดื่มบ่อยๆ เป็นประจำ จะสะสมสารออกซาเรตในร่างกายได้ สารชนิดนี้มีรายงานว่ามีผลทำลายไต
4.สารกาเฟอีนในปริมาณสูง อาจสูงกว่าในเมล็ดกาแฟด้วยซ้ำไป แต่สารแทนนินจากน้ำชาจะป้องกันหรือลดการดูดซึมของกาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นหัวใจ และสมองน้อยกว่ากาแฟมาก
7 ข้อต้องดูก่อนเลือกผลิตภัณฑ์ชา
สำหรับผลิตภัณฑ์ชา พบการจำหน่ายในท้องตลาด 2 รูปแบบ ได้แก่
1. ผง ใบ ดอก ของชา เพื่อนำไปบริโภคโดยการต้มหรือชงกับน้ำ โดยไม่มีการปรุงแต่งกลิ่น รส หรือใช้วัตถุเจือปนอาหารใดๆ เช่น ชามะตูม ชาตะไคร้ ชาเขียว เป็นต้น
2.ชาปรุงสำเร็จเป็นเครื่องดื่มที่มีการปรุงแต่งกลิ่นรสหรือวัตถุเจือปนอาหารได้ โดยการใช้วัตถุเจือปนอาหารต้องเป็นไปตามชนิด และปริมาณที่กฎหมายกำหนด เช่น ชาไทยปรุงสำเร็จ ชาเขียวปรุงสำเร็จ เป็นต้น
ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ก่อนเลือกซื้อชาชนิดต่างๆ มารับประทาน ต้องอ่านฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง โดยฉลากที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ต้องมีข้อความภาษาไทย และมีรายละเอียด ดังนี้
1. ชื่ออาหาร
2.เลขสารบบอาหาร
3.ชื่อ และที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุหรือชื่อ และที่ตั้งผู้นำเข้า และประเทศผู้ผลิต
4. น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ
5.ส่วนประกอบที่สำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก แสดงส่วนของพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบ
6.วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุหรือควรบริโภคก่อน
7. มีข้อความแสดงคำเตือนสำหรับผู้แพ้อาหาร
นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่มีรอยบุบหรือฉีกขาด มีการเก็บรักษาสภาวะที่เหมาะสม ที่สำคัญควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ หลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ชาที่มีการโฆษณาอ้างสรรพคุณในการบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค เนื่องจากชาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีผลในการรักษาหรือป้องกันโรค
อ้างอิง : สถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ,คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล,สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ,รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์